ผนึก18องค์กร มหกรรมแก้หนี้ ลุย‘3กิจกรรม’

"คลัง" ผนึก 18 หน่วยงาน จัดมหกรรม "ร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข  เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน" ปูพรม 3 กิจกรรมช่วยลูกหนี้ ชูปรับโครงสร้างหนี้-สร้างรายได้-สร้างอาชีพ-สร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน

เมื่อวันพฤหัสบดี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันที่ 4-6 พ.ย.2565 จะมีการจัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 1 เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการคลัง ธปท. และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และหน่วยงานพันธมิตร 18 หน่วยงาน เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ครัวเรือน โดยในงานจะมีกิจกรรมประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิม ผ่านการแก้ไขหนี้ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือการปรับเงื่อนไขการชำระนี้ 2.การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม และ 3.การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยการส่งเสริมทักษะในการประกอบอาชีพ เพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ธปท.ได้มีการเปิดให้มีการลงทะเบียนเพื่อแก้ไขปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบออนไลน์ ซึ่งพบว่ามีจำนวนคนที่เป็นหนี้จริงลงทะเบียน 9.6 หมื่นราย คิดเป็น 2.4 แสนรายการ เพราะลูกหนี้บางรายเป็นหนี้มากกว่า 1 ประเภท โดยในจำนวนนี้กว่า 3.6 หมื่นราย หรือ 15% เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ปัจจุบันภาพรวมการปล่อยสินเชื่อยังทำได้อย่างต่อเนื่อง มีการเติบโตมากขึ้น ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็มีการกันสำรองไว้ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการดูแลลูกหนี้ที่อาจจะมีปัญหาในอนาคตต ส่วนหนี้เสียในระบบที่สามารถรวบรวมได้อย่างเป็นทางการ ณ ช่วงกลางปี 2565 พบว่า มีหนี้เสียในระบบทั้งสิ้น 8.53 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.47% จากยอดสินเชื่อคงค้างทั้งสิ้น 24 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นหนี้เสียของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐราวกว่า 3 แสนล้านบาท หรือ 5% และของธนาคาร

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือลูกค้าประชาชนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เตรียมไว้เป็นพิเศษสำหรับงานนี้  ได้แก่ มาตรการแก้หนี้ เงื่อนไขพิเศษสำหรับลูกหนี้ทุกประเภทสินเชื่อ โดยลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลกรณีปิดบัญชี มีทั้งยกเว้นดอกเบี้ยที่ค้างชำระให้เต็มจำนวน ลดหนี้เงินต้นสูงสุด 20% หรือจ่ายเฉพาะเงินต้น กรณีผ่อนชำระธนาคารพักชำระเงินต้นให้ 1 ปี และลดอัตราดอกเบี้ย ส่วนลูกหนี้ที่ไม่เป็นเอ็นพีแอลแต่ผ่อนไม่ไหว มีผ่อนปรนให้เลือกพักชำระเงินต้น หรือลดอัตราดอกเบี้ย หรือขยายระยะเวลาการผ่อนชำระออกไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละประเภทสินเชื่อและร่วมพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน ภายใต้ความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือและแก้ปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืนให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบาง

"สินเชื่อแก้หนี้เพิ่มทุน ซึ่งเป็นสินเชื่อตามมติ ครม. ภายใต้งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้โดยเฉพาะ เป็นสินเชื่อผ่อนปรนเกณฑ์อนุมัติ อัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน เพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่องในการดำรงชีพหรือลงทุนประกอบอาชีพ สำหรับผู้มีรายได้ประจำ/ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย/พ่อค้า/แม่ค้า/หาบเร่แผงลอย ให้กู้ไม่เกินรายละ 20,000 บาท ผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ปลอดชำระหนี้เงินต้น 6 งวดแรก คิดอัตราดอกเบี้ยคงที 0.35% ต่อเดือน (Flat Rate) ไม่ต้องใช้หลักประกัน" นายวิทัย  กล่าว

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.ได้เตรียม 3 มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ได้แก่ 1.มาตรการ บสย.พร้อมช่วย ผ่อนปรน ลูกหนี้ค้ำประกันสินเชื่อ 3 ระดับตามความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อบรรเทาภาระหนี้ 3 ระดับ ได้แก่ 1.ตัดเงินต้น หนี้ลด หมดเร็ว 2.ดอกเบี้ย 0% และเน้นตัดเงินต้น 3.ผ่อนนาน 7 ปี ยืดระยะเวลาให้ลูกหนี้ไปต่อได้

2.มาตรการเสริมสภาพคล่อง เปิดโครงการใหม่ล่าสุด ค้ำประกันสินเชื่อ BI 7 วงเงิน 10,000 ล้านบาท รองรับความต้องการผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทุกกลุ่มที่ต้องการสินเชื่อ แต่ยังขาดหลักประกัน วงเงินค้ำสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด 10 ปี และ 3.ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงินเอสเอ็มอี (บสย. F.A. Center) ยกขบวนให้คำปรึกษาปัญหาหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดงาน 3 วัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท