BTSทวงหนี้‘ชัชชาติ’โยนสภาเคาะ

"บีทีเอส" ไม่ทน ปล่อยคลิปทวงหนี้สายสีเขียว  4 หมื่นล้าน จวกผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา เล็งปล่อยคลิปทวงหนี้บนรถไฟฟ้าและสถานีรถไฟฟ้าของบีทีเอสทุกแห่งเป็นเวลา 15 วัน "ชัชชาติ" โยนสภา กทม.อนุมัติการชำระหนี้ อ้างต้องผ่านกระบวนการถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มเผยแพร่คลิปวิดีโอทวงหนี้  40,000 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุข้อความว่า “คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน… ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน… ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา…อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน#ติดหนี้ต้องจ่าย”

สำหรับเนื้อหาในคลิปวิดีโอดังกล่าว นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์  จำกัด (มหาชน) ระบุว่า “จ่ายเงินที่ควรจ่าย 3 ปีกว่า  จำนวนเงิน 40,000 กว่าล้าน เพราะเอกชนผู้ลงทุนจ่ายทุกวัน พนักงานก็ต้องจ่าย ค่าไฟต้องจ่าย ผู้ที่มีอำนาจ บริหารประเทศอยู่ ไม่ว่าจะเป็น กทม.หรือการเมืองของประเทศต้องเข้ามาดูได้แล้ว ดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน ท่านใดที่อยู่ในอำนาจควรคิดได้แล้วว่า ดอกเบี้ยที่ต้องเสียไป ยังไงก็ต้องจ่ายผม มันเป็นสิ่งที่ใครเสียหาย"

 “ผมเชื่อว่าประชาชน ภาษีเราเสียหาย อย่าปล่อยให้มันลอยไปลอยมาอย่างนี้ จะเอาอย่างไร เพราะสิ่งหนึ่งที่เราไม่ทำอยู่อย่างเดียวก็คือว่า เราไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน  ผมรับปากกับประชาชนว่าผมจะไม่ยอมหยุดรถ เพราะหยุดรถนี่ความเสียหายเกิดกับประชาชน ไม่ได้เกิดกับผมอย่างเดียว ไม่ได้เกิดกับนักการเมืองคนไหน ผมเชื่อว่าผู้โดยสารของผมคงเข้าใจผม" นายคีรีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บีทีเอสมีกำหนดจะเปิดคลิปวิดีโอดังกล่าวบนรถไฟฟ้า และสถานีรถไฟฟ้าของบีทีเอสทุกแห่งเป็นระยะเวลา 15 วัน

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงกรณี “บีทีเอสซี” เผยแพร่วิดีโอเรียกร้องให้ภาครัฐชำระหนี้คืนบริษัทกว่า 40,000  ล้านบาทว่า มีเพียงประเด็นกฎหมาย จากที่ข้อบัญญัติ  กทม.ระบุว่า การสร้างภาระหนี้ผูกพันงบประมาณจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา กทม.ก่อน จะเห็นว่าสภา กทม.ยังไม่ได้เห็นชอบทำสัญญาจ้างเดินรถ และติดตั้งงานระบบ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ จึงมีการทำหนังสือเพื่อสอบถามทางสำนักงานเลขาธิการสภา กทม.ว่า  ส่วนนี้ผ่านการอนุมัติจากสภา กทม.แล้วหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องมีการทำสัญญาใหม่ให้เรียบร้อยก่อน

 “เข้าใจว่าได้มีการส่งหนังสือไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือไม่ก็ภายในสัปดาห์นี้ โดยส่วนของมูลหนี้จากส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 เหลือเพียงแต่ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้ดำเนินการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ที่ 3/2562 ที่ต้องการนำมูลหนี้ไปรวมกับการต่อสัญญาสัมปทาน ยืนยันว่าใจเราไม่ได้มีปัญหา กทม.เป็นหนี้ก็ต้องจ่าย แต่ต้องเป็นหนี้ที่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ขณะที่การรับโอนทรัพย์สินในส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ก็ถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพันเช่นเดียวกัน ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภา กทม.เช่นเดียวกัน ดังนั้นหากไม่ผ่านสภา กทม.จะต้องทำให้ถูกกฎหมาย ถ้าจะเป็นการสร้างหนี้ในอนาคตก็ต้องผ่านทางสภา กทม. อาจจะต้องทำสัญญาใหม่ แนวคิดของผู้บริหารชุดปัจจุบันถือว่าเป็นการก่อหนี้ผูกพัน จะต้องให้สภา กทม.เห็นชอบก่อน ไม่ใช่พอทำสัญญาแล้วก็บังคับให้สภา กทม.เป็นผู้อนุมัติเงิน จะเป็นการทำผิดตามข้อบัญญัติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท