สภาตีตกญัตติก.ก.ชวนยํ้าเป็นกลาง

สภาวุ่น “เพื่อไทย” ปะทะ “ภูมิใจไทย” หลัง “ก้าวไกล” เสนอญัตติด่วนถกรถไฟฟ้าสายสีส้มก่อน “ภราดร”  ขอนับองค์ประชุม พท.ท้าปิดประชุมไปเลย สุดท้ายญัตติตก “จุลพันธ์” โวยทีมงานชวน เผยตัวเลขฝ่ายค้านร่วมเป็นองค์ประชุมน้อยจนทำสภาล่ม “ชวน” ย้ำทำหน้าที่เป็นกลาง วอนฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมากรักษาองค์ประชุม 

ที่รัฐสภา วันที่ 24 พฤศจิกายน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม   ภายหลังวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจากเสร็จสิ้น เข้าสู่การพิจารณารับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของ กสทช.ประจำปี 2564 ซึ่งค้างการประชุมมาตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค.2565 แต่นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาลงมติเพื่อส่งความเห็นและข้อเสนอแนะสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการ เพราะเรื่องนี้ผ่านกระบวนการคัดเลือกจบแล้ว และกำลังรอเข้าสู่ ครม. ถ้าปล่อยเข้า ครม.โดยยังมีปัญหาคาราคาซัง และถ้า ครม.อนุมัติเมื่อใด จะผูกพันอนาคตอย่างน้อย 35 ปี ถือเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อประชาชน

ขณะที่ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ทั้งนายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เห็นว่าไม่ควรอนุญาตให้เสนอญัตติ  เพราะเป็นการอภิปรายและกระทบบุคคลภายนอก อีกทั้งเรื่องอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล หากให้อภิปรายถือเป็นการก้าวล่วงหรือไม่ จึงไม่เห็นด้วยที่มีการเลื่อนญัตติด่วนขึ้นมาพิจารณา ที่สำคัญตัวแทนของ กสทช.มารอชี้แจงรายงานแล้ว และคิดว่าหลายคนน่าจะสอบถามเรื่องลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก จึงขอให้พิจารณาไปตามวาระ

ทั้งนี้ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ ชี้แจงว่า นายสุรเชษฐ์ไม่ได้เสนอเลื่อน แต่เป็นการเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทั้งนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย และนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาไปตามระเบียบวาระ แต่อยากให้พิจารณาญัตติด่วน ดังนั้นหากพรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย ควรอภิปรายถึงเหตุผล

แต่เมื่อนายศุภชัยจะเปิดโอกาสให้ผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่ายได้อภิปราย ทำให้นายภราดรประท้วงว่าประธานวินิจฉัยแบบนี้ไม่ได้ เพราะผู้เสนอญัตติได้อภิปรายเหตุผลไปแล้ว ตามธรรมเนียมปฏิบัติต้องลงมติให้เรียบร้อยว่าจะพิจารณาญัตติด่วนหรือพิจารณาตามระเบียบวาระ แล้วค่อยมาอภิปรายกัน แต่นายศุภชัยยังยืนยันให้ผู้เสนอญัตติทั้งสองฝ่ายอภิปราย ทำให้นายภราดรไม่พอใจและเสนอให้นับองค์ประชุม แต่นายจิรายุ สวนขึ้นว่าหากนับองค์ประชุมเดี๋ยวสภาก็ล่มอีก อุตส่าห์มาตั้งแต่เช้า ถ้าอย่างนั้นไม่ต้องนับ เสนอปิดประชุมเลย อาการอย่างนี้คือกลัว แต่ถ้าจะนับก็นับแบบขานชื่อ

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายยังคงถกเถียงเรื่องการนับองค์ประชุม โดยนายจุลพันธ์กล่าวว่า ไม่ติดใจที่จะนับองค์ประชุม แต่อยากให้ประธานและฝ่ายเลขาฯ ใช้มาตรฐานเดียวกันกับการประชุมสภาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน โดยเอาชื่อ เอาพรรคไปประกาศ อย่าเลือกปฏิบัติเฉพาะที่ฝ่ายตัวเองได้ประโยชน์ ต้องเอาชื่อไปประกาศว่ามันล่มเพราะใคร ทั้งนี้ นายศุภชัยขอประนีประนอมว่าไม่ต้องมีการอภิปรายแล้ว ทำให้นายภราดรยอมถอนการเสนอให้นับองค์ประชุม แต่นายจุลพันธ์ยังไม่ยอม เพราะอาจไม่ได้อภิปรายญัตติรถไฟฟ้าสายสีส้ม จึงขอให้นับองค์ประชุม

จากนั้นที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นด้วยกับญัตติด่วนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มหรือไม่ โดยมีผู้เข้าประชุม 273 ถือว่าครบองค์ประชุม และมีผู้ลงมติ 335 เสียง เห็นด้วย 140 เสียง ไม่เห็นด้วย 193 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 2 ถือว่าที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบกับญัตติด่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม จากนั้นจึงเข้าสู่วาระการพิจารณาตามระเบียบวาระการประชุมคือรับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของ กสทช.ประจำปี 2564

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ที่ประชุมจะเข้าสู่ช่วงกระทู้ถามสดนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สั่งปิดการประชุมเนื่องจากมีองค์ประชุมไม่ครบ แต่เป็นการสั่งปิดการประชุมก่อนจะมีการประกาศผลคะแนนขององค์ประชุม เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น กระบวนการแสดงตนของ ส.ส.จึงไม่ได้บันทึกอยู่ในระบบสภา แต่หลังจากปิดประชุม มีทีมงานของนายชวนไปแถลงข่าวตัวเลข ส.ส.ของแต่ละพรรคที่อยู่ร่วมเป็นองค์ประชุมว่ามีเท่าไหร่ ถือเป็นการเปิดเผยตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ได้บันทึกอยู่ในรัฐสภา ตนจึงมองว่าเป็นกระบวนการที่ไม่เหมาะสม และมีเจตนาทางการเมืองเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่เสียหายกับสมาชิกพรรคการเมืองใดๆ ดังนั้นขอได้โปรดสอบถามไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเรื่องที่เกิดขึ้น ถ้ามีการชี้แจงจะได้เป็นประโยชน์ จะได้ทราบว่าข้อมูลที่ไม่บันทึก สามารถไปล้วงได้ แล้วนำมาเปิดเผย ถ้าให้ยุติธรรมขอให้นำรายชื่อมาให้ฝ่ายค้านด้วย จะได้มีข้อมูลร่วมกัน

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ  กล่าวถึงปัญหาในการตั้งคำถามเพื่อลงมติในมาตรา 9/1 ของร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่…) พ.ศ..… ทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลลงมติผิด เนื่องจากความเข้าใจผิดว่าให้ฝ่ายกฎหมายดูถึง 3 ครั้ง ว่าจะถามอย่างไร แต่สมาชิกอาจจะไม่ได้จับประเด็นว่าถามอะไร จึงเกิดความเข้าใจผิด เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องคะแนนน้อยหรือมาก จึงดำเนินการลงมติใหม่ได้ ก่อนการลงมติใหม่ก็ได้ขอมติจากที่ประชุมว่า จะให้ลงมติใหม่หรือไม่ แต่ตอนจะลงมติองค์ประชุมหายไปแล้ว เมื่อไม่ครบองค์ประชุมก็ต้องปิดประชุม

เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าประธานสภาฯ ทำหน้าที่เป็นกลางหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในรอบ 4 ปี คงไม่ไปเฉไฉให้เสียกระบวนการ เมื่อวันที่23 พ.ย. คนของรัฐบาลขอสงวนคำแปรญัตติขอเพิ่มมาตรา 9/1 ด้วย จึงไม่ใช่เรื่องความไม่เป็นกลาง เมื่อเข้าใจผิดก็นับคะแนนใหม่ เรื่องนี้ไม่ได้มีผลอะไรต่อบ้านเมืองส่วนรวม ส่วนที่มีการระบุว่าประธานสภาฯ ทำหน้าที่เข้าข้างรัฐบาลนั้น ก็ได้ยินตลอด แต่สมาชิกส่วนใหญ่รู้ดีว่าตนตัดสินสิ่งต่างๆด้วยความเป็นกลาง เมื่อตัดสินแล้วบางคนไม่พอใจก็บอกว่าไม่เป็นกลาง เหมือนเป็นสูตรที่ท่องมา งานสภาคงต้องขอความร่วมมือทุกฝ่ายให้มาร่วมประชุม ระบบนี้ฝ่ายที่เป็นรัฐบาลได้คือมีเสียงข้างมาก ดังนั้นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เรื่ององค์ประชุม ได้โทรศัพท์ไปพูดคุยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี   ให้ช่วยบอกรัฐบาลด้วยว่า สภามีเวลาไม่มากนัก ขอความร่วมมือทุกพรรคให้มาประชุม ส่วนพรรคการเมืองจะไม่พอใจอะไรกันก็เป็นเรื่องหนึ่ง ไม่มีโจทย์ไปแกล้งให้ไม่ครบองค์ประชุม

เมื่อถามว่า เหตุการณ์องค์ประชุมล่มจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ใช้เป็นข้ออ้างเป็นเหตุผลเพื่อยุบสภาเร็วขึ้นหรือไม่ นายชวน กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะอำนาจอยู่ที่รัฐบาล ไม่ทราบว่าเขาคิดอย่างไร การเมืองผันแปรทุกวัน แต่ตอนนี้รัฐบาลมีเสียงข้างมากอยู่ ถ้ามีการเสนอญัตติหรือกฎหมายของรัฐบาลเข้ามา มีคำถามว่า ถ้าไม่มาเป็นองค์ประชุมจะผ่านได้อย่างไร ต้องย้ำเรื่องความรับผิดชอบ ประชาชนจับตาดูอยู่ ส่วนตัวเรียกร้องทุกคนให้มาร่วมทำงานของสภาให้จบ ที่ผ่านมาสภาทำหน้าที่ดีมาตลอด ขอให้รักษาสภาพที่ดีแบบนี้ตลอดไป ส่วนต้องเรียกประธานวิปรัฐบาลมาพูดคุยหรือไม่นั้น ตนเข้าใจว่าวิป 2 ฝ่ายไม่ค่อยลงกัน ไม่ค่อยหารือ ขัดแย้งกันตลอด เวลาจะวินิจฉัยอะไรประธานเลยตัดสินเอง ซึ่งปัจจุบันไม่เหมือนอดีต เวลาจะถามว่าใครดูแลเรื่ององค์ประชุมก็หาตัวยาก ถามรัฐบาลก็บอกนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเคยบอกว่ารัฐบาลมอบท่าน ท่านต้องมาดูแลบ้าง แต่ก็เข้าใจว่ารัฐมนตรีก็มีงานประจำอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง