ร้องศาลปค.เพิกถอน‘กัญชาเสรี’

กัญชาร้อนๆ แพทยสภาจับมือพรรคฝ่ายค้านร้องศาลปกครองสั่งเพิกถอนประกาศ สธ. ถล่มยับปล่อยเสรีที่สุดในโลก ไม่มีกฎหมายควบคุมจนเด็กและเยาวชนก็สามารถเข้าถึงได้ "ก้าวไกล" ร้องผู้ตรวจฯ ชงศาลปกครองซ้ำ

เมื่อวันที่​ 10 พฤศจิกายน 2565 นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน   ประกอบด้วย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ,     นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายวิรัตน์ วรศสิริน รองหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และนายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนชาวไทย     เดินทางมายื่นฟ้องนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคําสั่งให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข  ลงวันที่ 8 ก.พ.2565 เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีการออกประกาศฉบับดังกล่าว และให้กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 8 ธ.ค.2563 เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 พ.ศ.2563 ดังเดิม พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคําสั่งคุ้มครองชั่วคราว ด้วยการทุเลาการบังคับตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว ก่อนการพิพากษาคดีด้วย   

เนื่องจากเห็นว่าการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและ ป.ป.ส.ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 เป็นผลให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป เป็นการกระทําที่ไม่สุจริต และเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ  เพราะการออกประกาศฉบับดังกล่าว ไม่มีมาตรการทางกฎหมายออกมาควบคุม คุ้มครองประชาชนผู้บริโภคเกี่ยวกับกัญชาโดยเฉพาะ ขัดต่อนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาไว้ว่าแก้ปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง ทั้งระบบด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด   ปราบปรามแหล่งผลิตและเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด 

โดยเฉพาะผู้มีอํานาจและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด ป้องกันเส้นทางนําเข้า-ส่งออก โดยร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การลดจํานวนผู้ค้าและผู้เสพยารายใหม่ และให้ความรู้เยาวชนถึงพิษภัยยาเสพติดอย่างต่อเนื่อง  รวมทั้งฟื้นฟูดูแลรักษาผู้เสพผ่านกระบวนการทางสาธารณสุข อีกทั้งการกําหนดดังกล่าวไม่เป็นการชัดเจน กรณีใดจะเป็นใช้ทางการแพทย์หรือทางการนันทนาการหรือไม่เพียงใด การออกประกาศฉบับพิพาทดังกล่าว จึงเป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนเกินสมควร เป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

ผศ.นพ.สมิทธิ์กล่าวว่า เราไม่ได้คัดค้านนโยบายการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ เพราะถึงไม่มีประกาศฉบับนี้ประเทศไทยก็ยังสามารถใช้กัญชาทางการแพทย์ต่อไปได้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2563 เพียงแต่เราต้องการให้มีการเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับปี พ.ศ.2565 ออกไป จนกว่ากระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกกฎหมายควบคุม คุ้มครองประชาชนผู้บริโภค เกี่ยวกับการใช้กัญชาโดยเฉพาะ ให้มีความชัดเจนในการปฏิบัติก่อน เนื่องจากทุกวันนี้รัฐบาลไม่สามารถควบคุมป้องกันการใช้กัญชาในกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ จนกลายเป็นการเปิดการใช้กัญชาอย่างเสรีในหลายชุมชน สร้างปัญหาระยะยาวของสังคมไทย

"ประกาศ สธ.ทำให้กัญชาเสรีจนเกินไป และเสรีที่สุดในโลก ซึ่งไม่มีกฎหมายควบคุม จนเด็กและเยาวชนก็สามารถเข้าถึงได้ โดยกฎหมายฉบับนี้มีความไม่พร้อมไม่สมบูรณ์ด้วย จึงขอบคุณพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เป็นผู้ร่วมยื่นฟ้องร่วมและเขียนคำร้องให้"

ผศ.นพ.สมิทธิ์เผยว่า ประกาศ สธ.ได้นำกัญชาออกจากยาเสพติด ทำให้มีผลกระทบเยอะมาก และไม่มีการใคร่ครวญอย่างดี อีกทั้งการใช้กัญชาทางการแพทย์มีมาตั้งแต่ปี 2563 ยืนยันว่าตนไม่ปฏิเสธกัญชาทางการแพทย์ แต่ประกาศเกินเลยจากทางการแพทย์ไปเยอะมาก

ขณะที่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า สาเหตุที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นพ้องกันว่าต้องร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในการร้องต่อศาลปกครองครั้งนี้ เพื่อให้ตรงวัตถุประสงค์ตามอำนาจหน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัยให้ทุเลา ระงับยับยั้ง หรือคุ้มครองชั่วคราว เพราะภาคประชาชนถือเป็นผู้เสียหาย โดยเฉพาะลูกหลานที่ได้รับผลกระทบ หากฝ่ายนิติบัญญัติดำเนินการยื่นต่อศาลเอง ศาลอาจตีตกได้ เนื่องจากอาจเห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติก็มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการได้

 “เราปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดตั้งแต่เมื่อช่วงเดือน ก.พ.65 แต่ให้ไปเขียนกำหนดในประกาศ สธ. ว่าถ้าจะเป็นยาเสพติดมันควรเป็นอย่างไร เพราะในตัวกัญชายังเป็นสารเสพติดอยู่ การจะไปกล่าวอ้างว่าฝ่ายนิติบัญญัติไปยกเลิกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดแล้วไปทึกทักเอาว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด นั่นคือไม่ชอบ เพราะเราให้กระทรวงสาธารณสุขไปกำหนด แต่กระทรวงสาธารณสุขไปกำหนดว่ากัญชาจะเป็นยาเสพติดเมื่อสาร THC มากกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปเท่านั้น จึงทำให้กัญชาใช้กันอย่างแพร่หลายเสรีที่สุด” ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าว

วันเดียวกันนี้ ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องเรียนการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และเสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมายจากกรณีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 ซึ่งมีผลในการปลดล็อกกัญชาออกจากเป็นพืชยาเสพติดด้วยเช่นกัน

นายวาโยกล่าวว่า ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งไปทางศาลปกครองเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราว โดยการพักใช้ตัวประกาศฉบับลงวันที่ 8 ก.พ.2565 ไปก่อน และยกประกาศวันที่ 8 ธ.ค.2563 มาใช้ได้ ซึ่งตัวประกาศดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับอยู่ ซึ่งตนเห็นว่าประกาศนี้เป็นไปเพื่อทางการแพทย์โดยแท้จริง และไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยที่แพทย์ได้จ่ายยาที่เกี่ยวกัญชาสามารถยังคงใช้อยู่ได้

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า  ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดมาตรการ 5 ด้าน เพื่อสนับสนุนการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย คือ 1.การส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่เหมาะสม 2.การบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การเฝ้าระวังป้องกันการใช้ในทางที่ผิด โดยวางระบบรายงานเฝ้าระวังผลการใช้กัญชา 4.การวางระบบการดูแลรักษาพยาบาลและบำบัดรักษา และ 5.การกำกับติดตามผลการขับเคลื่อนตามมาตรการที่กำหนด นอกจากนี้ สธ.ยังได้ตั้งอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ที่มีบทบาทในการประสานความร่วมมือของหน่วยงานภายในกระทรวง เพื่อให้เกิดการกำกับ ติดตามนโยบายอย่างเป็นระบบ และรายงานต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์

ขณะที่ประชาชนก็มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เครือข่ายภาคประชาชน นำโดยเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย จะมีการแถลงข่าวที่สวนครูองุ่น ทองหล่อ ซอย 3 เพื่อประกาศจุดยืน ถึงความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชาเพื่อการควบคุมการใช้กัญชาในประเทศไทย รวมทั้งมีการเสวนาระดมความคิดเห็น ก่อนจะรวบรวมเพื่อนำเสนอต่อพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ในนามเครือข่ายภาคประชาชนต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง