จ่อพับกม.ขายชาติ ฝ่ายค้านรุมถล่มกลางสภา มท.1-คลังรับพร้อมยกเลิก

"พท." ตั้งกระทู้ถามสด มติครม.ให้คนต่างชาติถือครองที่ดิน "บิ๊กป๊อก" ยันมีมาตรการรัดกุมรอบคอบ ไม่คิดขายชาติ ลั่นพร้อมยกเลิกหาก ปชช.ไม่สบายใจ เตรียมส่ง คกก.กฤษฎีกาปรับเงื่อนไขเพิ่มทั้งวงเงินลงทุนและระยะเวลาลงทุนให้มากขึ้น "พิธา" ชี้รายละเอียดไม่ชัด หวั่นเป็นที่ฟอกเงิน-เก็งกำไร "สุพัฒนพงษ์" ลั่นมีกติกาคุมเข้ม "พี่ศรี" ร้องศาลปกครองระงับมติ ครม.

ที่รัฐสภา วันที่ 3 พ.ย. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ตั้งกระทู้ถามสด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติออกกฎกระทรวงเปิดช่องให้คนต่างชาติที่นำเงินมาลงทุนในประเทศไทย 40 ล้านบาทขึ้นไป เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี สามารถซื้อที่ดินในประเทศไทยได้ 1 ไร่ สร้างความวิตกต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของที่ดิน ถึงขั้นถูกมองเป็นกฎหมายขายชาติ อยากทราบมีความจำเป็นอย่างไรต้องมีมตินี้ออกมา รัฐบาลก่อนที่ทำมาตรการนี้เพราะมีความจำเป็นต้องทำ เนื่องจากต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขไอเอ็มเอฟปี 2542 ที่ไปกู้เงินไอเอ็มเอฟมา ทำให้รัฐบาลปี 2545 ออกมาตรการให้คนต่างชาติซื้อที่ดินได้ แต่เป็นการทำด้วยความรอบคอบ มีมาตรฐาน ทำให้มีชาวต่างชาติมาซื้อที่ดินแค่ 7-8 ราย ควบคุมได้ผล

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงแทนนายกฯ ว่า การออกมาตรการนี้มาจากคณะกรรมการเศรษฐกิจเชิงรุก เพราะวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเปิดโอกาสให้คนต่างชาติมาลงทุน โดยมีแรงดึงดูดเรื่องที่อยู่อาศัยเพื่อให้เข้ามาลงทุนระยะยาว และมีเงื่อนไขรัดกุมกว่าเดิม ไม่มีเจตนาขายชาติ ส่วนที่เกรงคนต่างชาติจะซื้อที่ดินจำนวนมากเป็นผืนใหญ่ จะออกกฎเกณฑ์ไม่ให้ซื้อที่ดินแปลงติดกันทำเป็นหมู่บ้านได้

“คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ต้องนำเรื่องนี้ไปรับฟังความเห็นประชาชนก่อน เราอาจจะกำหนดให้เข้มงวดหรือยากกว่านี้ เช่น เพิ่มการลงทุนเป็น 100 ล้านบาท หรือเพิ่มเวลาลงทุนจาก 3 ปีเป็น 10 ปี แล้วส่งให้ ครม.พิจารณาใหม่ หรืออาจจะล้มเลิกไปเลยถ้าประชาชนกังวลมาก ไม่ถือว่าเสียหน้า” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

จากนั้น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ถามกระทู้สดด้วยวาจา ถาม พล.อ.ประยุทธ์เรื่องกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน และการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทยว่า ขอถามเกี่ยวกับเป้าหมายของนโยบายและการแก้กฎกระทรวงนี้คืออะไร เพราะเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลแจ้งว่าเป้าหมายคือการดึงดูดชาวต่างชาติจนถึงปี 2569 จำนวน 1 ล้านคน กระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มการลงทุนในประเทศ 8 แสนล้านบาท และสร้างรายได้จากการเก็บภาษีทั้งหมด 2.7 แสนล้านบาท ต่อมา 28 ต.ค. เปิดตัวเลขตั้งแต่ 2545 จึงถึงตอนนี้มีชาวต่างชาติมาใช้สิทธินี้ 8 คน จากเป้าหมาย 1 ล้านคน และดูไม่ออกว่าเป้าหมายที่แท้จริงของนโยบายนี้คืออะไรกันแน่ในเรื่องของจำนวน ปริมาณและการกระตุ้นเศรษฐกิจ และถ้าเป้าหมายยังเหมือนเดิมจะทำอย่างไรให้เพิ่มจาก 8 คนมาเป็น 1 ล้านคน

“ผมไม่สามารถวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสียของนโยบายนี้ได้ ถ้าเป้าหมายและความตั้งใจไม่ชัดเจน เพราะ 1 ล้านคนหมายความว่าต้องให้ 1 ล้านไร่ที่ชาวต่างชาติมากินที่คนไทย และ 40 ล้านบาทต่อ 1 ล้านไร่ก็คือ 40 ล้านล้านบาท” นายพิธากล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกลถามว่า รัฐบาลได้คำนึงถึงกับผลกระทบหรือข้อเสียหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฟอกเงิน หรือการซื้อที่ดินเพื่อการเก็งกำไรต่อ มีความชัดเจนหรือไม่ว่าซื้อกี่ปีถึงจะขายได้ เพราะของคนไทยจะมีภาษีเฉพาะ 3 ปีเป็น 5 ปี  ทำให้เก็งกำไรยากขึ้น จึงไม่แน่ใจว่าต่างชาติมีหรือไม่ หรือซื้อที่ดินแล้วมาสร้างอพาร์ตเมนต์ปล่อยเช่า แสดงว่าต้องการให้ชาวต่างชาติเข้ามาสร้างบ้านในเมืองไทยแล้วให้คนไทยเช่าเขาอยู่ รัฐมีมาตรการเรื่องนี้หรือไม่ รวมทั้งเรื่องเกี่ยวกับมรดกจะทำอย่างไร และถ้าเขาทำผิดเงื่อนไขที่เราตั้งขึ้นมา เรามีมาตรการจะแก้ปัญหาและทบทวนเรื่องนี้อย่างไร

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ชี้แจงว่า การแก้ไขกฎกระทรวงไม่ได้เพิ่มอะไรมากเลย การจะได้วีซ่าระยะยาวก็ต้องใช้เวลา และการซื้อที่ดินต้องใช้อยู่อาศัยเท่านั้น หากทำการใดที่ขัดธรรมเนียมประเพณี หรือไม่ปฏิบัติตามกติกา ก็จะสามารถถูกยกเลิกได้ตลอดเวลา

“เรื่องเป้าหมายของวีซ่าการอยู่ระยะยาวต้องทำตามกติกาที่กำหนด สิ่งที่ท่านห่วงประเทศไทยตึงเรื่องการครอบครองที่ดินมากกว่าอังกฤษ และไม่สามารถนำที่ดินไปทำแฟลตหรือที่อยู่อาศัย เราสามารถเพิกถอนสิทธิได้ง่าย ส่วนเรื่องการฟอกเงิน เราก็มีการคัดคุณสมบัติและติดตามอย่างรอบคอบ ประเทศอื่นๆ เสรีกว่าเราเยอะ ไปเทียบบรรทัดต่อบรรทัดกันได้เลย เขาเสรีกันมาก เราจึงยังเข้มงวดในบางเรื่องอยู่” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ช่วงท้ายนายพิธากล่าวว่า ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ว่าฯ เมืองโซล ประเทศเกาหลีใต้ ถึงความนิยมของคนที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในเมือง ทำไมดีไซเนอร์เก่งๆ จากสแกนดิเนเวียก็อยากมาเกาหลีใต้ คนที่ทำซอฟต์แวร์เก่งๆ ก็อยากจะมาอยู่ที่กรุงโซล คนที่ถ่ายหนังเก่งๆ ทำให้เกิดซอฟต์เพาเวอร์เก่งๆ ก็อยากจะมาอยู่มากรุงโซล เพราะอะไร ซึ่งได้รับคำตอบว่านโยบายของเขาคือการทำเมืองโซลเป็นเมืองที่น่าอยู่ ไม่มีความเหลื่อมล้ำ ทำให้คู่สมรสอยากเดินทางอาศัย นี่ต่างหากคือการลงทุน

ทำให้นายสุพัฒนพงษ์โต้ว่า ตนอยากให้ไปถามอย่างชัดเจนว่าต่างชาติสามารถครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเกาหลีใต้ได้อย่างไร และไปสอบถามทุกประเทศดูว่ามีเงื่อนไขการซื้อขายที่ดินอย่างไร ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหายาเสพติดนั้นมีทุกประเทศ ขอให้นำข้อเท็จจริงไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ว่าประเทศเราน่าอยู่น่าอาศัย และสถานะทางการเงินยังอยู่ในระดับที่ดี แต่ไม่น่าเชื่อที่เรายังมีข้อครหา ยกเรื่องอย่างนี้ขึ้นมาพูด

ยันไม่ใช่ กม.ขายชาติ

 “เราตั้งเป้าวีซ่าการพำนักระยะยาวไว้ 1 ล้านคน ซึ่งเดาใจไม่ได้ว่าจะมาอยู่ในรูปแบบจะมาซื้อทั้ง 1 ล้านคนก็เป็นการประเมินมากเกินไป ท่านต้องเชื่อในประเทศไทยว่าเราสามารถดึงดูดการลงทุนและอุตสาหกรรมใหม่ได้ มีคนอีกหลายล้านคนในต่างประเทศที่มองว่าประเทศไทยเป็นเมืองน่าอยู่น่าอาศัย อย่ามองประเทศไทยในเชิงลบมากเกินไป ทุกประเทศล้วนมีปัญหา ตนเองรู้สึกว่าเราต้องเชื่อมั่นว่าทุกวันนี้มีกระแสการย้ายฐานการผลิต ซึ่งไทยจะเป็นประเทศหนึ่งในฐานการลงทุนใหม่ๆ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายสุพัฒนพงษ์ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบฯ ยืนยันร่างกฎกระทรวงการให้ต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทยไม่ใช้กฎหมายขายชาติ เพราะถ้าขายชาติ ก็มาตั้งแต่ปี 42 แล้ว ตั้งแต่การออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ และปี 45 ก็มีการประกาศออกกฎเกณฑ์ ซึ่งค่อนข้างจะเปิดกว้างมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป ซึ่งประเทศอื่นเขาก็ทำกัน และเราก็เป็นประเทศส่วนน้อยเสียด้วยซ้ำไป และของเราก็เข้มงวดกว่าประเทศดังกล่าวที่กล่าวมาในข้างต้นเยอะ

วันเดียวกัน นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ตอบโต้นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ในประเด็นเรื่องการขายที่ดินให้ต่างชาติว่า รู้สึกแปลกใจถึงท่าทีนายนิพิฏฐ์ที่จะใช้ทุกโอกาสในการทำให้พรรค ปชป.เสียหาย 

นายนิพนธ์ได้ชี้แจงถึงเรื่องความเป็นมาเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายที่ดิน โดยเพิ่มมาตรา 96 ทวิ ขึ้นใหม่ โดยอนุญาตให้คนต่างด้าวซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ หากนำเงินมาลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 ปีเมื่อปี 2542 ต่อมาปี 2545 ครม.เห็นชอบกฎกระทรวงออกตามความใน ม.96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน วางแนวปฏิบัติกรณีคนต่างด้าวนำเงินมาลงทุน 40 ล้านบาทขึ้นไป จะขอซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี พอปี 2563 เกิดวิกฤตโควิด-19 จึงได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน กระทั่งปี 2565 กรมที่ดินเสนอร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่มีหลักการคล้ายกับกฎกระทรวงปี 2545 เดิมที่ให้ต่างด้าวเฉพาะกลุ่มผู้ได้รับ LTR Visa เท่านั้น ที่นำเงินมาลงทุน 40 ล้านบาท สามารถซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ไร่ และต้องดำรงการลงทุนนั้นไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี เพราะของเดิมไม่ดึงดูดคนมาลงทุน ซึ่ง ครม.เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้เมื่ออังคารที่ผ่านมา

 “คุณนิพิฏฐ์เปลี่ยนไปเยอะจากที่เคยรู้จัก นึกไม่ถึงว่าจะกล้าบิดเบือนข้อมูลถึงขนาดนี้ ในส่วนของการตัดสินใจจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของท่านนายกฯ ที่จะดำเนินการ ซึ่งโดยส่วนตัวมั่นใจว่านายกฯ และทีมที่ปรึกษาของท่านน่าจะมีเหตุผลและข้อมูลครอบคลุมทุกด้านอยู่แล้ว” นายนิพนธ์กล่าว

ที่ศาลปกครองสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นฟ้อง ครม.ทั้งคณะต่อศาลปกครองสูงสุด กรณีมีมติให้ความเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว โดยขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งหรือสั่งห้ามการนำร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว นอกจากนี้ยังได้ขอให้ศาลทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง โดยให้ชะลอหรือระงับการดำเนินการใดๆ ตามกฎหรือมติดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง