ป๊อกนำลุยรธน.ฉบับปชช.

ดวลกันไฟแลบมันส์แน่อังคารนี้ "ปิยบุตร" นำทีมนั่งกลางห้องประชุมรัฐสภา ขนาบข้างด้วย "ไอติม-ลูกเกด ชลธิชา" รอฟาดปาก ส.ว.-ส.ส.รัฐบาล ดันร่างแก้ไข รธน.ฉบับล้ม-โละ-เลิก-ล้าง "ส.ว.-คำนูณ" ชี้จุดอันตรายเพียบ ทำลายระบบตรวจสอบ พท.หนุน แต่ ปชป.ยังแทงกั๊ก

ที่ประชุมร่วมรัฐสภาวันอังคารที่ 16 พ.ย.นี้ มีการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งกลุ่ม Re-Solution และเครือข่ายรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นการพิจารณาวาระแรกขั้นรับหลักการ โดยร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ ต้องมีเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่เกินกึ่งหนึ่ง และในเสียงเห็นชอบดังกล่าวต้องมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 เสียง

โดยเมื่อวันที่ 14 พ.ย. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม แกนนำกลุ่ม Re-Solution กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันอังคารที่ 16 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน วาระแรก ที่จะมีการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการในวันถัดไป คือ 17 พ.ย. ว่าจนถึงขณะนี้ ตัวแทนกลุ่ม Re-Solution และองค์กรเครือข่ายที่เคลื่อนไหวรณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีผู้เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา จนถึงขณะนี้มียืนยันนอกจากตนแล้วก็จะมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า, นายณัชปกร นามเมือง เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด และที่กำลังรอคำยืนยันอยู่คือนายเอกรินทร์ ต่วนศิริ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อนึ่ง น.ส.ชลธิชา หรือลูกเกด บทบาททางการเมืองคือ แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่เคลื่อนไหวการเมืองนอกรัฐสภา และมีข่าวว่าการเลือกตั้งรอบหน้าจะลงสมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล จังหวัดปทุมธานี ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มลงพื้นที่บ้างแล้ว ขณะที่นายเอกรินทร์ เป็นนักวิชาการที่เคลื่อนไหวในนามเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง

ซึ่งร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว มีการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อกันตั้งแต่ 6 เม.ย.2564 จนต่อมาได้รายชื่อประชาชนเอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมา 150,921 คน และมีการส่งร่างแก้ไข รธน.และรายชื่อทั้งหมดต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 แต่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบพบว่ามีผู้มีสิทธิเข้าชื่อและมีเอกสารหลักฐานครบถ้วนทั้งหมด 135,247 ชื่อ จนมีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา 16 พ.ย.นี้ ที่จะใช้เวลาในการอภิปรายตลอดทั้งวัน และจะลงมติในวันรุ่งขึ้น 17 พ.ย. เพื่อชี้ขาดว่าร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว จะได้ไปต่อหรือจะโดนคว่ำตั้งแต่วาระแรก

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อเรื่อง ‘ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง’ ระบบตรวจสอบถ่วงดุล โดยมีเนื้อหาระบุว่า 15 ข้อเท็จจริงในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับดังกล่าว ที่มีประชาชน 135,247 คนเข้าชื่อ 1.รวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยโอนอำนาจของรัฐสภามาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งอำนาจที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 2.ลดทอนความเป็นอิสระของศาล โดยมีบทบัญญัติห้ามศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงวินิจฉัยหรือพิพากษารับรองการรัฐประหาร และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดจากการรัฐประหาร และห้ามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขัดขวางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 3.ลดทอนความเป็นอิสระขององค์กรอิสระทุกองค์กร โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมทำนองเดียวกันกับศาล 4.กำกับควบคุมกองทัพโดยตรง โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คนในนามของคณะผู้ตรวจการกองทัพ เข้าไปเป็นสมาชิกสภากลาโหมโดยตำแหน่ง 5.บัญญัติกระบวนการถอดถอนประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขึ้นมาใหม่ในบททั่วไปของศาล

6.บัญญัติกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1/4 หรือประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อกัน ริเริ่มเสนอคำร้อง ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นองค์กรตัดสิน 7.ยกเลิกวุฒิสภาเป็นการถาวร ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่พ้นจากตำแหน่งทันที 8.เซตซีโรศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ โดยให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 สิ้นผลใช้บังคับ 9.ยกเลิกผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นการถาวร โดยโอนอำนาจที่มีให้ไปอยู่กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน 10.ใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตรใบเดียว 350:150 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ดั้งเดิมก่อนการแก้ไขครั้งล่าสุด

11.นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เลือกโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยยังคงระบบให้แต่ละพรรคการเมืองเสนอรายชื่อผู้สมควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกฯ 12.ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ/การปฏิรูปประเทศ 13.ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของ คสช. และการกระทำที่สืบเนื่อง รวมทั้งยกเลิกการนิรโทษกรรม คสช. 14.สร้างระบบต่อต้านการรัฐประหาร ให้ความผิดฐานรัฐประหารไม่มีอายุความ และสามารถเอาผิดย้อนหลังได้ และ 15.แก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ง่ายขึ้น ไม่มีเงื่อนไขเสียง 1/3 ของสมาชิกวุฒิสภา หรือเสียง 20% ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้าน โดยกำหนดใหม่ให้ใช้เสียง 2/3 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด

"ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ พอจะบอกเล่าภาพรวมของการแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่ว่าเป็นการล้ม-โละ-เลิก-ล้าง ระบบตรวจสอบถ่วงดุลทั้งปวง สาธุชนพึงพิจารณาเถิด" ส.ว.คำนูณทิ้งท้าย

ด้านท่าทีจากพรรคการเมือง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า พรรคจะประชุม ส.ส. ในวันจันทร์ที่ 15 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว ส่วนการจะลงมติอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากในที่ประชุมจะมีความคิดเห็นอย่างไร โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จะพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความละเอียดรอบคอบ ดูให้ครบองค์รวมทุกมิติ คำนึงถึงผลดี-ผลเสียของการแก้ไขแต่ละเรื่องอย่างจริงจังด้วยเหตุด้วยผล บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ และสังคมโดยรวม โดยไม่เอาประโยชน์ของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นที่ตั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประชาชนกว่าแสนคนได้แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนผลจะออกมาอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับสมาชิกรัฐสภาส่วนมากจะลงมติอย่างไร

"ขอเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพและความคิดเห็นที่แตกต่างโดยปราศจากอคติทั้งปวง คำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ก็เชื่อว่าจะทำให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแน่นอน" นายองอาจกล่าว

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า พรรคเพื่อไทยจะมีท่าทีอย่างไรคงต้องรอฟังที่ประชุม ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่จะหารือวันที่ 15 พ.ย. ส่วนที่ ส.ว.แสดงท่าทีไม่รับหลักการตั้งแต่ต้นนั้น มองว่าเร็วเกินไปที่จะตัดสิน ขอให้รับฟังคำชี้แจงของผู้เสนอร่างกฎหมายและรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกรัฐสภาที่จะอภิปรายกันก่อนจะดีกว่า อย่าเพิ่งรีบร้อนตัดสินใจ

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเช่นกันว่า ในร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวที่เสนอให้ยกเลิกวุฒิสภา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย การเสนอแก้ไขครั้งนี้ถือว่าเป็นฉบับประชาชนจริงๆ และการให้ยกเลิก ส.ว. เป็นสิทธิที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ เราต้องให้เกียรติการเสนอกฎหมายของประชาชน และรับฟังเหตุผลก่อน อย่าเพิ่งมีธง นอกจากนี้ ในร่างที่เสนอไม่ได้มีการล้มล้างหรือลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ม.255 ซึ่งประธานรัฐสภาวินิจฉัยแล้ว อยากเรียกร้อง ส.ว.ฟังการอภิปรายในสภาก่อน เพราะครั้งนี้เป็นการแก้ไขที่เสนอโดยร่างของประชาชนที่แท้จริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง