“บิ๊กตู่” ชี้วิกฤตพลังงานยังอีกยาว กพช.ผุด 3 แนวทางบริหารก๊าซธรรมชาติช่วยชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง ม.ค.-เม.ย.2566 สั่งตรึงค่าเอฟที-ค่าไฟ พร้อมดึงเงินโรงแยกก๊าซ ปตท. หนุน 6,000 ล้านบาทลดต้นทุน “สุพัฒนพงษ์” บอกไม่ใช่ของขวัญปีใหม่ แต่เรื่องแก้ขัดเฉพาะหน้า ส่วนของขวัญคือไม่ขยับราคาน้ำมัน
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 8/2565 โดยกล่าวเปิดประชุมช่วงหนึ่งว่า ทุกคนทราบดีว่าทุกวันนี้มีปัญหาด้านพลังงานในทุกมิติ และจากการติดตามสถานการณ์โลกทั้งภายนอกและภายใน วิกฤตพลังงานจะอยู่กับเราไปอีกนานพอสมควร ทำให้ต้องเตรียมมาตรการที่เหมาะสมในการดูแลประชาชน ก็ต้องขอให้ช่วยกัน เพราะปัญหาทุกอย่างเกี่ยวพันกัน ประชาชนเกิดความเดือดร้อนเรื่องไฟฟ้า ดังนั้น จึงขอร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงผลประชุม กพช.ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาแนวทางเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน โดยมุ่งเน้นในส่วนของการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.2566) ดังนี้
1.การบริหารก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า โดยจัดสรรก๊าซฯ จากอ่าวไทยหลังโรงแยกก๊าซฯ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยก่อนในปริมาณที่ไม่เพิ่มภาระอัตราค่าไฟฟ้าจากปัจจุบัน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าอัตราไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย เพื่อคงค่าไฟในอัตราเท่าเดิม 4.72 บาทต่อหน่วย รวมทั้งคงค่าไฟอัตรา 3.7 บาทต่อหน่วยสำหรับกลุ่มเปราะที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน กลุ่มใช้ 301-500 หน่วยงานต่อเดือนได้ส่วนลด 15% และ 75% และมอบหมายให้ กกพ.เร่งศึกษาการจัดทำอัตราค่าไฟฟ้ากลุ่มประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มีการใช้ไฟฟ้ามากกว่า 500 หน่วยต่อเดือนขึ้นไป
2.กพช.ได้ขอความร่วมมือจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อเดือน ระยะเวลา 4 เดือน (ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.2566) มาช่วยสนับสนุนในรูปแบบที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยแบ่งการจัดสรรดังนี้ ส่วนที่ 1 เป็นส่วนลดราคาค่าก๊าซฯ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าแก่กลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 500 หน่วยต่อเดือน โดยมอบหมายให้ กกพ.กำกับดูแลการดำเนินการต่อไป ส่วนที่ 2 เป็นส่วนลดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงแยกก๊าซฯ ในการคำนวณต้นทุนก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) เพื่อเป็นเชื้อเพลิง
และ 3.กพช.มีมติเห็นชอบให้ ปตท. ร่วมกับ กฟผ. บริหารจัดการผลกระทบของราคาก๊าซธรรมชาติต่อค่าไฟฟ้า โดยให้ ปตท.คิดราคาก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. IPP และ SPP ในระดับราคาเดียวกับที่ใช้การประมาณการค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) ตั้งแต่เดือนที่ กพช.มีมติเป็นต้นไป
"มาตรการค่าไฟครั้งนี้อย่าไปเรียกของขวัญปีใหม่ เพราะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยต้องผ่านไปให้ได้ในช่วงที่ราคาพลังงานผันผวนมากเช่นนี้ หลายคนต้องการให้ทำมาตรการระยะยาวตลอดปี แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะตอนนี้เหมือนฝนตกหนักขับรถอยู่ทัศนวิสัยไม่ดี จึงต้องมองระยะใกล้ก่อน แต่เชื่อว่าตั้งแต่พฤษภาคมเป็นต้นไป สถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนของขวัญปีใหม่กระทรวงพลังงาน เบื้องต้นคงเป็นมาตรการคล้ายๆ เดิม อาทิ ตรึงราคาน้ำมันช่วงปีใหม่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช.มีมติเห็นชอบการดำเนินการตามมาตรการการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ในกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้ก๊าซฯ โดยกำหนดให้ผลตอบแทนจากการดำเนินมาตรการ Demand Response เป็นส่วนหนึ่งของค่า Ft และมอบหมายให้ กกพ.เร่งดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้สามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในภาพรวมต่อไป อีกทั้งที่ประชุม กพช.ได้มีมติมอบหมายให้ กบง.พิจารณาดำเนินการและกำกับดูแลแนวทางการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงานต่อไป
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาพลังงานโลกมีความผันผวน และมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง ราคา LNG (JKM) ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี 2564 ที่ 10 ดอลลาร์/MMBTU เป็น 30 ดอลลาร์/MMBTU ในเดือน ต.ค.2565 การประมาณการแนวโน้มราคา LNG ในปี 2566-2567 อยู่ที่ 25-33 ดอลลาร์/MMBTU ซึ่งกำลังการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งอ่าวไทยลดลง จึงจำเป็นต้องนำเข้า Spot LNG ที่มีราคาสูงเข้ามาทดแทนเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อต้นทุนเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตพลังงานดังกล่าว ในวันนี้ที่ประชุม กพช.จึงได้มีการพิจารณาแนวทางเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงาน โดยมุ่งเน้นในส่วนของการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวนโยบายการบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคาพลังงานตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย.2566
“ในตอนท้ายนายกฯ ย้ำว่า รัฐบาลมุ่งหวังดูแลกลุ่มเปราะบางและประชาชนให้เดือดร้อนน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย พร้อมขอบคุณคณะกรรมการฯ ภาครัฐและภาคเอกชน ที่ช่วยกันทำให้ประเทศอยู่รอดในสถานการณ์วิกฤตด้านพลังงาน” นายอนุชากล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ปลุกทุกภาคส่วน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวีดิทัศน์ว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2567
ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม