ไทยเตรียมรับวิกฤตพลังงานระลอกใหม่! กพช.จับตาก๊าซพุ่งแตะ 50 เหรียญสหรัฐฯ เหตุชนวนสงครามรัสเซีย-ยูเครนไร้ทางยุติ ขีดเส้น 2 สัปดาห์จ่อยกระดับมาตรการประหยัดไฟคุมเข้มทันที เล็งกำหนดเวลาปิดปั๊ม-ห้าง พร้อมเคาะแผนพยุงค่าไฟฟ้าปีหน้า
เมื่อวันจันทร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 7/2565 ว่า ในการประชุม กพช.มีหลายอย่างที่เป็นมาตรการที่เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ในวันนี้ ซึ่งสถานการณ์วันนี้วิกฤตกับทุกประเทศในโลก หลายๆ อย่างที่รัฐบาลใช้เวลาในช่วงที่ผ่านมา และเวลานี้เราต้องปรับตัวให้สามารถรับมือสถานการณ์วิกฤตต่างๆ เพราะเราเป็นห่วงโซ่เดียวกันในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน เศรษฐกิจต่างๆ รัฐบาลก็ขอใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวน และปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก โดยทำให้เกิดการตึงตัวของอุปทานก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซล รวมถึงการอ่อนตัวของค่าเงินบาท
นายกุลิศกล่าวว่า ทั้งนี้ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.65 เพื่อดูแลลดผลกระทบค่าไฟฟ้าในปี 2566 พร้อมทั้งยังได้เห็นชอบมาตรการสมัครใจการขอความร่วมมือประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ สถานีบริการน้ำมัน ห้าง ร้านสะดวกซื้อ สถานประกอบการ ในการประหยัดพลังงาน ซึ่งระหว่างนี้มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงฤดูหนาวของยุโรป หากราคาก๊าซ LNG เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูขึ้นไป หากเกิดกรณียาวนานต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 เหรียญต่อล้านบีทียู จะยกระดับมาตรการนี้เป็นมาตรการภาคบังคับทันที
"ตอนนี้ราคาก๊าซอยู่ที่ 29 เหรียญต่อล้านบีทียู ก็ถือว่าสูงมากแล้ว แต่หากราคาก๊าซ LNG สูงขึ้นตั้งแต่ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูขึ้นไปต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ เราได้วางมาตรการบังคับไว้ ซึ่งโดยขั้นตอนนายกรัฐมนตรีสามารถประกาศใช้ทันที เพราะประเทศต่างๆ ทั่วโลกหลายแห่งได้ดำเนินการแล้ว เพราะรัสเซีย-ยูเครนไม่มีท่าทีได้ข้อยุติ เราก็ยังคาดหวังว่าจะไม่ต้องใช้มาตรการบังคับ ซึ่งต้องดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ระหว่างนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ร่วมกันหารือ" นายกุลิศกล่าว
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จากการที่รัสเซียตัดการส่งขายก๊าซธรรมชาติให้สหภาพยุโรป (EU) ทำให้อียูต้องหันมาแย่งซื้อ LNG ในตลาดเอเชียและดันราคาสูงขึ้น จนส่งผลให้ราคา LNG ตลาดจรซื้อขายล่วงหน้าช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ระหว่างนี้จึงต้องวางมาตรการรองรับไว้ให้พร้อม ในกรณีเลวร้ายก็ต้องยกระดับมาตรการประหยัดไฟภาคบังคับ ขณะที่การนำเข้าปัจจุบัน ปตท.ยังนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาวที่ 5.2 ล้านตันต่อปี เช่นเดิม
“สำหรับมาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่อาจจะกลายเป็นมาตรการบังคับในอนาคต ได้แก่ การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในอาคารให้สูงขึ้นจากปกติ 2 องศาเซลเซียส (27 องศาเซลเซียส) และปิดระบบแสงสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น, การกำหนดเวลาเปิดปิดไฟป้ายโฆษณาขนาดใหญ่, การปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลังเวลา 23.00 น. (เปิดเวลา 05.00-23.00 น.) รวมถึงการกำหนดเวลาเปิดปิดภาคธุรกิจบริการที่ใช้พลังงานสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง, การปิดระบบปรับอากาศก่อนห้างสรรพสินค้าปิด 30-60 นาที, การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงของโรงงานอุตสาหกรรม โดยภาครัฐสนับสนุนการให้ข้อมูล/คำแนะนำ และอาจสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนแก่โรงงานอุตสาหกรรม และมาตรการประหยัดพลังงานอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์” นายวัฒนพงษ์ ระบุ
ผอ.สนพ.ระบุด้วยว่า กพช.ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก โดยประกอบด้วย 1.อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของโรงไฟฟ้าเดิม ที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการเพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนดต่อไป
นายวัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า 2.อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ.จะกำหนดต่อไป ทั้งนี้ ในการกำหนดองค์ประกอบและโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวทั้งสองรูปแบบ รวมถึงการจัดสรรต้นทุนการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป ที่ครอบคลุมต้นทุนสาธารณะ และวิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ กกพ.จะพิจารณากำกับดูแลภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ให้โปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม
“กพช.ยังมีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าประเทศไทย ปี 2554-2558 โดยให้มีการปรับปรุงข้อความการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากเดิม “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เป็น “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เพื่อให้ กกพ.สามารถกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเป็น 0 บาทต่อหน่วยเป็นการชั่วคราว” นายวัฒนพงษ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ยอมนิกร พรบ.ประชามติ ไม่ใช่กม.การเงิน
“ชูศักดิ์” ลั่นเพื่อไทยเอาแน่ ค้าความปิดปากเอาคืน “ธีรยุทธ” แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
ไฟเขียวไร่ละ1พัน10ไร่ ตรึงค่าไฟฟ้าราคาน้ำมัน
ชาวนาเฮ! นบข.ไฟเขียวช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จ่อชงเข้า ครม.สัญจรเชียงใหม่ 29 พ.ย.นี้
อวยทักษิณชนะนายกอบจ.
"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา
กรมที่ดินท้ารฟท.พิสูจน์เขากระโดง
กรมที่ดินยืนยัน ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง ยึดตาม กก.สอบสวน มาตรา 61
ตร.เชียงรายรวบ‘สามารถ’ ‘เมีย-ลูก’หมอบุญนอนคุก
"ผบ.ตร." นั่งไม่ติดตั้ง "พล.ต.อ.ธนา" คุมสอบสวนคดี "หมอบุญ"
ม็อบเสื้อเหลืองคืนชีพ ‘สนธิ’นัดบุกทำเนียบฯ2ธค. ‘อ้วน’หวั่นซํ้ารอยปิดเมือง
"ภูมิธรรม" ไม่กังวล "สนธิ" ปลุกม็อบลงถนน เป็นสิทธิตาม รธน.