"วีระกร" เชื่อ "บิ๊กตู่" ไม่ไป รทสช. ย้อนถามอยู่พรรคเล็กจะเหมาะหรือ ถ้าได้ ส.ส.ไม่ถึง 25 คนก็จบ มั่นใจมา พปชร.ดีกว่า ท้าพนันคนละ 1 โต๊ะจีน หึ่ง "บิ๊กป้อม" ชวน ส.ส.ศท.กลับ พปชร. ขณะที่ "ปชป." ระส่ำอีก "สมบูรณ์" จ่อยื่นหนังสือ "จุรินทร์" แฉทำโพลคัดเลือกผู้สมัครเขต 4 จ.ตรังไม่สุจริต ดึงสติหากให้ความเป็นธรรมกับสมาชิกไม่ได้จะให้ความยุติธรรม ปชช.ได้อย่างไร "ก้าวไกล" ลุยภูเก็ต ชูธงปลดล็อกท้องถิ่น "ธนาธร" อ้อนผลักดันให้เป็นรัฐบาล "พรรคเล็ก" จี้ยุบสภาก่อนสิ้นปี 65 "นิด้า" โพลชี้คนภาคตะวันออกหนุน "อุ๊งอิ๊งค์" เป็นนายกฯ
เมื่อวันอาทิตย์ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ระบุว่ารอจังหวะถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้า รทสช.หลังหมดช่วงประชุมเอเปก จะมีการคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร.ถึงเรื่องนี้หรือไม่ ว่าไม่มีการพูดคุยเลย เพียงแค่เรียนท่านเพื่อพิจารณาเฉยๆ หลังจากที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาว่าท่านอยู่ได้แค่ 8 ปี คือถึงเดือนเมษายน 2568 หากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาผู้แทนราษฎรในช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 ก็จะอยู่ได้อีกแค่ 1 ปี 9 เดือน ดูแล้วไม่คุ้ม เพราะหลังจาก 1 ปี 9 เดือนไปแล้วก็ต้องมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีใหม่อีก สู้มาแตะมือแบ่งกันทำงานดีหรือไม่
“หากแตะมือแบ่งกันทำงาน ลุงตู่ก็ยังมีบารมีเหมือนเดิม เป็นรองนายกรัฐมนตรี ความสำคัญก็ไม่ได้หย่อนไปกว่ากันเหมือนตอนที่ท่าน พล.อ.ประวิตรเป็น ตอนนี้ทุกคนก็รู้จัก และมีความเกรงใจท่านทั้งสองเท่าๆ กัน จึงเป็นที่มาของการเชิญท่านมา ถ้าท่านอยากช่วยงานลุงป้อมก็ขอให้เข้ามาเป็นสมาชิก พปชร. พรรคที่จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นนายกฯ นั้น เชื่อว่าถ้าจะมาท่านมา พปชร.ดีกว่า เพราะ พปชร.ยังไงก็เป็นแกนนำรัฐบาล จะไปอยู่พรรคเล็กๆ อย่างรวมไทยสร้างชาติมันจะเหมาะสมหรือไม่ จะได้ ส.ส.ถึง 25 คนพอเสนอชื่อท่านเป็นนายกฯ หรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าไม่ถึง 25 คนก็จบแค่นั้น ซึ่งลุงตู่ท่านไม่เล่นการเมือง ท่านไม่ได้สังกัดพรรค ฉะนั้นผมจึงกล้าท้าพนันกันคนละ 1 โต๊ะจีนเลย แต่ก็ไม่มีใครรับคำท้า” นายวีระกรกล่าว
เมื่อถามว่า มองว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ไปร่วมกับพรรค รทสช.จริงๆ นั้น จะมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร นายวีระกร กล่าวว่า ไม่มี แต่ถ้ามาอยู่กับ พปชร. ก็แน่นอนเหมือนหนุนให้ พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ เพราะความศรัทธาที่ประชาชนมีต่อท่านในหลายกลุ่ม ซึ่งหากท่านอยู่พปชร. เป็นประโยชน์แน่นอน เพียงแต่ท่านจะมีความคิดว่าอยากมาช่วย พล.อ.ประวิตรหรือไม่ คิดว่ามีอยู่สองทางเลือก คือท่านก็ลอยตัวเหมือนเดิม รอให้คนเสนอชื่อเฉยๆ แต่ไม่สังกัดพรรคกับท่านยอมสังกัดพรรคสักที มาช่วย พล.อ.ประวิตรเป็นนายกฯ เท่านั้น แต่ทางเลือกที่จะไป รทสช.อย่างไรก็ไม่มี ไม่มีโอกาสและไม่มีเปอร์เซ็นต์เลย แต่จะมา พปชร.หรือไม่ก็ 50:50
'ป้อม'ชวนสส.ศท.กลับพปชร.
มีรายงานว่า จากกำหนดการเดิมวันที่ 21 พ.ย. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.กำแพงเพชร เพื่อติดตามการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด พร้อมมอบนโยบายและข้อสั่งการที่โรงเรียนปางศิลาทองศึกษา ต.โพธิ์ทอง อ.ปางศิลาทอง และลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่อทองแดง ต.หนองปลิง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาวังบัวน้ำ ต.เทพนคร ก่อนกลับ กทม. โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป., นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ในฐานะเลขาธิการพรรคพปชร., นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค รวมคณะ นอกเหนือ ส.ส.กำแพงเพชร พปชร.รอต้อนรับแล้ว มีรายงานข่าวว่า ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยหลายคนเตรียมไปต้อนรับด้วยเช่นกัน ท่ามกลางกระแสข่าวพล.อ.ประวิตรต้องการให้กลับเข้าพรรคพปชร.
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรค อดีต รมช.มหาดไทย, นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.จังหวัดพัทลุง และคณะ “จุรินทร์ ออนทัวร์ จังหวัดชายแดนใต้” เข้าร่วมงานประชุมสมาชิกพรรค "รวมพลังประชาธิปัตย์ ปลายด้ามขวาน" ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ม.ราชภัฏยะลา พร้อมเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. 12 เขตของ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ด้วยบรรยากาศที่คึกคัก มีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก พร้อมกับได้เปิดตัวผู้สมัคร ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 12 คน
โดยนายจุรินทร์กล่าวว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้คราวที่แล้วเราได้ที่นั่งเดียว แต่ครั้งหน้าตนมั่นใจว่าเราได้มากขึ้น สิ่งหนึ่งที่ขอยืนยันร่วมกับเลขาธิการพรรค ร่วมกับท่านนิพนธ์ บุญญามณี ว่าเลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์สู้ทุกเขต และเราเชื่อว่าผู้สมัครทุกคนในที่นี้มีโอกาสปักธงประชาธิปัตย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอพี่น้องอย่าทิ้งพวกเรา และพวกเราไม่เคยทิ้งพี่น้องจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.ตรัง 4 สมัย พรรค ปชป. เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าตนจะทำหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค เพื่อแจ้งให้ทราบถึงขั้นตอนความไม่ชอบมาพากลของการทำโพลสำรวจคะแนนนิยมของปชป. ที่ทำในเขตเลือกตั้งที่ 4 จ.ตรัง ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของผู้ใหญ่ในพรรค เช่นนายชวน หลีกภัย หลังการทำโพลได้มีการเปิดเผยแค่ผลโพลว่า ตนพ่ายแพ้คู่แข่งขัน ทั้งยังประกาศผลว่าจะส่งผู้ที่ชนะโพลพรรคให้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ตรัง เขต 4 ในนาม ปชป. ซึ่งมีเหตุน่าสงสัยหลายเรื่องว่าทำโพลที่ไม่สุจริต การทำโพลครั้งนี้ไม่โปร่งใส ข้อมูลที่ได้จึงไม่ได้มาจากประชาชนในพื้นที่ที่แท้จริง
"การทำหนังสือครั้งนี้ ไม่ได้อยากให้ปชป.กลับผลการพิจารณาผู้สมัคร ส.ส.ในนามพรรคมาเป็นชื่อผม แต่อยากให้ผู้บริหารพรรคบริหารจัดการด้วยความโปร่งใส ให้คำตอบต่อสังคมต่อประชาชนได้เห็นหลักธรรมาภิบาล เมื่อพรรคไม่สามารถให้ความโปร่งใสยุติธรรมกับผมที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรค และเป็นสมาชิกพรรคที่ดีได้แล้ว พรรคจะไปให้ความยุติธรรมกับประชาชนทั่วไปได้อย่างไร เชื่อว่าผู้ที่ได้มาด้วยความไม่ชอบธรรม ไม่สามารถเป็นตัวแทนประชาชนได้อย่างมีเกียรติ เงยหน้าไม่กล้ามองฟ้า ก้มหน้าไม่อาจมองดิน" นายสมบูรณ์กล่าว
อ้อนคนภูเก็ตเลือกก.ก.เป็นรบ.
ที่ห้องประชุม โรงแรมดารา อำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล (ก.ก.) จัดกิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ ส่งเสริมความรู้ที่ก้าวหน้าแก่สมาชิกพรรคก้าวไกล โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, นายชัยธวัช ตุลาธน, นายศรายุทธิ์ ใจหลัก มีสมาชิกพรรค ก.ก.จังหวัดภูเก็ต และว่าที่ผู้สมัครพรรค จ.ภูเก็ต เข้าร่วมกว่า 100 คน
นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก.ก. กล่าวว่า นโยบายกระจายอำนาจหรือยุติระบบราชการรวมศูนย์เพื่อให้ทุกจังหวัดมีอำนาจจัดการตัวเอง เป็นนโยบายหลักของพรรคก้าวไกล ถ้าประเทศอยากจะเดินหน้าไปมากกว่านี้ พรรคก้าวไกลและผู้นำท้องถิ่นภาคประชาสังคมต่างๆ ได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกท้องถิ่นด้วย ทำไปแล้วจะเข้าสภา ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้าสภาในวันที่ 29-30 พ.ย.นี้ อยากเชิญชวนชาวภูเก็ตและทั่วประเทศที่เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ การยุติระบบราชการแผ่นดินที่รวมศูนย์
ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวตอนหนึ่งว่า พวกเราตั้งมั่นอยู่ในอุดมการณ์ประชาธิปไตย ต้องการสร้างประเทศที่มีความเสมอภาคที่มีความเป็นธรรม ทรัพยากรของประเทศถูกใช้ไปเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ การพัฒนากระจายทั่วถึง เราอยากสร้างประเทศไทยที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มีเทคโนโลยีของตัวเอง เราอยากจะปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตย ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ พวกเราขอความสนับสนุนจากพ่อแม่พี่น้องชาวภูเก็ต สนับสนุนพวกเราดูสักครั้งหนึ่ง ถ้าทำงานได้ไม่ดีกับคะแนนที่ทุกท่านมอบให้เรา รอบหน้าค่อยหยุดก็ได้ ขอให้ผลักดันพรรคก้าวไกลให้เป็นรัฐบาลให้ได้
นายแสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม ผู้เสนอตัวสมัคร ส.ส.กทม. พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงการลงพื้นที่หาเสียงตามกรอบเวลา 180 วัน ก่อนครบอายุของรัฐสภา ว่า ขณะนี้พบว่าหลายพื้นที่เริ่มมีการหาเสียงที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ในรูปแบบหาเสียงผ่านโครงการของรัฐหรือไม่ โดยมีรายงานว่า พบการเก็บบัตรประชาชน ถ่ายเอกสาร งบต่อหัวละ 200 บาท อ้างโครงการสัมมนาพัฒนาอาชีพ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม โดยในงานพบว่ามีว่าที่ผู้สมัครและ ส.ส.ปรากฏตัวแนะนำตัวในงานด้วย
"การหาเสียงรูปแบบนี้ปรากฏต่อเนื่องหลายเขตพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ถ้าเป็นโครงการสัมมนาใช้งบประมาณของรัฐ แล้วมีผู้สมัครหรือ ส.ส.บางพรรคไปปรากฏตัว แนะนำตัว นอกจากจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายเรื่องการใช้ทรัพยากรของรัฐหาเสียงแล้ว ตัวเจ้าหน้าที่ ผู้ดำเนินโครงการ อาจเข้าข่ายกระทำผิดฐานวางตัวไม่เป็นกลางด้วย โดยวันที่ 21 พ.ย.65 เวลา 14.00 น. จะรวบรวมหลักฐานไปยื่นให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดำเนินการต่อไป" นายแสนยากรณ์กล่าว
นายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภาก่อนสิ้นปี 2565 หลังจากรัฐบาลเสร็จสิ้นภารกิจเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกแล้ว เนื่องจากมองว่า ส.ส.อยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ ควรยุบสภาเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกตัวแทนเข้ามาทำหน้าที่
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “คนที่ใช่ พรรคที่ชอบ ของคนภาคตะวันออก” สำรวจระหว่างวันที่ 7-10 พ.ย. 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,001 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามถึงบุคคลที่คนภาคตะวันออกจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 25.09 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะต้องการให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบนโยบายของพรรคเพื่อไทย ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานของตระกูลชินวัตร
อันดับ 2 ร้อยละ 16.64 ระบุว่าเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ ชื่นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล ชื่นชอบอุดมการณ์ของพรรคก้าวไกล, อันดับ 3 ร้อยละ 13.64 ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนซื่อสัตย์ สุจริต ต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง และมีประสบการณ์ด้านการบริหาร, อันดับ 4 ร้อยละ 13.09 ระบุว่ายังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้, อันดับ 5 ร้อยละ 8.50 ระบุว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย), อันดับ 6 ร้อยละ 7.25 ระบุว่าคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย), อันดับ 7 ร้อยละ 2.80 ระบุว่าเป็นนายกรณ์ จาติกวณิช (พรรคชาติพัฒนากล้า), อันดับ 8 ร้อยละ 2.35 ระบุว่าเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย), อันดับ 9 ร้อยละ 1.60 ระบุว่าเป็นนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ (พรรคประชาธิปัตย์) และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว (พรรคเพื่อไทย)
ส.ว.จ่อตีตกประชามติแก้ รธน.
ด้านพรรคการเมืองที่คนภาคตะวันออกมีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 33.68 ระบุว่าเป็นพรรคเพื่อไทย, อันดับ 2 ร้อยละ 19.09 ระบุว่าเป็นพรรคก้าวไกล, อันดับ 3 ร้อยละ 16.24 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจ, อันดับ 4 ร้อยละ 10.00 ระบุว่าเป็นพรรคพลังประชารัฐ, อันดับ 5 ร้อยละ 7.30 ระบุว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์, อันดับ 6 ร้อยละ 4.10 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย, อันดับ 7 ร้อยละ 2.85 ระบุว่าเป็นพรรคไทยสร้างไทย, อันดับ 8 ร้อยละ 2.70 ระบุว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย, อันดับ 9 ร้อยละ 1.00 ระบุว่าเป็นพรรคสร้างอนาคตไทย และร้อยละ 3.04 ระบุอื่นๆ
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงประเด็นขอให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ เพื่อแทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ 2560 ซึ่งได้ผ่านการลงมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ไปแล้วของสภาผู้แทนราษฎร ปัจจุบันได้ถูกบรรจุเข้าในระเบียบวาระของวุฒิสภา ซึ่งกำลังจะพิจารณาในวันที่ 21 พ.ย. ในฐานะโฆษกของพรรคก้าวไกล ที่ได้เสนอญัตตินี้ เรามีความตั้งใจให้การทำประชามติครั้งนี้ ทำขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งที่จะมาถึง เพื่อให้การเข้าคูหาของพี่น้องประชาชนเกิดความสะดวก ทำพร้อมกันในคราวเดียว และการจัดการลงประชามติที่หากเกิดขึ้นพร้อมกันกับการเลือกตั้งก็จะประหยัดเงินภาษีของพี่น้องประชาชน
ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ กรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาญัตติของสภา เพื่อให้ ครม.ทำประชามติถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ไม่เห็นด้วยการทำประชามติมี 2 ทางคือ ก่อนเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้ง หากทำในวันเดียวกับที่มีการเลือกตั้งจากประสบการณ์แล้วอาจทำให้ผู้มาใช้สิทธิสับสน และการตั้งคำถามประชามติ อาจทำให้ประชาชนสับสนได้ ส.ว.ที่มีหน้าที่ลงมติสุดท้าย ส่วนตัวเห็นด้วยกับการทำประชามติ แต่ไม่อยากให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือการเมือง
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. เปิดเผยว่า วันที่ 21 พ.ย. เวลา 09.00 น. วิปวุฒิสภามีประชุม สำหรับการพิจารณาญัตติของสภาเพื่อให้ ครม.ทำประชามติถามความเห็นประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยังไม่ทราบว่าจะให้ลงมติในวันที่พิจารณาหรือตั้งกรรมาธิการเพื่อศึกษา เบื้องต้นยังไม่มีผู้ใดที่เสนอให้ตั้งกรรมาธิการ ดังนั้นขึ้นอยู่กับการอภิปรายของ ส.ว. โดยตามวาระคือเรื่องที่เสนอให้พิจารณาเท่านั้น กรณีที่มีผู้เสนอให้ทำประชามติวันเดียวกับวันเลือกตั้ง ส่วนตัวมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำของระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.และกฎหมายประชามติ อีกทั้งการทำประชามติเป็นคนละวัตถุประสงค์กับการเลือกตั้ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อิ๊งค์รับนายกฯ2คน! ไม่เกี่ยง‘ทักษิณ’ตัวจริง ปชน.โวซักฟอกน็อกรบ.
“นายกฯ อิ๊งค์” ยันไม่มีแผนปรับ ครม. คุย “พีระพันธุ์” ปกติ เมินกระแสเหน็บนายกฯ
ไฟเขียวงบ69วงเงิน3.78ล้านล.
ครม.เคาะกรอบงบประมาณปี 69 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท ขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท
‘สว.พันธุ์ใหม่’หนุนแก้รธน.ฉบับส้ม
"อนุทิน" ย้ำจุดยืนตลอดกาลแก้ รธน.ไม่แตะหมวด 1-2 ท่าที สส.ภูมิใจไทยไม่เกี่ยว สว. "ไอติม" พร้อมพูดคุยทุกฝ่ายทำความเข้าใจร่างฉบับ
ค่าไฟ3.7บาทเป้ารัฐบาล หวยพิเศษหาเงินหมื่นล.
"นายกฯ อิ๊งค์" ชี้ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทเป็นเป้าหมายรัฐบาลอยู่แล้ว
10วันปีใหม่เมาขับ7พันคดี ขับรถเร็วตายบนถนนพุ่ง
ปิดศูนย์ 10 วันอันตรายปีใหม่ สังเวย 436 ศพ เจ็บ 2,376 ราย
‘อ้วน’สั่งทบทวน หนทางดับไฟใต้ พูดคุยให้ถูกคน
ยังไร้แววเมียนมาปล่อย 4 คนไทย "ภูมิธรรม" ย้ำต้องรอจบกระบวนการ