ครม.ปูเฮ!ปล่อยผีเยียวยา‘ม็อบ’

ปล่อยผีอดีต ครม.ยิ่งลักษณ์ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหาอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาเสื้อแดงช่วงเผาบ้านเผาเมือง    ขณะที่ “ชัชชาติ” ยันเปิดพื้นที่ “ลานคนเมือง” ให้ชุมนุมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ชี้การชุมนุมไม่มีผลกระทบกับเอเปก

รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติตีตกข้อกล่าวหาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวม 36 ราย กรณีถูกกล่าวหาว่าจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 โดยไม่มีอำนาจ และไม่มีกฎหมายรองรับ เพื่อช่วยเหลือพวกพ้องของตน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 66 และตามประมวลกฎหมายอาญา

สำหรับคดีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6 มี.ค.55 ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหาย ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงหรือความขัดแย้งทางการเมือง ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 ม.ค.55 ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน โดยนำหลักการเยียวยาของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธานขึ้นกล่าวอ้าง แต่ได้ยกข้อเสนอขึ้นเพียงบางส่วน และเพิ่มเติมหลักเกณฑ์อื่นๆ นอกเหนือจากที่ คอป.เสนอ และอนุมัติวงเงิน จำนวน 2,000 ล้านบาท ให้มีการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ปลายปี 48 จนถึงเดือน พ.ค.ปี 53 รวมผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยาครั้งนี้ จำนวน 2,369 ราย ประมาณการวงเงินเยียวยา จำนวน 1,931,530,000 บาท

รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาในส่วนของนายสุชาติ ธาดาธํารงเวช เมื่อครั้งดํารงตําแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ, นางนลินี ทวีสิน เมื่อครั้งดํารงตําแหน่ง รมต.ประจําสํานักนายกรัฐมนตรี และนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่ง รมช.การคลัง ว่าในวันที่ 5 มี.ค.55 นายสุชาติไม่ได้เข้าร่วมประชุม ครม. เนื่องจากมีภารกิจเปิดงานอนาคตการศึกษาไทยที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ส่วนนางนลินี ได้เข้าประชุม ครม.เพียงครึ่งชั่วโมงและกลับบ้าน เพื่อเตรียมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ขณะที่นายวิรุฬ หลังจากผ่านวาระของกระทรวงการคลังแล้ว ได้รีบออกจากห้องประชุม ครม. เพื่อประชุมร่วมกับคณะกรรมการกําหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ได้นัดไว้ จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง ให้ข้อกล่าวหาตกไป 

ขณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้พิจารณาในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐมนตรีที่เหลืออีกรวม 30 รายว่า แม้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามสิบรายจะได้ร่วมลงมติในวันดังกล่าว แต่เป็นการทําหน้าที่ในฐานะองค์กรบริหาร หรือ ครม. ซึ่งเป็นการกระทําตามอํานาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 174 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แต่ไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามสิบรายได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีหรือ ครม.ให้มีอำนาจหน้าที่หรือได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบในการดําเนินการเกี่ยวกับการเยียวยาครั้งนี้ เนื่องจากมีการมอบหมายและแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมาดำเนินการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองไว้เป็นการเฉพาะ ได้แก่ ปคอป. คณะอนุกรรมการด้านเยียวยาทางแพ่ง และการฟื้นฟูด้วยวิธีการอื่น และคณะทํางานช่วยเหลือ เยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม

ฉะนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งสามสิบรายมิได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือได้รับมอบหมายให้นํานโยบายเกี่ยวกับการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2558-2553 ตามที่ ครม.มีมติไปปฏิบัติ ให้บรรลุผล ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่มีอํานาจหน้าที่ ไม่อาจกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาตามที่ถูกกล่าวหาได้ กรณีไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง ให้ข้อกล่าวหาตกไป

คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้พิจารณาในส่วนของนายยงยุทธ และนายกิตติรัตน์  ณ ระนอง เมื่อครั้งดํารงตําแหน่ง รมว.การคลัง โดยที่ประชุมเห็นว่า จากการไต่สวนรับฟังได้ว่า การจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2558-2553 เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ ครม.ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ว่าจะเยียวยาและฟื้นฟูแก่บุคคลทุกฝ่ายซึ่งได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากความเห็นที่แตกต่าง สอดรับกับความเห็นของ คอป. ที่เสนอให้ใช้มาตรการพิเศษที่ไม่ยึดติด อยู่กับสิทธิที่มีอยู่ตามกรอบของกฎหมายและแนวปฏิบัติของหน่วยงานและองค์กรที่ดําเนินการในกรณีปกติ ซึ่งนายยงยุทธมีบทบาทเป็นผู้เสนอหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินต่อ ครม.

ส่วนการกระทําของนายกิตติรัตน์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสํานักงบประมาณและกระทรวงการคลัง มีบทบาทที่ต้องบังคับบัญชาข้าราชการหน่วยงานทั้งสองแห่งให้ต้องดําเนินการเสนอเรื่องจ่ายเงินเยียวยาต่อ ครม. จึงเป็นการกระทําอันเป็นผลโดยตรงมาจากนโยบายที่ ครม.ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องทางรัฐประศาสโนบาย หรือเป็นการกระทําในทางการเมือง ซึ่งอยู่ในอํานาจของ ครม.ที่จะกระทําได้สอดคล้องกับคําสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 87/2557 ฉะนั้น การกระทําของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองรายจึงหาใช่เป็นการกระทําโดยพลการหรืออําเภอใจ กรณีไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังได้พิจารณาในส่วนนายปกรณ์ พันธุ เมื่อครั้งดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ และในฐานะประธานคณะทํางานช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินตามหลักมนุษยธรรม โดยมีมติเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนนเสียง 6 เสียง  ว่านายปกรณ์มีหน้าที่ในดําเนินการจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ให้ความช่วยเหลือเยียวยาด้านการเงินจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 และเป็นการปฏิบัติตามมติ ครม.ให้นโยบาย กรณีนี้ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้กระทําการอันมีมูลตามข้อกล่าวหา ให้ข้อกล่าวหาตกไป

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยว่าการที่ผู้ว่าฯ กทม.ไม่ควบคุม ดูแล หรือปล่อยปละละเลยให้ผู้ชุมนุมที่ขออนุญาตจัดการชุมนุมคัดค้านเอเปกที่ลานคนเมือง  ได้ทำผิดเงื่อนไขการอนุญาตโดยออกมานอกพื้นที่อนุญาตจนเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ทำให้เกิดการบาดเจ็บกันทั้งสองฝ่าย และทรัพย์สินราชการและสาธารณะเสียหาย เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือไม่

โดยนายชัชชาติกล่าวว่า เรายืนยันว่าเราทำในสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว ที่เปิดพื้นที่ให้มีการแสดงออกได้ และตนคิดว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน การที่มีพื้นที่ให้แสดงออกเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ สามารถดูแล และไม่ต้องออกไปที่ที่เราไม่คาดคิด และไม่ได้มีผลกระทบในการประชุมเอเปก ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าการประชุมเอเปกที่ผ่านมาได้รับความชื่นชมในแง่ของการจัดการ ผู้นำก็ชื่นชม ฉะนั้น การชุมนุมไม่ได้มีผลกระทบกับการประชุมเอเปก ซึ่งตนคิดว่าเป็นจุดมุ่งหมายหลักของเรา  

“ผมคิดว่าทุกคนมีสิทธิให้ความเห็นได้ ใครจะไปร้องอะไรผมว่าตามสบายเลย เพราะเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่เราเห็น” นายชัชชาติกล่าว

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดยนายอานนท์ กลิ่นแก้ว เดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อถอนประกันตัว น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน, น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ และ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือบุ้ง นักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ต้องหา ม.112 ที่เข้าร่วมการชุมนุมราษฎรหยุดเอเปก 2022

นายอานนท์กล่าวว่า ศปปส.มายื่นให้ศาลพิจารณาว่าให้เพิกถอนการประกันตัวแกนนำสามกีบที่ป่วนเมืองช่วงเอเปก เพราะแกนนำที่นำม็อบออกมาช่วงเอเปก เป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และได้รับการประกันตัว มีมายด์ ตะวัน ใบปอ และบุ้ง ซึ่งต่อจากนี้เราจะยื่นถอนไปเรื่อยๆ สำหรับผู้ต้องหามาตรา 112 ที่ได้รับการประกันตัวและมีเงื่อนไข

จากนั้น เวลาประมาณ 13.04 น. นายอานนท์ได้เดินไปยังบริเวณที่มีกลุ่มมวลชนอิสระ โดยหนึ่งในนั้นมี น.ส.จิรัชยา สกุลทอง หรือจินนี่ ไลฟ์อยู่ด้วย จึงเกิดการปะทะกันทางวาจา โดยกลุ่มมวลชนอิสระกล่าวพร้อมกันว่า "อย่ารังแกเด็ก"  หลายครั้ง พร้อมชี้หน้า

ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาห้ามปราม กลุ่มของนายอานนท์จึงเดินกลับไปยังศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยนายอานนท์กล่าวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า "พวกคุณปล่อยให้พวกมันด่าผมนานเกินไป".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก