3นิ้วชงกมธ.สอบสลายม็อบ

ม็อบ

ม็อบเอเปกรัดคอ "ชัชชาติ" แจงยิบเปิดพื้นที่แสดงออกเป็นสัดส่วน ดีกว่าปล่อยไปสร้างปัญหาที่อื่นยิ่งรับมือยาก เผย "กทม." สรุปบทเรียนกางแผนรับมือในอนาคต เล็งจัดให้สองฝ่ายมาเจอกัน ยันดูแล ปชช.เท่าเทียมอย่าตั้งธงโยงการเมือง ขณะที่กลุ่มราษฎรโยนเรื่องเข้า กมธ.การเมือง เล็งเรียกสอบกราวรูดหน่วยงานมั่นคงยัน "บิ๊กตู่" เข้าชี้แจง ด้าน “พม.-มท.” โยนกันวุ่นเจ้าภาพเตะแอมเนสตี้พ้นไทย

เมื่อวันจันทร์ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎรหยุดเอเปก 2022 ที่ชุมนุมที่ลานคนเมืองว่า ได้มีการหารือกับฝ่ายความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง และการเปิดพื้นที่ลานคนเมืองเราไม่ได้คิดเอง ได้มีการหารือกับตำรวจซึ่งตำรวจก็เห็นด้วย จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเป็นพื้นที่ที่สามารถให้คนมาแสดงออกได้ จากที่เราสังเกตมีการลดความขัดแย้งที่อยู่บนท้องถนนหรือปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ยืนยันว่าสิ่งที่เราทำ เราถือว่าได้มีการคิดละเอียดแล้ว อาจจะมีข้อที่มีปัญหากรณีที่มีผู้ชุมนุมขยับออกไปและเกิดการปะทะขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้เกิด

 “แต่ต้องเรียนว่ายังดีกว่าที่ไม่มีพื้นที่ จะง่ายมากสำหรับ กทม.ที่ไม่ให้ชุมนุม เป็นเรื่องง่ายเลย และเป็นการโยนภาระให้คนอื่น เพราะกลายเป็นว่าเมื่อไม่มีที่ชุมนุมที่เป็นสัดส่วน คนต้องไปชุมนุมที่อื่น ยิ่งไปสร้างปัญหา คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะไปชุมนุมที่ไหน การรับมือยิ่งลำบากมากขึ้นอีก ซึ่งการอาศัยการกำหนดพื้นที่ให้เขาสามารถมาแสดงออกได้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกัน แต่อาจจะมีจุดที่เกิดข้อผิดพลาดขึ้นบ้างหรือข้อกระทบกระทั่ง ก็เป็นบทเรียนที่เราต้องพัฒนาขึ้น" นายชัชชาติกล่าว

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อว่า ในส่วน กทม.บทเรียนที่ได้มีการคุยกันของเรื่องจุดชุมนุม คือปัญหาเกิดจากตอนที่คนจะออกจากลานคนเมืองไปยื่นหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยอนาคตเราสามารถจะจัดให้ 2 ฝ่ายมาเจอกันได้หรือไม่ สำหรับการประชุมที่มีตัวแทนจากต่างประเทศ จัดให้มีตัวแทนจากต่างประเทศมาเจอผู้ชุมนุมที่ลานคนเมืองได้หรือไม่ จะได้ไม่ต้องมีข้ออ้างออกจากพื้นที่  หรือจัดตัวแทนผู้ชุมนุมให้ยื่นหนังสือให้กับคนที่เขาอยากเจอได้หรือไม่ จะได้ลดความขัดแย้งและความเคลื่อนไหว  นอกจากนี้ประเด็นที่ผู้ชุมนุมจะเสนอ เราเองก็ยังไม่ชัดเจนว่าต้องการอะไรในรายละเอียด เราอาจจะเข้าไปสรุปประเด็นว่าเขาต้องการอะไร จะได้ทำให้ข้อเสนอชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ กทม.สามารถช่วยทำให้การประชุมครั้งหน้ามีประสิทธิภาพขึ้น แต่ตนเชื่อว่า การมีพื้นที่ชุมนุมเป็นสัดส่วนเป็นเรื่องที่ดี เป็นช่องที่หายใจได้

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า เราไม่ได้สนับสนุนใคร เราดูแลประชาชนทุกคนเท่าเทียมกัน อย่าไปโยงเรื่องประเด็นการเมือง หากจะมีการชุมนุมสนับสนุนเอเปกเราก็ไม่ว่า  เพราะเนื้อหาเราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เราอยู่ตรงนี้เราเป็นกลาง เพราะเรามีความไม่ได้ทะเยอทะยานทางการเมือง  เราเป็นอิสระ และเชื่อว่าสิ่งที่ทำก็เพื่อประโยชน์สูงสุดของกรุงเทพมหานคร ทำเพื่อให้การประชุมเอเปกครั้งนี้ในแง่ของการประชุมจัดไปได้อย่างราบรื่น ถึงแม้จะมีการกระทบกระทั่งกัน แต่ก็ไม่ได้บานปลายขนาดที่ทำให้กระทบกับการประชุม ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่สนับสนุนม็อบ ไม่มีความฝักใฝ่ฝ่ายใด

 “เราดูแลทุกคนเท่าเทียมกัน อย่าเอาไปเป็นประเด็นการเมือง ผมเองไม่สนับสนุนใครเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราอยู่ตรงนี้ถือว่าเป็นผู้ว่าฯ ของทุกคน ผมต้องรับใช้คนกรุงเทพฯ ทุกคน และหน้าที่เราคือประคองสถานการณ์ให้ผ่านเอเปกไปให้เรียบร้อย ไม่มีผลกระทบกับการประชุม ซึ่งผมเชื่อว่าที่ผ่านมาเราทำได้ดีในระดับหนึ่ง และมีพื้นที่ให้คนแสดงออกได้ พื้นที่ตรงนี้ถือว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการก็สะดวกเพราะมีทางเข้าทางออกอย่างจำกัด  ทำให้เราดูแลผู้ชุมนุมได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคงต้องทบทวนกับฝ่ายความมั่นคงว่า จุดตรงนี้มีอะไรที่จะปรับปรุงหรือไม่ ในอนาคตคิดว่าพื้นที่นี้มีความเหมาะสมอีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต” นายชัชชาติระบุ

ที่รัฐสภา ตัวแทนแนวร่วมราษฎรนำโดย นายอานนท์  นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน นายบารมี ชัยรัตน์  แกนนำกลุ่มสมัชชาคนจน นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข  แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เดินทางมายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง  การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรหยุดเอเปก  2022 ที่บริเวณถนนดินสอ เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา

โดยนายบารมีกล่าวว่า มาเรียกร้องให้ กมธ.ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ผู้กำกับการ สน.สำราญราษฎร์, ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.)  รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นประธานจัดการประชุมเอเปกเข้ามาชี้แจง

ด้านนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. เป็นตัวแทนรับหนังสือพร้อมกล่าวว่า วันที่ 24 พ.ย.นี้ กมธ.จะนำกรณีดังกล่าวบรรจุเข้าสู่วาระการประชุม พร้อมเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาสืบถามข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ อีกทั้งเวลา 11.00 น.ก่อนการประชุม ก็จะมีกลุ่มสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับบาดเจ็บในการชุมนุมดังกล่าว มาส่งมอบพยานหลักฐานเอกสารต่างๆ ที่รัฐสภาด้วย

มีรายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 24 พ.ย.นี้ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) นำโดยนายอานนท์  กลิ่นแก้ว ประธาน ศปปส.เตรียมจะเดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทย และยื่นหนังสือต่อนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อพิจารณาเพิกถอนสัญญาแอมเนสตี้ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทย ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

โดยนายอานนท์ระบุว่า ศปปส.ได้รับหนังสือตอบกลับจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร.0105.04/43146 โดยสำนักงานปลัดฯ ได้ประสานส่งเรื่องให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบรับไปพิจารณาแล้ว แต่ผลปรากฏว่า พม.แจ้งว่าไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงกับเรื่องที่ร้องมา และชี้แจงว่าให้ไปที่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งในวันดังกล่าวผู้ร้องก็ได้เดินทางต่อไปยังกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็แจ้งมาอีกว่า เรื่องที่ร้องนั้นกระทรวงมหาดไทยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง โดยชี้แจงว่าต้องไปที่กระทรวงแรงงาน ดังนั้น ศปปส.จึงทำหนังสือมายังนายสุชาติตามคำชี้แจงของกระทรวงมหาดไทย

อย่างไรก็ตาม ศปปส.ระบุด้วยว่า ในวันที่ 22 พ.ย. จะเข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย ให้ตรวจสอบนายชัชชาติ จากกรณีเปิดพื้นที่ลานคนเมืองให้ผู้ต้องหาและจำเลยในมาตรา 112 ได้มีพื้นที่ซ่องสุมกำลัง ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบันอย่างนายชัชชาติ รู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่ และ/หรือเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามที่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง