“คลัง” หั่นจีดีพีปี 2565 เหลือ 3.4% หลังการลงทุนภาคเอกชนชะลอ จากราคาวัตถุดิบทะยานแรง แต่รัฐบาลโอ่เศรษฐกิจรุ่ง อัตราว่างงานไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 1.4% ต่ำสุดนับตั้งแต่โควิดระบาด "ไตรศุลี" เตือนเหลือ 4 วันรีบใช้คนละครึ่งเฟส 5 ให้หมด
เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แถลงว่า กระทรวงการคลังได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ลงเหลือ 3.4% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.9-3.9% จากเดิมที่ 3.5% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลงบ้าง ซึ่งเป็นไปตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและกลไกราคาต้นทุน แต่ยังมีปัจจัยหนุนอื่นๆ ที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.7 ล้านคน และคาดว่าทั้งปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 10.2 ล้านคน สูงขึ้นกว่าคาดการณ์เดิมที่ 8 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลดีให้รายได้ของแรงงานและภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวขยายตัวสูงขึ้น
“รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศหลายมาตรการ อาทิ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และโครงการคนละครึ่ง ซึ่งช่วยสนับสนุนอุปสงค์ภายในประเทศและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมทั้งเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ โดยคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 7.9% ต่อปี” นายพรชัยระบุ
นายพรชัยกล่าวอีกว่า การส่งออกปีนี้ยังคาดว่าจะขยายตัวได้ดีที่ระดับ 8.1% สูงขึ้นจากเดิมที่คาด 7.7% จากความต้องการสินค้าอาหารที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มคลี่คลายลง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% ลดลงจากเดิมที่ 6.5% จากสถานการณ์ราคาพลังงานและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย อีกทั้งภาครัฐยังได้ดำเนินมาตรการดูแลค่าครองชีพให้แก่ภาคประชาชน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มชะลอตัวลง
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.8% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 2.8-4.8% โดยได้แรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าในปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 21.5 ล้านคน ขยายตัว 109% ต่อปี ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องเพิ่มสูงขึ้น สนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% ต่อปี ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.5% ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ระดับ 3.7% ต่อปี ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ระดับ 2.9% ปรับลดลงตามราคาพลังงาน และเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3%
“ปี 2566 การท่องเที่ยวยังเป็นเรือธงที่ช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่วนการส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวลง จากอุปสงค์ในตลาดโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง ซึ่งไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ และที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการออกมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพมาตั้งแต่กลางปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่าค่าครองชีพของไทยไม่ได้สูงที่สุดหรือสูงมากอย่างที่เคยมีข่าว เพราะมีมาตรการรัฐที่ออกมาช่วยเหลือด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง” นายพรชัยกล่าว
นายพรชัยยังกล่าวถึงกระแสข่าวว่าจะนำมาตรการช้อปดีมีคืน, มาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 6 มาดำเนินการอีกครั้งว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปลายปี เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน โดยส่วนใหญ่เป็นมาตรการกระตุ้นการบริโภคที่เคยทำมาแล้ว แต่ทั้งหมดยังอยู่ระหว่างการหารือ โดยต้องดูถึงความเหมาะสม ขนาดและระยะเวลา
ด้านนายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุถึงผลกระทบของ COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวรุนแรง โดยปี 2563 หดตัวถึง 6.2% ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปี 2562 ขยายตัว 2.2% ชะลอตัวลงจาก 4.2% ในปีก่อนหน้า แต่รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบต่อเนื่อง ทั้งโครงการเราชนะ, โครงการ ม 33 เรารักกัน, โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 รวมถึงการออกพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีส่วนสำคัญยิ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศให้ปรับตัวดีขึ้น
“สศช.ระบุว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ได้รับแรงส่งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากปีก่อน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ 2.3% และ 2.5% ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองตามลำดับ สอดคล้องกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 1.4% ต่ำสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด” นายอนุชากล่าว
ส่วน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า มาตรการคนละครึ่งเฟส 5 ที่เริ่มให้ประชาชนผู้รับสิทธิ์ใช้จ่ายตามโครงการมาตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.65 เป็นต้นมา จะสามารถใช้จ่ายตามโครงการได้ถึงวันที่ 31 ต.ค.นี้ เหลือเวลาอีก 4 วันเท่านั้น จึงขอให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ์และยังเหลือวงเงินให้รีบใช้สิทธิ์ก่อนสิ้นสุดโครงการ คือภายในเวลา 22.59 น.ของวันที่ 31 ต.ค.65 หากเลยระยะเวลาดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิ์สำหรับวงเงินที่เหลือทันที ทั้งนี้ ตามโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 รัฐบาลให้วงเงินสนับสนุนตลอดระยะเวลาโครงการรวม 800 บาท สามารถใช้จ่ายได้ไม่เกินวันละ 150 บาท มีผู้ใช้สิทธิ์จำนวน 24.02 ล้านคน ณ วันที่ 24 ต.ค.มียอดใช้จ่ายรวมแล้ว 35,557.71 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 18,104.84 ล้านบาท และเงินที่รัฐร่วมจ่ายจำนวน 17,452.87 ล้านบาท
"เพื่อรักษาแรงส่งการฟื้นตัวเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องรัฐบาล ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.ได้มีมติให้ทุกส่วนราชการมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน โดยขณะนี้หน่วยงานต่างๆ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนงานหรือโครงการ ซึ่งเร็วๆ นี้จะทยอยนำเสนอต่อ ครม.เพื่อให้มีผลดำเนินการได้ในช่วงปีใหม่ตามระยะเวลาที่ ครม.กำหนดต่อไป” น.ส.ไตรศุลีกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10วันปีใหม่เมาขับ7พันคดี ขับรถเร็วตายบนถนนพุ่ง
ปิดศูนย์ 10 วันอันตรายปีใหม่ สังเวย 436 ศพ เจ็บ 2,376 ราย
‘อ้วน’สั่งทบทวน หนทางดับไฟใต้ พูดคุยให้ถูกคน
ยังไร้แววเมียนมาปล่อย 4 คนไทย "ภูมิธรรม" ย้ำต้องรอจบกระบวนการ
ดักคอล้วงภาษีอุ้มค่าไฟ ‘ดีอี’เร่งกาสิโนขึ้นบนดิน
"ภูมิธรรม" ขำข่าวปรับ ครม.เขี่ย รทสช. บอกอย่าฟังคนปล่อยข่าว
สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.
แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก
รุมตบปากพ่อนายกฯ สว.จี้ขอโทษเหยียดสีผิว/อดีตกกต.แนะอบรมมารยาทหาเสียง
รัฐมนตรีเพื่อไทยดาหน้าป้องนายใหญ่ บอกหาเสียง อบจ.เชียงรายปกติ
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง