กทม.ยันญัตติฟังสภาฯทำได้ ทางตันหาเสียงพันคอตัวเอง

"โฆษกชัชชาติ" ชักแม่น้ำทั้งห้ากล่อม “สภา กทม.” ต้องถกปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว แจงญัตติแค่ฟังความเห็นไม่ใช่ขอมติหวังตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาหาทางออกเพื่อคนกรุง "ก้าวไกล" ตบหัวแล้วลูบหลัง! อ้างชื่นชม หนุนสางประเด็นร้อน "สามารถ" ชี้ "ผู้ว่าฯ" ถึงทางตัน นโยบายหาเสียงพันคอตัวเอง

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร   กล่าวถึงกรณีสภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) ตีตกญัตติการขอความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า ประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตั้งใจจะเร่งแก้ปัญหาเพื่อประโยชน์ของพี่น้องชาวกรุงเทพฯ โดยตรง จึงมีการเสนอญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม. ในเรื่องแนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และญัตติขอรับความเห็นจากสภา กทม. เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่ามีแนวทางความเห็นในเรื่องนี้ร่วมกันอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชน  

สำหรับข้อกังวลของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) บางคนถึงอำนาจในการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการและการจัดเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น กทม.ยืนยันว่าญัตติดังกล่าวไม่ได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อขอมติสภา กทม.เพื่อนำไปใช้ดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงการขอรับความเห็นของ ส.ก.เท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ย้ำว่า เราไม่ได้ลงมติหรือใช้อำนาจอะไร เราเป็นตัวแทนประชาชน ถ้าเราไม่พูดและประชาชนจะพูดผ่านใคร ดังนั้นความคิดเห็นของ ส.ก.ทุกคนจึงมีความสำคัญต่อการบริหารงานของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะท่านที่แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหรือเห็นไม่เห็นด้วยในมุมมองต่างๆ ก็จะจดบันทึกไว้โดยละเอียด เพื่อรวบรวมนำเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ตามหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยถึงผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2565 เรื่อง ขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจาก กทม. ซึ่งมีผู้ว่าฯกทม.และสภา กทม.บริหารราชการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอน

นายเอกวรัญญูกล่าวว่า กทม.ยืนยันว่าการยื่นญัตติดังกล่าวเป็นไปเพื่อชี้แจงรายละเอียดในส่วนการบริหารจัดการในความรับผิดชอบของ กทม. ให้สภา กทม.ได้รับทราบ และเป็นการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเท่านั้น ทั้งนี้ สภา กทม.ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ถือเป็นส่วนสำคัญตามโครงสร้างการบริหารราชการ กทม. และมีหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมการใช้จ่ายงบประมาณของ กทม.ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งกับกรุงเทพฯ และชาวกรุงเทพฯ ความคิดเห็นของ ส.ก. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ถือเป็นเสียงสำคัญที่สะท้อนความต้องการของประชาชน ดังนั้นหากสภา กทม.เห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้ให้รอบคอบ รอบด้าน โดยเชิญผู้เกี่ยวข้องมาร่วมเป็นกรรมการหรือให้ข้อมูล ฝ่ายบริหารก็พร้อมที่จะดำเนินการ

"การนำเรื่องเข้าสู่สภา กทม. เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของ กทม.จะได้หารือร่วมกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะความคิดเห็นของส.ก.ทุกท่านล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยกันนำปัญหาของพี่น้องประชาชนไปสู่ทางออก ดังนั้นจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากทม.และสภา กทม.จะได้มีโอกาสปรึกษาหารือกัน ร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชนต่อไป" โฆษก กทม.ระบุ

ด้านนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า แม้สภา กทม.ไม่รับเข้าพิจารณาญัตติดังกล่าว ตนขอชื่นชมและขอบคุณนายชัชชาติ ที่หยิบยกเอาคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 มาอ้าง จนนำไปสู่การตีความว่าไม่อยู่ในอำนาจของสภากทม.ที่จะพิจารณาบรรจุเป็นวาระการประชุมได้ ตามข้อบังคับการประชุมข้อที่  28 ซึ่งคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 หากพิจารณาในข้อที่ 5 จะทราบว่าอำนาจของคณะกรรมการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นได้ยุติไปแล้ว และเป็นอำนาจของ รมว.มหาดไทย ที่จะแสวงหาแนวทางอื่นเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป

"ในทางปฏิบัติ แค่ รมว.มหาดไทยทำหนังสือตรงให้ผู้ว่าฯ กทม. จากนั้นผู้ว่าฯ กทม.มีอำนาจเต็มที่จะตอบหนังสือฉบับนั้นได้เองโดยไม่ต้องผ่านสภา กทม.ก็ได้ แต่นายชัชชาติเลือกที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม. ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม เพราะนี่คือการสร้างบรรยากาศการทำงานให้สมาชิกสภา กทม.ได้มีส่วนร่วมในการหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่การที่สภา กทม.ไม่สามารถดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าวได้นั้น หากฝืนประชุมโดยที่ขัดกับข้อบังคับการประชุม เนื่องจากญัตตินี้อยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯ กทม.และคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 44 แล้ว อาจเสี่ยงต่อการถูกร้องว่าความคิดเห็นจากที่ประชุมสภา กทม.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะทำให้หนังสือตอบกลับไปยัง รมว.มหาดไทย กลายเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว" นายวิโรจน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าคณะทำงานยุทธศาสตร์ กทม. ส.ก. พรรค ก.ก. ยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับผู้ว่าฯ กทม. เพื่อคลี่คลายปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างถึงที่สุด หลังจากนี้คงต้องเร่งหารือว่าจะหาแนวทางอื่นในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวร่วมกับผู้ว่าฯ กทม.อย่างไร ทั้งกลไกของคณะกรรมการสามัญ สภา กทม. รวมถึงกลไกสาธารณะที่ไม่เป็นทางการอื่น

วันเดียวกัน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "ปมหนี้รถไฟฟ้าสายเขียว ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ถึงทางตัน?" โดยระบุตอนหนึ่งว่า เมื่อสภา กทม.โยนเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวกลับไปที่ฝ่ายบริหารของ กทม. นายชัชชาติควรพิจารณาทำหนังสือตอบ รมว.มหาดไทย ตามแนวทางที่ระบุไว้ ซึ่งตนเห็นว่า 1.อัตราค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 2 จะที่ระบุว่าจะเก็บ 15 บาทตลอดสาย ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารสูงสุดเท่ากับ 74 บาท หรือจะเก็บตามระยะทาง แต่ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 59 บาท ก็ได้ แต่ต้องยอมรับความจริงว่าไม่สามารถทำให้ค่าโดยสารถูกลงตามที่นายชัชชาติได้เคยหาเสียงไว้ว่าจะเก็บ 25-30 บาท  

2.หากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนค่างานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ผู้ว่าฯ กทม.จะเปิดประมูลใหม่หาเอกชนมารับสัมปทานเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 ขอบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่มีเอกชนรายใดสนใจมารับสัมปทานแน่ เพราะจะขาดทุน หากจะเปิดประมูลใหม่ทั้งส่วนหลักและส่วนต่อขยายหลังสิ้นสุดสัมปทานในปี 2572 ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะยังติดสัญญาจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ให้เดินรถจนถึงปี 2585

3.หากรัฐบาลไม่ช่วยสนับสนุนค่างานโยธาส่วนต่อขยายที่ 2 ผู้ว่าฯ จะโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้รัฐบาลนั้น แนวทางนี้ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา แต่เป็นการโยนปัญหาให้พ้นตัว ถ้ารัฐบาลยอมรับข้อเสนอนี้ ก็น่าจะรับมาตั้งแต่สมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.แล้ว จะไม่ทำให้ปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบันนี้ และที่สำคัญ การโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งหมดให้รัฐบาล จะเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจของบุคลากร กทม. ที่ได้ปลุกปั้นโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวจนสำเร็จเป็นรถไฟฟ้าโครงการแรกของประเทศไทย         

"เนื่องจากท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติตั้งธงไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้วว่าจะไม่ขยายสัมปทานให้บีทีเอสซี จึงทำให้ท่านต้องเดินมาถึงทางตันในวันนี้ มีทางเดียวเท่านั้นที่ท่านจะผ่าทางตันได้ก็คือ เปิดใจให้กว้าง ดูข้อดีข้อเสียในการขยายสัมปทานให้บีทีเอสซี ถ้าเห็นว่ามีข้อดีมากกว่า ก็ตัดสินใจขยายสัมปทานให้บีทีเอสซี ทางเลือกอื่นไม่มีจริงๆ ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี ไม่อยากให้ กทม.มีหนี้สินพอกพูนขึ้นทุกวัน" นายสามารถระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง