‘ไทย’ชง‘เอเปก’ ฟื้น‘เขตการค้า’ เอเชีย-แปซิฟิก

“บิ๊กป้อม” เรียกถกเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัยประชุมเอเปก กำชับต้องดูแลตั้งแต่ต้นจนจบตามมาตรฐานสากล ไทยเตรียมใช้โควิด-19 ปลุก “เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก: FTAAP” บนเวที ดันออกแถลงการณ์ร่วมแผน 4 ปีวางโครงสร้าง 

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะอนุกรรมการด้านการรักษาความปลอดภัยและการจราจร เพื่อเตรียมความพร้อมจัดประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยได้กำชับให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและการจราจร ประสานการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานอย่างใกล้ชิด ย้ำเฝ้าระวังไม่ประมาท ปฏิบัติการทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามหลักสากล ตั้งแต่ขั้นเตรียมการต่อเนื่องไปจนจบการประชุมและเดินทางกลับ และให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานด้านการข่าวและการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนให้มากขึ้น

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรยังสั่งการให้คุมเข้มรักษาความปลอดภัยทั้งบุคคลและสถานที่ รวมทั้งเส้นทางในทุกกลุ่มที่เข้าร่วมประชุม โดยให้มีมาตรการเชิงรุกป้องปรามการก่อเหตุรุนแรงและแผนเผชิญเหตุรองรับในทุกเหตุการณ์ ที่อาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศและความปลอดภัยของการประชุมในภาพรวม และขอให้มีการซักซ้อมความเข้าใจและการปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมขอให้ทำความเข้าใจกับประชาชน  เพื่อร่วมกันเป็นเจ้าภาพสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศในโอกาสสำคัญนี้

ด้านนางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมระดับรัฐมนตรีและระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย. ประเด็นเศรษฐกิจสำคัญที่ไทยจะผลักดันคือ การนำเสนอแผนงานการขับเคลื่อนเอเปกสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the  Asia-Pacific: FTAAP) เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบแผนงานระยะ 4 ปี ระหว่างปี 2566-2569 และเป็นหนึ่งในแถลงการณ์ที่จะประกาศในการประชุมครั้งนี้

สำหรับรายละเอียดแผนงาน FTAAP ประกอบไปด้วย การรวบรวมประเด็นที่สมาชิกเอเปกมีความสนใจร่วมกัน  ทั้งด้านการค้าดั้งเดิม การค้าใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากเกิดวิกฤต ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสมาชิกเอเปก เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการจัดทำ FTAAP และมุ่งสู่เป้าหมายผลลัพธ์สำคัญของ FTAAP เช่น การขยายการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก, การลดอุปสรรคการค้าการลงทุนที่ไม่จำเป็น, การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสมาชิกเอเปก  และการลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

 “สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ การเอา 21 เขตเศรษฐกิจที่หลากหลายมาอยู่จุดนี้ได้เป็นจุดตั้งต้นที่ดี เพราะแนวคิดการทำ  FTAAP เกิดมากว่า 10 ปีแล้ว ถ้า 21 เขตเศรษฐกิจเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็จะคุยกันอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการทำตามแผนงาน 4 ปี และในระหว่างที่ดำเนินการสามารถปรับปรุงแก้ไขกิจกรรมได้ตลอดเวลา หากมีประเด็นสำคัญที่เห็นควรที่จะต้องเพิ่มเข้าไป และเมื่อครบ 4 ปีแล้วสมาชิกก็จะมาตกลงกันว่าจะไปต่อยังไง จะไปสู่ FTAAP แบบไหน เพื่อให้การทำ FTAAP สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม” นางอรมนกล่าว

ทั้งนี้ แนวคิดการจัดทำ FTAAP เกิดจากข้อเสนอของสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปกต่อผู้นำเอเปกเมื่อกว่า 10 ปีก่อน แต่การผลักดันไม่คืบหน้ามากนัก และผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ทุกฝ่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเพื่อเปิดเสรี ลดอุปสรรคการค้าการลงทุน และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อและอำนวยความสะดวกทางธุรกิจ โดยในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปกกับสภาที่ปรึกษาเมื่อวันที่ 21 พ.ค.65 ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานที่ประชุม จึงเห็นพ้องว่าเขตเศรษฐกิจเอเปกจำเป็นต้องเร่งขับเคลื่อนการจัดทำ FTAAP ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง