รัฐสภาประชุมถกรัฐธรรมนูญฉบับไอติมแล้ว “ปิยบุตร” ยก 4 หลักการใหญ่ “พริษฐ์” ชี้เป็นวัคซีนเข็มแรกเพื่อฆ่าไวรัสประยุทธ์ ที่ทำให้เกิดโรคเศรษฐกิจอ่อนแอ-โรคเหลื่อมล้ำเรื้อรัง-โรคประชาธิปไตยหลอกลวง “ป๊อก” สบช่องด่าศาลบอกอมพระมาพูดก็ไม่เชื่อว่าเป็นกลาง จึงต้องปรับแก้องค์กรอิสระ “ส.ว.” เรียงหน้าสับ ซัดเป็นฉบับปฏิวัติ เพราะกลัวผีรัฐประหาร วันชัยอัดร่างบนพื้นฐาน 4 ก. “เกลียด-โกรธ-กลัว-เกิน” พปชร.-ภท.-ปชป.-ชทพ.ส่อโหวตคว่ำ
เมื่อวันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน มีวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช.... ซึ่งเป็นการยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด 12 มาตรา 256 หมวด 16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279 ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 135,247 คน เป็นผู้เสนอ
โดยก่อนประชุม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า แล้วแต่นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)
ขณะที่นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรรมการบริหารพรรค พปชร. กล่าวว่า เนื้อหาสาระคล้ายกับร่างที่ประชาชนเคยยื่นมาแล้วหลายเรื่อง และถูกตีตกไปแล้วด้วย เช่น ประเด็นไม่ให้มี ส.ว. ซึ่งจะยาก เพราะ ส.ว.ต้องโหวตด้วย ส่วนคนที่จะเคลื่อนไหวหากร่างฉบับนี้ไม่ผ่านนั้น ก็เคลื่อนไหวอยู่แล้ว การแก้ไขครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว เป็นการยื่นขึ้นมาเพื่อสร้างเงื่อนไขบางอย่าง และให้มีการอภิปรายในสภาและโจมตีบางสิ่งบางอย่างเพื่อชี้นำสังคมไป และหากร่างถูกตีตกไปก็คงไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง การชุมนุม และความรุนแรง
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้า พปชร. ยืนยันว่า ไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายพริษฐ์เสนอ เพราะขัดต่อหลักการที่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญไปให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กับ ส.ส. 400 เขตและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แต่ฉบับนี้กลับมาใช้เป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว กับ ส.ส. 350 เขต คำนวณแบบ ส.ส.แบบปัดเศษ ซึ่งคือ มรดกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ผู้เสนอร่างประณามมาโดยตลอด เป็นการเสนอร่างย้อนแย้งที่อ้างว่าจะล้างมรดก คสช. แต่กลับมาใช้ระบบเดิม
“ขอถามกลับมาที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่สนับสนุนร่างนี้ ว่าต้องการบัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือไม่ เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านรัฐสภา และอยู่ระหว่างการโปรดเกล้าฯ ตรงนี้ย้อนแย้งกับพรรค พท.ที่โหวตสนับสนุนหรือไม่”นายไพบูลย์กล่าว
รายงานข่าวจากพรรค พปชร.แจ้งว่าท่าทีของพรรค พปชร.ต่อการลงมติพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในวันที่ 17 พ.ย.นี้ พล.อ.ประวิตรระบุให้เป็นไปตามที่วิปรัฐบาลพิจารณา ขณะที่พรรคให้อิสระกับ ส.ส.ตัดสินใจโดยไม่บังคับ แต่ความเห็นของสมาชิกพรรคส่วนใหญ่เห็นไปทางเดียวกันว่าหากรับร่างประชาชนอาจไปแย้งกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของสภาก่อนหน้านี้ และหากผ่าน ส.ส.ไปได้ ก็อาจไม่ผ่านการลงมติของ ส.ว. จึงมีแนวโน้มสูงที่โหวตแสดงจุดยืนให้ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขฉบับประชาชน
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีท่าทีไม่ต่างกัน โดยมีรายงานว่า แนวโน้มการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 17 พ.ย. ส.ส.ของพรรคจะไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ เพราะมีหลายประเด็นที่ไม่เห็นด้วย ทั้งการยกเลิกวุฒิสภา ให้เหลือสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว หลายคนเป็นห่วงว่าถ้าไม่มีวุฒิสภาจะไม่มีฝ่ายทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย นอกจากนี้ พรรคยังห่วงว่าการเสนอเปลี่ยนแปลงการได้มาซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยเฉพาะที่มาของศาลจะเป็นการก้าวล่วง อีกทั้งตุลาการศาลก็มีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่แล้ว เมื่อครบวาระจะต้องพ้นจากตำแหน่งไปเอง ส่วนการเสนอยุบมาตรา 279 รับรองการทำรัฐประหารนั้น แม้จะเขียนห้ามลงไปในรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายเมื่อมีการทำรัฐประหารจะมีการฉีกแล้วเขียนใหม่อยู่ดี ทั้งนี้ สมาชิกพรรคส่วนใหญ่เห็นว่าผู้เสนอร่างทราบดีอยู่แล้วว่าเสนอมารัฐสภาจะไม่ให้ผ่าน จึงเป็นการเสนอเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่า
รายงานข่าวจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 17 พ.ย. พรรคภูมิใจไทยจะมีการประชุม ส.ส.ก่อนลงมติร่างแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับประชาชน แต่จากการฟังเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส. จะไม่รับหลักการในวาระแรก เพราะเป็นร่างที่มีปัญหาในหลายประเด็น และหากผ่านในวาระแรก สุดท้ายไม่สามารถผ่านความเห็นชอบได้ในวาระ 2 และ 3 โดยเฉพาะ ส. ว. ที่ร่างแก้ไขดังกล่าวระบุให้มีการยกเลิก
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า พรรคจะหารือกับ ส.ส.ถึงแนวทางการลงมติ ซึ่งคิดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในความเห็นส่วนตัว จะไม่รับหลักการร่างดังกล่าว เพราะพื้นฐานของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการทำประชามติมา และมีหลายประเด็นที่ผลักดันไป ส.ว.จะไม่เห็นด้วย
ยก 4 หลักการใหญ่
เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) พร้อมด้วยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และนายพริษฐ์ แกนนำกลุ่มรี-โซลูชั่น ร่วมกันแถลงข่าวถึงหลักการและเหตุผลในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (แก้ไขเพิ่มเติม) ฉบับที่… พ.ศ….
โดยนายปิยบุตรระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอชื่อว่ารื้อระบอบประยุทธ์ หลักใหญ่มี 4 ประเด็น 1.ยกเลิกวุฒิสภา ใช้ระบบสภาเดียว คือ ส.ส. 2.แก้ไขที่มาการตรวจสอบถ่วงดุลศาล และองค์กรอิสระ 3.ยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ-แผนปฏิรูปประเทศ และ 4.ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 2557 และป้องกันการรัฐประหารในอนาคต ซึ่งคาดหวังว่า ส.ส.จะให้ความเห็นชอบ ส่วน ส.ว.เข้าใจดีว่าอาจเป็นเรื่องยากลำบากที่จะโหวตเห็นชอบในชั้นรับหลักการได้ แต่เชื่อว่าคงมี ส.ว.ที่ตระหนักถึงประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก
นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า แปลกใจที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปัจจุบันทุกครั้ง ต้องถาม ส.ว.ก่อนว่าจะให้ผ่านหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดประหลาด กลายเป็นว่า ส.ว.เพียงไม่ถึง 100 คนสามารถสกัดขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญเสมอ ถ้า ส.ว.ต้องการมีบทบาททางการเมืองต่อไป เรามีสนามทางการเมืองหลายสนาม รวมถึงการดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ในอนาคต ในเมื่อที่มาของคุณไม่ชอบธรรม คิดว่า ส.ว.ต้องเสียสละลงมติ ยุบ ส.ว.ทิ้งไป เข้ามาสู่ระบบปกติ อย่าปล่อยให้ ส.ว.แบบนี้ดำรงอยู่ต่อไป
ต่อมาได้มีการประชุมรัฐสภาร่วมกัน ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธาน เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม โดยนายพริษฐ์ได้กล่าวนำเสนอหลักการและเหตุในการเสนอแก้รัฐธรรมนูญว่า ประเทศไทยเป็นผู้ป่วยร้ายแรง 3 โรค คือ 1.โรคเศรษฐกิจอ่อนแอ 2.โรคเหลื่อมล้ำเรื้อรัง และ 3.โรคประชาธิปไตยหลอกลวง ซึ่งเป็นผลจากไวรัส พล.อ.ประยุทธ์ แต่สิ่งที่อันตรายกว่าไวรัสตัวนี้คือระบอบประยุทธ์ ที่มีรัฐธรรมนูญปี 2560 ปกป้องอยู่ เพื่อสืบทอดอำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์มีกลไกต่างๆ ที่ควบคุมได้เบ็ดเสร็จจาก ส.ว. องค์กรอิสระ ช่วยผูกขาดอำนาจ ไม่ว่าจะบริหารประเทศอย่างไร
นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราต้องการคือ การทำให้ประเทศแข็งแรงผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อฆ่าไวรัส พล.อ.ประยุทธ์ โดยต้องมีรัฐธรรมนูญภาคประชาชน เป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 1 ให้ประเทศไทย โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อคือ 1.ยกเลิก ส.ว.ให้เหลือสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว เพราะ ส.ว.ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย มีอำนาจล้นฟ้า แต่ไม่มีที่มายึดโยงจากประชาชน รัฐสภาดีที่สุดคือรัฐสภาที่ไม่มีวุฒิสภา และมีข้อดีคือช่วยประหยัดงบประมาณประเทศ 2.ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ เพราะตัวแทนคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติไม่มีตัวแทนภาคประชาชน และเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจรัฐบาลประยุทธ์ และเล่นงานคู่แข่งทางการเมือง ส่วนที่ระบุร่างแก้ไขฉบับประชาชนมีความขัดแย้งกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ขัดแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ที่รัฐสภาเห็นชอบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบนั้น เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทำขึ้นก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบจะแก้ไขเสร็จ เรายินดีแก้ไขร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนในชั้น กมธ. ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่เห็นชอบไป
สบช่องด่าศาลไม่เป็นกลาง
นายปิยบุตรชี้แจงว่า 3.การปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาแม้จะอมพระมาพูดว่าศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ มีความเป็นกลาง พูดให้ตายประชาชนก็ไม่เชื่อ เพราะมีที่มาจาก คสช. องค์กรเหล่านี้มีอำนาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนชี้ชะตานักการเมืองได้ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจึงเสนอปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญให้มีที่มาโดยให้ ส.ส.รัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายค้าน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเสนอมาฝ่ายละ 6 คน รวมเป็น 18 คน ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาคัดเลือกเหลือ 9 คน ใช้มติ 2 ใน 3 ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีความถ่วงดุล และแก้ไขเรื่องอำนาจศาลรัฐธรรมนูญให้เหลือเฉพาะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ใดขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ การขัดแย้งระหว่างองค์กรเท่านั้น และให้ยกเลิกอำนาจการตรวจสอบเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ รวมถึงให้มีระบบถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้ แต่ไม่ใช่ให้ถอดถอนกันง่ายๆ มีกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ต้องกังวลว่า ส.ส.จะครอบงำศาลรัฐธรรมนูญ แต่ออกแบบให้มีการถ่วงดุล
นายปิยบุตรกล่าวต่อว่า 4.การล้มล้างผลพวงการรัฐประหาร โดยยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 279 ที่รับรองคำสั่งและการกระทำของ คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่สร้างหลุมดำและความด่างพร้อยให้รัฐธรรมนูญ ต้องยกเลิกมาตราดังกล่าว เพื่อให้การรัฐประหารเป็นโมฆะ ให้ผู้ที่ทำรัฐประหารถูกดำเนินคดี การเสนอเช่นนี้ไม่ได้คิดล้างแค้นใคร แต่เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้นายทหารกล้าทำรัฐประหารอีกต่อไป
“ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นการออกแบบสร้างกติกาเป็นกลาง ไม่ใช่เขียนกติกาเฉพาะคนชนะ กำราบฝ่ายแพ้ให้ราบคาบ ไม่เห็นเหตุผลที่สมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นชอบร่างแก้ไขฉบับประชาชน หากให้ความเห็นชอบวาระ 1 ความเห็นที่แตกต่างกันยังมีโอกาสปรับปรุงในวาระ 2 และถ้าผ่านวาระ 3 ไปได้ ก็ยังมีหนทางร้องศาลรัฐธรรมนูญและทำประชามติ ผมขอให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบลงมติรับวาระหลักการไปก่อน เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ปิดประตูรับรับฟังร่างภาคประชาชน เพื่อให้ได้ศาลรัฐธรรมนูญที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่มีการรับรองการทำรัฐประหาร จะได้ไม่มีคำวินิจฉัยของศาลแบบเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ก่อวิกฤตการเมือง และมีองค์กรอิสระที่เป็นกลาง” นายปิยบุตร กล่าว
จากนั้นเวลา 11.05 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มติของฝ่ายค้านมีความเห็นเป็นเอกฉันท์จะรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญนี้ในวาระที่หนึ่ง ถ้าไม่แก้ โอกาสจะเกิดวิกฤตทางการเมืองสูงมาก คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร นำสู่การปฏิบัติ เป็นเชื้อแห่งความรุนแรง ดูได้จากการถูกยิงจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ผู้ชุมนุมถูกกระสุน 4 ราย เพราะได้อาณัติหรือรัฐธรรมนูญรับรองว่าให้กระทำได้ในการรุกไล่ ปราบปราม เจตนาเข่นฆ่าคนไทยด้วยกัน เกิดวิกฤตทางการเมืองแน่
“ถ้าไม่อาศัยโอกาสนี้แก้วิกฤต ไม่ใช้สภาเป็นเวทีที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายหาทางออกร่วมกัน เกิดวิกฤตแน่นอน ดังนั้น ขอเรียกร้องไปยัง ส.ว. 84 เสียงให้ความเห็นชอบ ถ้าเวทีสภาไม่เป็นที่พึ่งที่หวัง เวทีต่อสู้ที่จะเกิดขึ้นคือท้องถนน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้มีอำนาจวางกับดักเอาไว้ นำสู่การยึดอำนาจวงจรอุบาทว์ ดังนั้น ร่วมกันปลดวิกฤตโดยการรับหลักการวาระหนึ่ง” นพ.ชลน่านระบุ
ต่อมา นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. อภิปรายว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอการปรับโครงสร้างศาลรัฐธรรมนูญ แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลักการรับไม่ได้เยอะ โดยเฉพาะการตัด ส.ว.ให้เหลือแค่สภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว เป็นอันตราย กฎหมายต่างๆ จะบังคับใช้โดยไม่มีวุฒิสภากลั่นกรอง ขณะที่ข้อเสนอการยกเลิกมาตรา 279 ไม่ให้มีการนิรโทษกรรม ป้องกันการรัฐประหารนั้น ไม่สามารถช่วยป้องกันการทำรัฐประหารได้ เพราะสิ่งแรกที่คณะรัฐประหารทำคือยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ ต่อให้แก้ไขอย่างไรก็ไม่สามารถป้องกันรัฐประหารได้
ขณะที่การประชุมรัฐสภาในช่วงบ่าย เริ่มเดือดขึ้น เมื่อนายปิยบุตรชี้แจงยืนยันในการมีสภาเดียว และให้ยกเลิก ส.ว. เพราะที่ผ่านมา ส.ว.เห็นด้วยกับกฎหมายทุกฉบับ ไม่มีครั้งใดที่ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ทำให้นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ลุกขึ้นประท้วงเดือด ระบุว่าไม่อยากจะพูดว่านายปิยบุตรคือผู้ชี้แจง อย่างน้อย ส.ว.ทำตามหน้าที่ และมาตามรัฐธรรมนูญ แต่คนที่กำลังอภิปรายไม่สมควรมาชี้แจงหรือเสนออะไรต่อรัฐสภา เพราะเป็นคนเนรคุณแผ่นดิน จากนั้นฝ่ายค้านลุกขึ้นโต้กลับนายกิตติศักดิ์ว่าทำผิดข้อบังคับการประชุม เพราะก่อนประท้วงต้องบอกด้วยว่านายปิยบุตรทำผิดข้อบังคับการประชุมข้อใด และขอให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภาทำหน้าที่ประธานการประชุมสั่งให้นายกิตติศักดิ์ถอนคำพูด แต่นายกิตติศักดิ์ไม่ยอมจบ โดยกล่าวว่า ขอถอนคำว่าคนเนรคุณเป็นคนที่ต้องการล้มสถาบันแทน ทำให้นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงให้ถอนคำพูด กระทั่งสุดท้ายนายกิตติศักดิ์ได้ถอนคำพูดดังกล่าว จากนั้นนายพรเพชรได้เชิญนายปิยบุตรชี้แจงต่อ
ส.ว.สับรัฐธรรมนูญฉบับไอติม
ต่อมาเวลา 14.00 น. นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ได้ใจความจากการเสนอร่างมีด้วยกัน “4 ก.” คือ เกลียด โกรธ กลัว และเกิน ยกร่างเกินไป เกินกว่าความจริง เกินลงกาไปมาก คณะผู้เสนอร่างด้วยความเกลียด ส.ว. เครือข่ายของระบอบประยุทธ์ และคนที่ตั้ง ส.ว. โกรธ คือโกรธศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีพรรคพวกตัวเอง แต่หากเป็นเครือข่ายอื่นจะโดนอีกแบบหนึ่ง กลัว คือกลัวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งที่ความจริงผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงแล้วว่าสามารถแก้ไขได้ตามสถานการณ์ และเกิน คือเกินไป มรดกรัฐประหาร ถ้าเลวร้ายก็ควรจะล้าง แต่สิ่งที่เสนอคือต้องการล้างทั้งคน ทั้งการกระทำ และทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นมรดก ถ้าเอาความคิดแบบนี้อาจต้องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งหมด
เวลา 14.29 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า ให้สมญาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปฏิวัติ คือ รวมศูนย์ บั่นทอน ควบคุม มีการบั่นทอนความเป็นอิสระของศาล โดยเข้ามาควบคุมงบประมาณ ควบคุมคน ควบคุมการวินิจฉัย ควบคุมการถอดถอน มีการห้ามศาลรัฐธรรมนูญขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรบังคับใช้กฎหมายเกินขอบเขตต่อศาล ส่วนการออกแบบถ่วงดุลสภา โดยให้ฝ่ายค้านถ่วงดุลฝ่ายรัฐบาลนั้น ถามว่าเพียงพอหรือไม่ ระหว่างการให้ฝ่ายค้านถ่วงดุลรัฐบาล กับการถ่วงดุลของผู้ถืออำนาจอธิปไตยที่อยู่ต่างองค์กร ด้านที่ถูกบั่นทอนเท่ากับสิ่งที่เติมเข้ามาหรือไม่
“มุ่งแก้แต่รัฐประหาร แต่ไม่ดูสาเหตุการรัฐประหารที่บางครั้งเป็นพฤติกรรมของรัฐบาลหรือนักการเมืองในสภา บางครั้งเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่พรรคการเมือง การแก้ปัญหาด้านเดียว สิ่งที่จะได้มาอาจได้ระบบเผด็จการในสภาผู้แทนราษฎร เป็นสิ่งที่ต้องใคร่ครวญให้หนักก่อนจะตัดสินใจโหวต” นายคำนูณระบุ
ต่อมานายปิยบุตรได้ชี้แจงอีกครั้งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ปฏิวัติที่ล้มจากเดิมไปทั้งฉบับ แต่คือปฏิรูป เราแก้ไขรายมาตราที่เป็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญ 2560 ประเทศไทยยังคงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบเดิมทั้งหมด ส่วนที่บอกว่าร่างแก้ไขฉบับนี้บั่นทอนความเป็นอิสระของศาลโดยปรับโครงสร้างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก็เพื่อทำให้เกิดดุลยภาพในการตรวจสอบของคนตรวจสอบอีกที ไม่ให้มีการแทรกแซง โดยรัฐธรรมนูญนี้ไปแก้ปัญหา การรวมศูนย์ องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แก้ปัญหาบั่นทอนประชาธิปไตย แก้ปัญหาการควบคุมกลไกต่างๆ ที่ไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน
ในช่วงเย็น บรรยากาศกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง เมื่อ น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ผู้นำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ชี้แจงบางช่วงที่กล่าวพาดพิงไปถึงร่างกฎหมายต่างๆ รวมถึงการประท้วงของแกนนำราษฎร ทำให้ ส.ว.หลายคนลุกขึ้นประท้วง ขณะเดียวกัน ส.ส.พรรคก้าวไกลก็ออกมาตอบโต้ ส.ว.ดังกล่าว ซึ่งมีการประท้วงและขอให้ถอนคำพูด รวมทั้งขู่ฟ้องกันวุ่นวาย ก่อนที่นายชวนจะตัดบทให้จบเพื่อให้การอภิปรายดำเนินต่อไป
จากนั้นเวลา 19.00 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ระบบวุฒิสภาประเทศไทย เป็นผลพวงจากการทำรัฐประหาร เพื่อมากำกับอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ว.เป็นป้อมปราการของชนชั้นนำในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องถูกถอดรื้อออกไป เครือข่ายนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอันตรายนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะใช้อำนาจโดยไม่ต้องรับผิดชอบ แตะต้องไม่ได้ ถึงเวลาต้องช่วยออกแบบการเมืองใหม่ ให้แบ่งแยกการตรวจสอบถ่วงดุล ยึดโยงกับประชาชน มิเช่นนั้นความขัดแย้งในสังคมจะคลี่คลายไม่ได้ ไม่สามารถปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยกัดกินสังคมไทยต่อไปได้ สภาวะเช่นนี้อันตรายต่อสังคมไทย ขอชวนสมาชิกโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ส่งสัญญาณถึงชนชั้นนำให้ตั้งสติ หยุดผลักดันให้คนเห็นต่างเป็นคนล้มล้างการปกครอง สังคมไทยสามารถรักษาสิ่งที่รักหวงแหนได้ โดยไม่ต้องทำลายสิทธิเสรีภาพประชาชน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน