ชี้ยุบสภาหลังซานต้าตู่แจกสะบัด

“ชลน่าน” ฟันธงนายกฯยุบสภาหลังลดแลกแจกแถม  ช่วง 24 ธ.ค. หวังได้ประโยชน์สูงสุด “ธนกร” อัดกลับยื่นญัตติอภิปราย ม.152 แค่ยืมเวทีสภาดิสเครดิตรัฐบาลโดยไร้ข้อเท็จจริงจวกมือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ "จุรินทร์" ไม่หวั่นไหวเลือดเก่าไหลออกปลุกปชช. ไม่หนุนพรรครวมพลคนย้ายพรรค "วิปรัฐบาล” นัดถก กม.สุราก้าวหน้า-กัญชาเตรียมพร้อมเปิดสมัยประชุมสภา ชี้การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ ส.ส. "เพื่อไทย"  ยันตีตกร่าง กม.กัญชา ไม่เอากัญชาเพื่อสันทนาการ  เผย "ชวน" นัดถกวิป 2 ฝ่าย 1 พ.ย.นี้ ดักคอ ปชป.อย่ากลับลำตอนหาเสียงลำบากแน่

เมื่อวันอาทิตย์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีระบุรัฐบาลอาจยุบสภาวันที่ 24 ธ.ค.ว่า วันดังกล่าวเป็นระยะเวลา 90 วันก่อนรัฐบาลครบวาระ ซึ่ง ส.ส.หลายคนอาจย้ายพรรคกันก่อนวันดังกล่าว แล้วอาจส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจยุบสภาของนายกฯ ได้ หากจัดการเรื่องการย้ายพรรคเสร็จ ส่วนตัวคิดว่าถึงอย่างไรรัฐบาลจะยุบสภาก่อนครบวาระ เพราะผู้มีอำนาจจะได้ประโยชน์สูงสุด เช่น หากยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งก็จะรักษาการได้ยาว กรณีมีกฎหมายเลือกตั้ง เขาจะสามารถคุมจังหวะจัดการเรื่องการย้ายพรรคของ ส.ส. และเตรียมความพร้อมสำหรับพรรคการเมืองของตัวเองได้มากกว่าใคร อีกทั้งยังเป็นการลดแรงกดดันประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่า เวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล คิดว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาซื้อใจประชาชนก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลทำแล้วโดยใช้งบประมาณแผ่นดินในการให้ของขวัญปีใหม่ ได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมงานไว้ เช่น การขึ้นทะเบียนบัตรคนจน 23 ล้านใบ โครงการลดแลกแจกแถมเริ่มขยับ การอนุมัติแผนงานไตรมาสแรกเริ่มขยับ ถ้าทำเสร็จก็ถือว่าพร้อมยุบสภาได้ เขาคงอยากอยู่ให้ยาวที่สุด แต่เมื่อทานกระแสไม่ได้ก็จะยุบช่วงที่ได้เปรียบหลังออกมาตรการไปแล้ว

เมื่อถามถึงความพร้อมของพรรคเพื่อไทยในการเตรียมการเลือกตั้ง นพ.ชลน่านตอบว่า เราเตรียมพร้อมในการเข้าสู่การเลือกตั้งแล้ว ทั้งเรื่องแคนดิเดตนายกฯ เรื่องการประกาศนโยบาย และทำงานในพื้นที่อย่างเข้มข้น ขอเพียงรัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชนเท่านั้นเองหากรัฐบาลมีสัญญาณยุบสภาเมื่อไหร่ เราจะประกาศแคนดิเดตนายกฯของพรรคเพื่อไทยทันที 3 คน ตามหลักเกณฑ์ของพรรค ขอให้ประชาชนรอรายชื่อที่เราจะประกาศรับรองเป็นที่ยอมรับของประชาชนแน่นอน

นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว คาดว่าจะยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ช่วงกลางเดือนพ.ย. เพราะอาจมีอุบัติเหตุทางการเมืองหลังการประชุมเอเปก เช่น มีการยุบสภา เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 24 ธ.ค.ว่า ฝ่ายค้านอยากจะยื่นเพราะต้องการใช้เวลาอภิปรายในสภาเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลโดยไร้ข้อเท็จจริง เรียกคะแนนนิยมให้ตัวเอง ก็ควรจะพูดออกมาตรงๆ ไม่ใช่มาอ้างแบบหมอดูว่าจะมีการยุบสภา ทั้งๆ ที่ฝ่ายค้านเองก็รู้อยู่เต็มอกว่าช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนจะมีการเดินทางท่องเที่ยวช่วงปลายปี แต่ก็ยังจะยื่นอภิปราย หรือเพราะคิดว่าช่วงดังกล่าวประชาชนคงไม่ได้รับชมรับฟังการอภิปราย จึงจะอาศัยการตัดคำพูดเพียงบางช่วงบางตอนที่เป็นบวกกับตัวเองไปเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียจนประชาชนเกิดความเข้าใจผิดเหมือนหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา

มือไม่พายอย่าเอาเท้าราน้ำ

 “เชื่อว่าคงไม่สามารถคาดหวังอะไรกับการอภิปรายของฝ่ายค้านได้ ซึ่งเหมือนกับทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา เน้นวาทกรรม อภิปรายสร้างความสับสนให้กับประชาชนด้วยชุดข้อมูลที่ไม่รู้จริง แต่เมื่อรัฐบาลชี้แจงก็กลับไม่รับฟัง เหมือนมีธงไว้ในใจตั้งแต่แรกแล้วว่าต้องการดิสเครดิตรัฐบาลมากกว่าชี้ให้เห็นข้อบกพร่องผิดพลาดในการทำงาน อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยรัฐบาลจะใช้เวทีนี้ชี้แจงอธิบายทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน รวมทั้งจะเป็นข้อมูลให้กับประชาชนใช้ตัดสินใจในการเลือกตั้งสมัยหน้าด้วยว่า การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านนั้น สมควรจะให้โอกาสได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกหรือไม่ เพราะมือไม่พายแล้วยังเอาเท้าราน้ำ” นายธนกรกล่าว

                    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่มีสมาชิกลาออกจากพรรคในช่วงที่ผ่านมาว่า เมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้งก็มีทั้งคนเข้า-คนออกกันทุกพรรค ไม่มีพรรคไหนเป็นข้อยกเว้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในทางการเมือง ความถี่ของคนเข้า-คนออก ไม่ใช่เฉพาะพรรค ปชป. แต่หมายถึงทุกพรรคหากเราติดตามใกล้ชิด เราก็จะเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น เพราะบางครั้งก็มาจากหลายสาเหตุ เช่น บางพรรคมีผู้สมัครเกิน เพราะแต่ละเขตอาจตัดสินใจให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้แค่คนเดียว แต่มีคนสนใจจะลง 2 คน 3 คน ฉะนั้นคนที่พรรคตัดสินใจที่จะไม่เลือก ถ้าต้องการที่จะลงสมัครผู้แทน ก็ต้องไปหาพรรคการเมืองใหม่ แต่ละสาเหตุก็จะขึ้นอยู่กับแต่ละคน

นายจุรินทร์กล่าวถึงการรับมือต่อสถานการณ์ถูกดูดลูกพรรคหลังการประชุมเอเปกด้วยว่า พรรค ปชป.มีคนใหม่เดินเข้าพรรคก็เยอะ แต่คนที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ตนก็ไม่สามารถตอบได้ว่าใครจะอยู่ ใครจะย้ายอย่างไร แต่ในการตั้งพรรคการเมืองนั้น ถ้านับหนึ่งตั้งพรรคเพื่อจะมาดูดคนจากพรรคนั้นพรรคนี้ไป แล้วไปตั้งเป็นพรรคการเมือง สุดท้ายพรรคการเมืองเช่นนี้ก็จะกลายเป็นพรรครวมพลคนย้ายพรรค ซึ่งประวัติศาสตร์สอนเราว่ามันไม่ยั่งยืน สุดท้ายจะกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจ เพราะว่าไปดูดรวมกันเฉพาะกิจ เพื่อสนับสนุน นาย ก. นาย ข. หรือนาย ค.  พอหมดภารกิจก็ยุบพรรค หรือไม่ก็ต้องเลิกราไปโดยปริยาย เพราะประชาชนไม่สนับสนุน สุดท้ายพรรคเหล่านี้ก็ล้มหายตายจากไป

"คิดว่าประชาชนก็ได้เห็นบทเรียนกับสิ่งเหล่านี้มาแล้ว เพราะฉะนั้นการตั้งพรรคการเมือง ควรจะเป็นเรื่องของการเอาคนที่ตั้งใจและมีอุดมการณ์เดียวกันในการมาสร้างพรรคขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นสถาบันทางการเมืองจริงๆ แต่ไม่ใช่ไปดูดพรรคนั้นมา 5 คน ดูดพรรคนี้มา 7 คน แล้วมารวมกันกลายเป็นพรรคเฉพาะกิจ เราก็เห็นอยู่แล้วว่าชะตากรรมของพรรคการเมืองแบบนี้เป็นอย่างไร ประชาชนไม่ควรสนับสนุน เพราะเป็นเรื่องเฉพาะกิจจริงๆ เป็นเรื่องของการให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าความเป็นพรรคการเมือง" นายจุรินทร์กล่าว

ปชป.ยังหายใจเต็มปอด

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า พรรค ปชป. มีคนที่ยังมั่นคงอยู่กับพรรคอีกจำนวนมาก และมาถึงวันนี้พรรคยังหายใจได้เต็มปอด เพราะยังมีออกซิเจนใหม่ๆ เข้ามาเติมเต็มเป็นลำดับ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ในวันที่ 5-7 พย.นี้ จะไปเปิดตัวผู้สมัครอีกหลายเขตที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งถือว่าเป็นการบ้านข้อสำคัญของ ปชป. ส่วนในกรุงเทพมหานคร พรรคก็ได้คนใหม่ๆ อย่างนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และ น.ส.วทันยา บุนนาค เข้ามาเติมเต็ม เพื่อเรียกคะแนนนิยมหรือความเชื่อมั่นของคนกรุงเทพฯ มั่นใจว่าเรามีโอกาสที่จะได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวกรุงเทพฯ สำหรับในภาคใต้ทุกอย่างยังมั่นคงแข็งแรง ขณะนี้เราได้ตัวผู้สมัครเกือบจะครบหมดแล้วทั้ง 58 เขต ซึ่งจะทยอยเปิดตัว และในวันที่ 12 พ.ย.นี้ จะเปิดตัวผู้สมัคร จ.นครศรีธรรมราชครบทุกเขต รวมทั้งจะได้ทยอยเปิดตัวผู้สมัครที่ จ.ภูเก็ต จ.พังงา และจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป รวมทั้งขณะนี้หลายจังหวัดเราได้ผู้สมัครเกือบจะครบแล้ว

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส. และรองหัวหน้าพรรค ปชป. เปิดเผยว่า ตนได้นัด ส.ส.ของพรรคประชุมในวันอังคารที่ 1 พ.ย.นี้ เวลา 13.30 น. เพื่อเตรียมความพร้อมของการทำงานในสภาที่จะมีขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ย.เป็นต้นไปจนถึงเดือน ก.พ.ปีหน้า ซึ่งเป็นการประชุมสภาสมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง พ.ศ.2565 ถือเป็นการประชุมสมัยสุดท้ายก่อนสภาจะครบวาระ 4 ปี การเปิดประชุมสภาตั้งแต่เดือน พ.ย. มีวาระการประชุมที่สำคัญหลายเรื่อง ในส่วนของ ปชป. จะใช้เวลาช่องทางการประชุมสมัยสุดท้ายก่อนสภาครบวาระอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ทั้งกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือที่เรียกกันว่า กฎหมายสุราก้าวหน้า กฎหมายกัญชา กัญชง รวมถึงกฎหมายขนส่งทางราง ซึ่ง ส.ส.ปชป.จะใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ พิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ ครอบคลุมทุกมิติ เล็งเห็นประโยชน์สูงสุดของสังคมและประชาชนเป็นสำคัญ เราไม่ได้พิจารณากฎหมายบนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใด หรือเพื่อประโยชน์กลุ่มบุคคล กลุ่มทุนใดกลุ่มหนึ่ง

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรค ปชป. ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมวิปรัฐบาลเพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญว่า ในวันที่ 31 ต.ค. เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมวิปรัฐบาลที่ทำเนียบรัฐบาล จะประชุมเรื่องหลักคือการพิจารณาระเบียบวาระการประชุมสภาฯ เกี่ยวกับเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีกฎหมายที่เป็นที่สนใจอยู่ 2 ฉบับคือ ร่างพ.ร.บ.สรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ…. หรือร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า กับร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา (ฉบับที่…) พ.ศ…. เข้าใจว่า 2 เรื่องนี้ทางวิปรัฐบาลจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หากมีประเด็นสำคัญก็อาจจะต้องมีการเชิญผู้ที่เป็น กมธ.มาชี้แจงด้วย ว่าประเด็นที่มีการแก้ไขเป็นอย่างไรบ้าง

 เมื่อถามว่า จะมีการพูดถึงเรื่องการลงมติในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเลยหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า จะมีการพูดถึงหลักการว่าในการพิจารณากฎหมายที่กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว จะเป็นเรื่อง กมธ.กับ ส.ส.ที่จะต้องมาแสดงความคิดเห็นกันเป็นรายมาตรา เราต้องฟังความคิดเห็นของ กมธ.ทั้งเสียงข้างน้อยและเสียงข้างมาก ตลอดจนผู้แปรญัตติ อย่างไรก็ตาม ในหลักการแล้ววิปรัฐบาลก็จะเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก ยกเว้นกรณีที่ กมธ.มีเสียงก้ำกึ่งกันก็จะต้องมาดูแต่ละเรื่องไป แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แต่เป็นเรื่อง กมธ.กับ ส.ส.

เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ทางพรรค ปชป.ก็เคยมีจุดยืนว่าหากเป็นการใช้ในทางการแพทย์ ก็พร้อมที่จะสนับสนุน จะมีการพูดคุยเรื่องนี้ให้จบในวิปรัฐบาลเลยหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า สำหรับหลักการนั้นแต่ละพรรคก็ยังยึดเหมือนเดิม คงไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะกฎหมายที่เสนอเข้ามานั้นไม่ใช่เป็นกฎหมายที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือเสนอโดยรัฐบาล แต่เป็นการเสนอโดยพรรคการเมือง ฉะนั้น ก็จะต้องเป็นสิทธิของ ส.ส.แต่ละคนในการลงมติ

พท.ย้ำไม่เอากัญชาสันทนาการ

ถามว่า หากเราเห็นแย้งกับ พ.ร.บ.กัญชาฯ จะมีผลต่อพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า คิดว่าทุกพรรคคงเข้าใจว่าเป็นเรื่องระหว่าง ส.ส.กับ กมธ. แล้ว ส.ส.ก็มีเอกสิทธิ์ที่จะลงมติไม่อยู่ในอาณัติของใคร ซึ่งก็เคยประเด็นคือไม่ใช่ความขัดแย้งของรัฐบาล แต่ประเด็นคือการที่ ส.ส.ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมดพิจารณาหรือตรวจสอบกฎหมายโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ อย่ามองแค่ผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ได้นัดวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านเพื่อหารือกันว่าจะบรรจุร่างกฎหมายใดเข้าสู่ระเบียบวาระบ้างหลังเปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญ ซึ่งมีร่างกฎหมายที่ค้างเดิมอยู่คือเรื่องที่ กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว คือร่าง พ.ร.บ. สรรพสามิต ซึ่งจะเข้าสู่การพิจารณา ส่วนร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชาฯ นั้น คาดว่ายังอยู่ระหว่างการศึกษาของ กมธ. ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้แจ้งเข้ามาว่าเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมทันหรือไม่

"พรรคเพื่อไทยยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ให้อย่างแน่นอน ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายออกมาควบคุมอย่างรัดกุม รวมทั้งต้องมีช่องทาง หรือมาตรการที่ป้องกันเยาวชนเข้าถึงกัญชาด้วย วันนี้รัฐบาลต้องออกเป็นกฎกระทรวงมาควบคุม เพราะเรื่องกัญชาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ทุกวันนี้เยาวชนสูบกัญชากันเยอะมาก เพราะเข้าถึงง่าย ส่วนที่พูดว่ากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจนั้น พวกท่านต้องตอบให้ชัดว่าประชาชน หรือผู้ที่ปลูกได้ประโยชน์อย่างไร ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่าไม่สนับสนุนเรื่องนี้ หากท่านกลับลำก็คงจะตอบพี่น้องประชาชนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งลำบากแน่" นายสมคิดกล่าว

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายมีความกังวลเรื่องการปลดล็อกกัญชาว่า การปลดล็อกกัญชาโดยไร้กฎหมายควบคุมและขาดความรอบคอบ ได้ส่งผลเสียหายต่อสังคม ที่ผ่านมาแพทย์ทั่วประเทศ เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชน ได้เรียกร้องให้ปิดสภาวะกัญชาเสรี หากยังไม่มีกฎหมายควบคุมกัญชาเป็นยาเสพติด ที่ผ่านมามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และทางการแพทย์มากมาย ระบุว่ากัญชาได้ส่งผลกระทบต่อร่างกายและการเจริญเติบโตของสมองเด็ก และวัยรุ่นอย่างมาก กัญชาที่ขายไม่ได้ในทางการแพทย์ และอยู่ในภาวะล้นตลาดผลผลิตเหล่านี้หายไปไหน หรือเอาไปขายที่ไหน ถ้าไม่มีการควบคุมผลผลิตจำนวนมากจะไหลเข้าสู่ตลาดของการเสพกัญชาเสรี

น.ส.ลิณธิภรณ์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันชัดเจนมาตั้งแต่ต้นในการสนับสนุนการใช้กัญชาทางการแพทย์ ไม่สนับสนุนกัญชาเพื่อสันทนาการ ดังนั้นการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาต้องครอบคลุม เกิดประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ในการพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ ส.ส.ทุกคนและทุกพรรคการเมืองมีเอกสิทธิ์ในการผ่านกฎหมาย ดังนั้นการชี้ให้เห็นว่ากัญชามีประโยชน์มากกว่ามีโทษและการผ่านกฎหมายนั้นสำคัญเป็นเรื่องที่ฝ่ายที่สนับสนุนกัญชาเสรีต้องกระทำ อย่ามัวแต่โทษคนอื่น และถึงแม้ว่ามี พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ในอนาคต แต่ช่องว่างการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ การสูบกัญชาในบ้านอันเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล รัฐบาลจะทำอย่างไร การสูบเพื่อความบันเทิงกำลังเป็นจุดเริ่มต้นของการเสพติดหรือไม่ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน และอาจนำพาไปสู่ยาเสพติดประเภทอื่นๆ ในอนาคต จะปราบยาเสพติดได้อย่างไรถ้าจุดเริ่มต้น เริ่มที่กัญชา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง