หอการค้าชงปกขาวรบ. แนะต่อยอดเวที‘เอเปก’

ปิดฉากประชุมหอการค้าครั้งที่ 40 “สนั่น” ย้ำเอสเอ็มอีต้องเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพื่อทางรอด คลอดสมุดปกขาวยกระดับการแข่งขันของประเทศเสนอรัฐบาล ระบุต้องต่อยอดเอเปกโดยเฉพาะเรื่องเขตการค้าเสรี ซอฟต์เพาเวอร์ มั่นใจจีดีพีปีหน้าไทยโตได้ 3.5-4% “สุพัฒนพงษ์” รับลูกบอกภาย 90 วันอาจได้เห็นระเบียงเศรษฐกิจใหม่ๆ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 พ.ย. ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา   มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งมีการจัดงานประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40 ภายใต้หัวข้อ “Connect the dots : Enhancing Thailand Competitiveness” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,200 คน ได้ปิดฉากลง โดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วาระเร่งด่วนที่ตั้งเป้าหมายร่วมกับภาครัฐและเอกชนคือ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ต้องได้รับการสนับสนุนให้เกิดการปรับตัว  ด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและกลยุทธ์ทางดิจิทัล (Digital Transformation) มาใช้ดำเนินธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพ และไม่ใช่แค่ทางเลือกหรือทางรอด แต่คือทางหลักสู่ความสำเร็จของเอสเอ็มอีไทย ท่ามกลางปัญหาวิกฤตซ้อนวิกฤต

นายสนั่นกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาไทยต้องเผชิญกับหลายปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่รวดเร็วเท่าที่ควร โดยนอกจากผลกระทบของโควิด-19 แล้ว ยังมีสถานการณ์ที่ส่งผลซ้ำซ้อนอีก 4 ด้าน ได้แก่ 1.วิกฤตด้านพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ 2.การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต และการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร 3.วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและธุรกิจเอสเอ็มอี และ 4.วิกฤตโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการลดลงของอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลงถึง 5 อันดับจากปี 2564 ดังนั้น ทางออกที่จะช่วยให้ไทยกลับมาเข้มแข็งได้คือ การหาแนวทางเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในแต่ละมิติ โดยเฉพาะมิติเศรษฐกิจ ผ่านกลไกการเชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างเครือข่ายทุกภาคส่วน

 “หอการค้าจังหวัดได้นำเสนอโครงการที่สำคัญเร่งด่วน ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคหลายโครงการ ทั้งในด้านการเกษตร การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยได้รวบรวมแนวทางการขับเคลื่อนดังกล่าวอยู่ในสมุดปกขาว เพื่อมอบให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้นำไปพิจารณาต่อไป” นายสนั่นระบุ

นายสนั่นกล่าวอีกว่า สมุดปกขาวดังกล่าวได้สรุปแนวทางการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ประกอบด้วย คือ 1.Connect เชื่อมโยงความร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยหอการค้าไทยตั้งเป้าหมายระดมสมาชิกเพิ่มจาก 1 แสนรายเป็น 2 แสนราย ภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเอสเอ็มอีไทย ตลอดจนขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาค 5 ภาค จากการระดมความเห็นของสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศตลอดทั้งปี

2.Competitive ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ โดยสนับสนุนภาครัฐ ขับเคลื่อนเขตการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่มความร่วมทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปก (FTAAPX) และเร่งขยายเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับนานาชาติ ต่อยอดความเชื่อมั่นจากการเป็นเจ้าภาพเอเปกในช่วงที่ผ่านมา พร้อมดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีความพร้อมในการรองรับการลงทุนตรงจากทั่วโลกได้อย่างทันที โดยหอการค้าไทยมีแผนดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากประเทศยุทธศาสตร์เป้าหมาย ที่ประกอบด้วย จีน, ซาอุดีอาระเบีย,  เวียดนาม และอินเดีย รวมถึงรักษากลุ่มนักลงทุนเดิม เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยหอการค้าไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ยกระดับ Ease of Investment พร้อมร่วมมือกับคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ปรับปรุง Ease of Doing Business ปรับปรุงขั้นตอนการติดต่อราชการให้รวดเร็ว ลดการเซ็นเอกสาร สนับสนุนให้เกิด e-Government อย่างเต็มรูปแบบ

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องเร่งแก้ไขและปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้ออำนวยต่อการลงทุน โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทุกภาคส่วน นอกจากนี้ หอการค้าไทยได้ผนึกกำลังกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) สร้างโครงการนำร่อง โดยใช้สถาบันเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมขับเคลื่อนและติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว หอการค้าฯ ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ดำเนินแนวทางการค้าและการท่องเที่ยว  ยกระดับการสร้างซอฟต์เพาเวอร์ในแต่ละจังหวัด พร้อมยกระดับการท่องเที่ยวเมืองรองด้วย Happy Model

3.Sustainable สร้างอนาคตที่ยั่งยืน เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ หอการค้าไทยและเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมผลักดัน Bangkok Goals (เป้าหมายกรุงเทพฯ) ว่าด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG) โดยจะนำเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคภาคเอกชน ระยะ 5 ปี เป็นแนวทางขยายผล BCG Model เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ นอกจากนั้นจะใช้กลไกสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค ที่จัดตั้งขึ้นร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นสถาบันทางวิชาการ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และร่วมกับหอการค้าทุกจังหวัด ขับเคลื่อน BCG ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2566 ซึ่งถือเป็นปีที่สำคัญของหอการค้าไทยก่อตั้งครบ 90 ปีนั้น จะนำแนวทาง Connect  Competitive และ Sustainable เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศอย่างต่อเนื่อง

“แม้ว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้าจะเปราะบาง แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเติบโตได้ โดยหอการค้าไทยคาดว่าจีดีพีไทยจะเติบโตได้ 3.5-4% และภาคการส่งออกจะเติบโตได้ 3-5% และจะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดที่ได้จากการจัดสัมมนาครั้งนี้ จัดทำเป็นสมุดปกขาวเพื่อนำเสนอให้กับฝ่ายรัฐบาล” นายสนั่นกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากนายสนั่นกล่าวเสร็จได้นำสมุดปกขาวมามอบให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลได้พิจารณา

นายสุพัฒนพงษ์ยังได้ปาฐกถาพิเศษ “ร่วมแรง ร่วมใจ ยกระดับไทย สู่ความยั่งยืน” ระบุว่า เรื่องใหม่ที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ร่วมกับเอกชนในการประชุมเอเปกที่ผ่านมา คือโมเดลบีซีจี ซึ่งมั่นใจว่าเป็นเรื่องที่ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเดินหน้าใช้ทรัพยากรดูแลสิ่งแวดล้อมเหมาะสมกับประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่เชื่อมโยงมาจากปัญหาโลกร้อน ซึ่งเศรษฐกิจบีซีจีจะทำให้ไทยรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นสำหรับโลกในอนาคตได้ โดยรัฐบาลพร้อมร่วมกับภาคเอกชนในการผลักดันยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐานชัดเจน ซึ่งจะไม่ถูกกีดกันทางการค้าในอนาคต ทำให้ไทยมีช่องทางในการนำสินค้าเข้าสู่ตลาดสากลได้มากขึ้น และถือเป็นจังหวะที่ดีให้ไทยได้ใช้เป็นโอกาสต่อยอดเศรษฐกิจจากวิกฤตให้ดีกว่าเดิมต่อไป

"การประชุมเอเปกที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าเวลานี้ต่างประเทศมองประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีโอกาสในการพัฒนาหลายด้าน และมีโอกาสที่จะเกิดเป็นความร่วมมือต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความไว้วางใจที่ชาวต่างชาติยังคงไว้ใจไทย โดยผู้ลงทุนต่างชาติบางส่วนอยู่ในไทยอยู่แล้ว อาทิ ญี่ปุ่น ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้รับการดูแลอย่างดีจากประเทศไทย ทำให้เราสามารถรักษาเสถียรภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี แม้จะประสบปัญหาในเรื่องของซัพพลายเชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศใหม่ๆ เกิดความเชื่อมั่นที่จะลงทุนกับประเทศไทย อาทิ ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา ที่ต้องการจะเข้ามาร่วมลงทุนในไทย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีจากการประชุมเอเปก ถือว่าประสบความสำเร็จจากความร่วมมือของภาคเอกชน” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า หน้าที่ของรัฐบาลจากนี้ ก็ยังพยายามเดินหน้าแก้ไขปัญหาให้ลุล่วง สร้างระบบนิเวศการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน เมื่อเศรษฐกิจฟื้นจะสามารถเดินหน้าได้ทันที และเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย ประเทศไทยสามารถเดินหน้าต่อได้ จากการที่รัฐบาลพยายามคลี่คลายปัญหาทำให้เกิดโอกาสมากขึ้น ในส่วนของอุตสาหกรรมใหม่ในช่วงที่เกิดวิกฤต รัฐบาลพยายามที่จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อทำให้เป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ ทั้งการลงทุนอีวี  การลงทุนไฟฟ้า แบตเตอรี่ ซึ่งเวลานี้เริ่มที่จะทยอยลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น มั่นใจจะเห็นผลเป็นรูปธรรมในอีกไม่นานนี้

“จากการศึกษาของรัฐบาลมองว่าหลายจังหวัดสามารถพัฒนาให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจได้ ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการลงทุนพลังงานสะอาดเพื่อใช้ในแต่ละพื้นที่ มีโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะตัว ไม่เป็นภาระงบประมาณมากนัก หากมี 3-4 ระเบียงเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เชื่อว่าจะสามารถรักษาภาวะเศรษฐกิจของไทยให้มั่นคงได้ อาทิ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจมีการลงทุนพลังงานสะอาดได้ ไม่ใช่เฉพาะอีอีซีอย่างเดียว ซึ่งภายใน 90 วันหลังจากนี้ อาจเห็นผลการศึกษาและเห็นระเบียงเศรษฐกิจที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ในประเทศได้มากขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยเวลานี้เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์แล้ว แต่จำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มที่” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง