ลุ้นกม.เลือกตั้ง!ไม่ผ่านมีทางออก

"วิษณุ" ยอมรับเตรียมทางออกไว้หลายทางหากร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ไม่ผ่านศาล รธน. 30 พ.ย.นี้    "หมอระวี" วอนทุกฝ่ายเคารพคำวินิจฉัยยันหากถูกตีตกไม่คิดยื่นใหม่แล้ว วงเสวนา ส.ว. "มาร์ค" ค้านหากออก พ.ร.ก.คุมเลือกตั้ง "เจษฎ์" ชี้รากเหง้าปัญหามาจากคสช. ท้องถิ่นผนึก "ก้าวไกล" ชงแก้ รธน.กระจายอำนาจ "ธนาธร" ชู 3 ประเด็นหลักปลดล็อกกระจายอำนาจท้องถิ่น  "เลิศรัตน์" สวนกลับข้อเสนอสุดโต่งทำยากหวั่นเป็นการปฏิวัติการปกครองรุนแรงโยนเป็น รบ.เองค่อยทำ "นายกฯ" ยันต้องกระจายรายได้ให้เท่าเทียม

เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 30 พ.ย. นี้ รัฐบาลมีความกังวลหรือไม่ ว่าไม่มีอะไรน่ากังวล ได้คิดทางออกไว้หลายทาง แต่ยังไม่รู้จะลงท้ายอย่างไร คิดคนเดียวไม่ได้ ต้องคิดกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่วันนี้จะชวนมาคิดก็ไม่ได้เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราบ้าหรือตีตนไปก่อนไข้ 

เมื่อถามว่า ทุกทางออกที่คิดไว้จะมีการเลือกตั้งตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ในที่สุดต้องพยายามทำให้ทันตามนั้น ทำไปแล้วอยู่ในกรอบเวลา แต่หากมีใครระบุว่าที่ทำไปผิดก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

เมื่อถามว่า หากศาลตัดสินเป็นทางลบจะหารือ กกต.ทันทีเลยใช่หรือไม่ นายวิษณุบอกว่า ใช่ แต่จริงๆ กกต.ต้องมาหรือรัฐบาล เพราะเป็นกฎหมายของเขา 

ด้าน นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวว่า ส.ส.และ ส.ว. 105 คน ได้ร้องไป 2 ประเด็น ไม่ใช่ประเด็นเดียว ก็คือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 25 และมาตรา 26 ของร่างกฎหมายลูกฉบับดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 หรือไม่ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งทางออกอาจจะวินิจฉัยว่าเห็นด้วยทั้ง 2 ประเด็นหรือไม่เห็นด้วยทั้ง 2 ประเด็น หรืออาจจะเห็นด้วยประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เพราะฉะนั้นคำวินิจฉัยสามารถเป็นไปได้ทุกทาง แต่ไม่ว่าจะออกมาอย่างไร จะถือเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย

"ถ้าออกมาว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ผมร้องไป ผมก็พร้อมยอมรับคำวินิจฉัยของศาล และถือว่าเป็นที่สิ้นสุด สงครามจบนับศพทหารได้ ถึงแม้ว่าจะมีช่องว่าง 5 วัน ก่อนนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่ผมจะไม่ใช้สิทธิตรงนั้นแล้ว ส่วนฝั่งตรงกันข้ามที่เห็นด้วยกับระบบหารด้วย 100 หากคำวินิจฉัยของศาลออกมาไม่ตรงกับสิ่งที่พวกพ้องตัวเองคิด ก็ขอให้ยอมรับคำวินิจฉัยดังกล่าวเหมือนผมด้วย" นพ.ระวีกล่าว

จวก คสช.ก่อปัญหาไว้

วันเดียวกัน เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้กำกับมูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ประเทศไทย จัดโครงการพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารทางการเมืองเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถาบันนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นการเสวนาในเรื่อง กติกาเลือกตั้งใหม่ ใครได้ประโยชน์ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และนายเจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย เข้าร่วมเสวนา

โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เชื่อว่าอาจจะมีการให้ผ่าน และมาตราที่มีการพูดถึงส.ส.พึงมีก็เสมือนกับว่าไม่ได้ใช้ ทิ้งไว้เช่นนั้น ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่หากอยากจะเปลี่ยนมาเป็นอย่างที่ต้องการคือ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และหารด้วย 100 ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญและทำกฎหมายลูกให้เสร็จให้ทัน ถ้ากฎหมายลูกเสร็จไม่ทัน ก็ต้องมีการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และ กกต.ก็ต้องจัดให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้

 “ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับความคิดที่บอกว่าถ้าทำกฎหมายไม่ทันก็ออก พ.ร.ก. เพราะเห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจฝ่ายบริหารในการออก พ.ร.ก.มาแทนพ.ร.ป.รัฐธรรมธรรมนูญให้อำนาจเฉพาะออกพ.ร.ก.มาแทนพ.ร.บ.เท่านั้น ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว และว่า ไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่จะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เราก็ยังมีมรดกที่ตกค้างคือมาตรา 272 ที่ให้ส.ว. 250 คนสามารถเลือกนายกฯ ได้อยู่ 

ด้านนายเจษฎ์กล่าวว่า ถ้าดูรากเหง้าของปัญหา ปัญหาแรกคือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้สนับสนุน คสช. เพราะระบบจัดสรรปันส่วนผสม กรธ. คิดโดยปรับมาจากระบบสัดส่วนผสมของเยอรมนี ไม่อยากให้คะแนนเสียงตกน้ำ และ คสช.มาตั้งพรรคตามธรรมเนียมระบบรัฐสภาพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดลำดับแรกมีสิทธิ์ลำดับก่อนในการจัดตั้งรัฐบาลไม่มีการจัดแข่ง พรรคพลังประชารัฐไปจัดแข่งกับเขา เลยเกิดปัญหาว่าไปเขียนคำถามเพิ่มเติมให้ ส.ว. มาเลือกนายกฯ ใครจะจัดแข่งกับท่านได้ ท่านเล่นเอา ส.ว. 250 คน ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นคนเดียวที่คนในโลกนี้รู้ว่าเป็นคนเลือก นอกนั้นคนอื่นอยู่ไหน และไม่รู้ว่าใครได้ประโยชน์ แต่รู้ว่าใครก่อปัญหา ก็ต้องรอดูต่อไป

ขณะที่นายสมชัยกล่าวว่า หากสูตรหาร 100 ผ่าน ก็จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งอย่างสบายใจ แต่สิ่งที่หลายคนคาดการณ์ไว้คือ พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะได้เปรียบจากการเลือกตั้งในครั้งนี้จะเป็นจริง ถ้าไม่ผ่าน กกต.จะอ้างว่าไม่มีกฎหมายที่ใช้ในการจัดการเลือกตั้ง กกต.อาจจะออกคำสั่งประกาศ ซึ่งมีโอกาสที่จะขัดรัฐธรรมนูญ และมีโอกาสที่จะถูกฟ้องว่าทำผิดรัฐธรรมนูญเหตุให้การเลือกตั้งทั้งหมดเป็นโมฆะในภายหลัง โดยในร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองมีการเปลี่ยนสาระในสาระสำคัญเพื่อให้พรรคการเมืองทำงานง่ายขึ้น พรรคเล็กได้เปรียบมากขึ้น

ก๊วนสีส้มชงปลดล็อกท้องถิ่น

ขณะเดียวกัน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร รับยื่นหนังสือจาก ส.ส.พรรคก้าวไกล นายมานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ,  นายคำพอง เทพาคำ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พร้อมด้วยตัวแทน 3 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย, นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย, ผศ.พิเศษวิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เรื่องขอสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ..... หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

นายประเสริฐพงษ์กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด วันนี้ทุกพรรคการเมืองต่างมีนโยบายในการส่งเสริมการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองส่วนท้องถิ่น จึงขอเชิญชวนสมาชิกรัฐสภาทุกคน ช่วยกันสนับสนุนผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์ เพื่อความเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยในทางที่ดีขึ้น

ขณะที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยนายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะตัวแทนของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกันแถลงข่าว ก่อนที่ที่ประชุมรัฐสภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.... เกี่ยวกับการปลดล็อกกระจายอำนาจท้องถิ่นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เสนอปลดล็อก 3 เรื่อง 1.การจัดสรรภาษีให้เป็นธรรม โดยกำหนดส่วนแบ่งภาษีให้เป็น 50 ต่อ 50 ส่วนกลางครึ่งหนึ่งและท้องถิ่นอีกครึ่งหนึ่ง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีงบประมาณดูแลอย่างเพียงพอ 2.เรื่องอำนาจทุกวันนี้มีคำสั่งประกาศกระทรวง และกฎหมายที่ออกจากส่วนกลางจำนวนมากโดยไม่ไว้ใจท้องถิ่นถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจเต็มที่ในการจัดการบริการสาธารณะของตัวเอง และ 3.ในร่างฉบับนี้จะเปิดให้จัดทำประชามติเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้หาฉันทามติร่วมกันว่า ราชการส่วนภูมิภาคยังจำเป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการปรับปรุงราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ของไทย

นายธนาธรกล่าวว่า หวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคนจะให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขครั้งนี้ ขอให้ลงมติผ่านวาระที่ 1 ไปก่อน แล้วหากไม่เห็นด้วยในประเด็นใดสามารถไปพูดคุยรายละเอียดได้ในวาระที่ 2 และถ้าไม่เห็นด้วยจริงๆ ก็ค่อยตีตกในวาระที่ 3 ได้

เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน เตรียมแผนไว้อย่างไรบ้าง นายธนาธรกล่าวว่า ยืนยันจะเดินหน้าต่อเพราะพรรคก้าวไกลได้แถลงนโยบายการหาเสียงเรื่องการกระจายอำนาจไปแล้ว

สว.หวั่นปฏิวัติการปกครอง

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ.การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมรัฐสภา ที่มีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม แก้ไขหมวดว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น และการกระจายอำนาจ ซึ่งนายธนาธรและประชาชน 76,591 คนร่วมเสนอว่า ในเนื้อหาและสาระของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวมีหลักการที่รับได้ ทั้งการกระจายอำนาจ งบประมาณ แต่กังวลว่าบทบัญญัติที่เสนอแก้ไขนั้นจะยากต่อการปฏิบัติ เพราะกำหนดรายละเอียดและเขียนเนื้อหาที่มีลักษณะสุดโต่ง และสุดกู่ งบประมาณ ตามร่างแก้ไขกำหนดให้จัดสรรงบให้ท้องถิ่น 50% จากรายได้สุทธิของรัฐ หากพิจารณางบประมาณประจำปีที่มี 2.5 ล้านล้านบาท เท่ากับต้องจัดสรรให้ท้องถิ่น 1.25 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันท้องถิ่นได้รับงบประมาณ 29% หรือ 7 แสนล้านบาท ดังนั้นการเพิ่มงบประมาณอีกเท่าตัว หากจะทำให้เป็นจริงได้ ต้องยุบราชการส่วนต่างๆ เพื่อนำงบประมาณให้กับท้องถิ่น

 “ปัจจุบันท้องถิ่นได้งบประมาณและเงินอุดหนุน 29% หากจะต้องหาเงินมาอุดหนุนอีก 5 แสนล้าน ต้องปฏิวัติการปกครองรุนแรง ยุบกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานในต่างจังหวัด และอาจยุบผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยหรือไม่ หากจะแก้ไขเรื่องงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีกฎหมายว่าด้วยกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำหนดเป้าหมายการจัดสรรรายได้ให้ อปท.ที่กำหนดว่าไม่น้อยกว่า 25% และตั้งเป้าให้มีรายได้เพิ่ม 35%” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า แนวคิดการยุบราชการภูมิภาคทั้งหมด ในยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา ทำได้เพราะเป็นรัฐอิสระ มีอำนาจ มีความอิสระในงบประมาณ ทำให้ทุกท้องถิ่นมีอำนาจเหมือนรัฐบาลกลาง ส่วนการลงมติวาระแรก ต้องใช้เสียง ส.ว. เห็นชอบด้วย 83 เสียง ส่วนตัวมองว่ายาก เพราะมีประเด็นที่ยากต่อการปฏิบัติ หากเขาได้เป็นรัฐบาลค่อยมาทำ

มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ประสานงานวิปรัฐบาล ได้รายงานวาระการประชุมสภา ซึ่งมีการพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญกระจายอำนาจท้องถิ่น ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า เป็นผู้เสนอ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า ท้องถิ่นจะมีปัญหาถ้าบริหารกันเอง เพราะรายได้อาจไม่เพียงพอ จึงต้องกระจายรายได้ให้เท่าเทียม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง