กกร.คงเป้าจีดีพีปีนี้ 3- 3.5% เฝ้าระวังเศรษฐกิจโลกถดถอย ชง "สุพัฒนพงษ์" ลดอัตราเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่ออีก 2 ปี ธปท.ลุ้นปีหน้า ศก.ไทยโต 3.8% ชี้เงินเฟ้อขาลง เดินเครื่องขยับดอกเบี้ย เตือนนโยบายประชานิยมสร้างความเสี่ยงระยะยาว
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือน พ.ย.2565 เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุม กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามการปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ผลกระทบจากน้ำท่วมที่อยู่ในวงจำกัด ในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องติดตามความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และทบทวนการถอนนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน
“กกร.จึงคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบเดิมที่ 3-3.5% มูลค่าการส่งออกคาดยังขยายตัวได้ในกรอบ 7-8% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในกรอบ 6-6.5% เนื่องจากเป็นห่วงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอาจมีแรงส่งน้อยกว่าที่คาดไว้ กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่ทางการประเมินไว้ ทำให้เศรษฐกิจกลับไปสู่ระดับเดิมก่อนการแพร่ระบาดล่าช้าออกไป ทั้งนี้ เห็นได้จากองค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินปี 2566 การค้าโลกจะเติบโตได้ในระดับต่ำแค่ 1% จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกที่มีโอกาสเผชิญภาวะถดถอยชัดเจนมากขึ้น จากสถานการณ์ความเสี่ยงสูงหลายด้านและการทยอยลดบทบาทนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อให้เข้าสู่จุดสมดุล" นายสนั่นระบุ
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2564 วันที่ 13 ธ.ค.2564 ซึ่งระบุอัตราภาษีสำหรับปีภาษี พ.ศ.2565 โดยกำหนดใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ไม่ได้ปรับลดลง 90% แต่มีผลเป็นเพียงการลดอัตราการจัดเก็บในระดับชั้นเดียว คือ ลดจากอัตราเพดานตามมาตรา 37 ลงมา แต่ยังไม่ได้ลดลงอีก 90% ตามมาตรา 55 ทำให้ราคาประเมินใหม่รอบปี 2566-2569 ทั้งประเทศปรับขึ้นเฉลี่ย 8% ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะครบกำหนด 3 ปีที่ต้องเพิ่มอัตราเก็บภาษีอีก 0.3% และ กทม.จ่อปรับอัตราเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมเต็มเพดาน 0.15% หรือเก็บเพิ่ม 15 เท่า
ดังนั้น กกร.มีข้อเสนอถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน 4 ประเด็น 1.ขอให้พิจารณาแก้ไขอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จที่ยังไม่ได้ขายจากประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย 2.พิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในบริการสาธารณะและสาธารณูปโภคในโครงการจัดสรร และอาคารชุดที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งตามกฎหมายปัจจุบันจะไม่ได้รับการยกเว้น จึงขอเสนอพิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จากประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย 3.พิจารณาปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อไปอีก 2 ปี (ปี 2566-2567) โดยเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีแบบขั้นบันได โดยในปี 2566 ขอลดหย่อน 75% และปีต่อไป 50% ตามลำดับ และ 4.พิจารณายกเว้น เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และดอกเบี้ยสำหรับผู้ค้างชำระในปี 2565 โดยให้ผ่อนชำระในปี 2566
นอกจากนี้ กกร.เห็นว่าประเทศไทยควรเร่งรัดการเจรจาเอฟทีเอให้มากขึ้น รวมถึงต้องมีการปลดล็อกปัญหาต่างๆ เพื่อให้ดำเนินต่อได้ รวมทั้งไทยต้องปรับตัวเองเพื่อเข้าสู่มาตรฐานใหม่ของการทำเอฟทีเอในอนาคตด้วย เพราะหากไม่แก้ปัญหาต่างๆ การทำเอฟทีเอก็จะเกิดขึ้นได้ยาก และสุดท้ายประเทศไทยจะเสียผลประโยชน์อย่างมาก
วันเดียวกัน นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “โจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย 2023” ในงานสัมมนา Thailand 2023 : The Great Remake เศรษฐกิจ ว่า ปี 2566 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญความท้าทายมากขึ้น ซึ่งล่าสุดการประมาณการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 2.7% ลดลงจากปี 2565 ที่คาดว่าจะโตได้ 3.2% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของเศรษฐกิจหลัก ยังอยู่ในระดับสูง โดยสหรัฐอเมริกา คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 8.1% ปีหน้า 3.5% ทำให้ตลาดการเงินมีความผันผวน เพราะประเทศเศรษฐกิจหลักจะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเฉพาะสหรัฐ ที่ดอกเบี้ยเร่งตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ทุกครั้ง และค่าเงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งภาระหนี้ในหลายประเทศก็เร่งตัวสูงขึ้น เรื่องดอกเบี้ยก็จะเป็นตัวซ้ำเติม ซึ่งประเด็นทั้งหมดยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยปีนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3% และปี 2566 อยู่ที่ 3.8% โดยแรงส่งหลักยังมาจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน โดยปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.5 ล้านคน และปีหน้าเพิ่มเป็น 21 ล้านคน ขณะที่ภาคการส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ถึง 8.2% ส่วนปีหน้าจะลดลงเหลือ 1.1% ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.3% หลังจากนี้จะทยอยลดลงต่อเนื่องจากเดือน ก.ย.2565 ส่วนปีหน้าคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.6% เข้าสู่กรอบเป้าหมายของ ธปท.ที่ 1-3%
นายเมธีกล่าวว่า ภาวะการเงินของประเทศไทยยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย แม้จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว 2 ครั้ง สู่ระดับ 1% ต่อปี แต่ยังถือว่าเป็นประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่ระบบการเงินยังมีเสถียรภาพ โดย ธปท.ยังคงดำเนินนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยคงไม่รุนแรงเหมือนในหลายประเทศ แต่จะทำให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ
"สิ่งที่ไม่ควรทำคือมาตรการระยะสั้น เพราะจะมีผลเสียในระยะยาว จะทำให้ตลาดการเงินปั่นป่วน นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น รวมถึงนโยบายที่ไม่สอดคล้องกัน และนโยบายประชานิยมที่อาจบิดเบือนการทำงานของระบบการเงินและสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว" รองผู้ว่าการ ธปท. ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง
ขู่แก้รธน.ก่อนโดนสอยยกสภา
"เพื่อไทย" แทงกั๊กร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับพรรคส้ม
แจง4คนไทยติดขั้นตอน เย้ยรบ.-ทหารมีไว้ทำไม
กต.แจงลูกเรือประมงไทย 4 คนยังติดขั้นตอนปล่อยตัวจากเมียนมา
เอาแน่‘กาสิโน’ขึ้นบนดิน
“ทักษิณ” สวมบทนายกฯ ตัวจริง ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย 3 แห่งรวด
ไม่กล้าเขี่ยพีระพันธ์ แม้วเกทับไฟฟ้าเหลือ3.70 จะทุบทุนผูกขาดทุกชนิด!
"พ่อนายกฯ" โชว์เหนือ จะทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 ต่อหน่วย เ
‘อ้วน’ ยันปล่อย 4 คนไทยเร็วๆนี้
ครบรอบวันชาติเมียนมา 4 ลูกเรือประมงไทยรอเก้อ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่อภัยโทษ 151 คนไทยถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์