คลอดแผนคุมเอเปก บิ๊กตู่หัวโต๊ะสมช.ขออย่าสร้างสถานการณ์/จับตากลุ่มป่วน

"บิ๊กตู่" หัวโต๊ะ "สมช." ไฟเขียวมาตรการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินช่วงเอเปก วอนคนไทยร่วมทำบ้านเมืองปลอดภัย อย่าสร้างสถานการณ์ หวั่นทำไทยถอยหลัง "บิ๊กป้อม" รายงานยังไม่มีอะไรน่ากังวล สภากลาโหมตั้งศูนย์ปฏิบัติการ จับตากลุ่มเคยก่อเหตุรุนแรงทั้งในและนอกประเทศ

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม เวลา 12.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ครั้งที่ 4/2565 ว่า ได้มีการหารือเรื่องการทำงานร่วมกันและแผนงานต่างๆ ที่ต้องรับความเห็นชอบ รวมทั้งสถานการณ์รอบบ้านสถานการณ์ในภูมิภาค และสถานการณ์ในประเทศอื่นที่มีความเกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของไทย ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการย้ำเตือนและการปรึกษาหารือกันในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในช่วงการประชุมความร่วมมือในภูมิภาคทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก 2022) ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ทั้งพลเรือน ตำรวจ และทหาร ต้องทำงานประสานกันอย่างดียิ่ง สิ่งสำคัญที่สุดต้องขอความร่วมมือจากประชาชนทั้งประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 “ขอเถอะครับ ขอให้บ้านเมืองเราปลอดภัย อย่าสร้างปัญหาอะไรให้เกิดขึ้นเลย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศต้องเดินหน้า ซึ่งเรากำหนดธีมไว้แล้วในเรื่องการเปิดกว้าง เชื่อมโยง และสมดุล 3 ตัวนี้ คือสิ่งสำคัญ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและไปจนถึงความมั่นคงด้านอื่นๆ อีกด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

ทั้งนี้ ได้สั่งการย้ำเตือนในหลายเรื่องด้วยกัน พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากบรรดาสมาชิกสภากลาโหม อันเป็นประโยชน์เพื่อปรับปรุงแก้ไข ขอว่าวันนี้เป็นย่างก้าวที่สำคัญของประเทศไทยในการได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ ในเรื่องการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยว และด้านอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นผลจากการประชุมครั้งนี้ที่เราจะได้รับ

"ผมขอร้องอีกครั้ง ขอให้ทุกคนช่วยกันดูแลประเทศของเราให้ปลอดภัยด้วยแล้วกัน อย่าสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้นที่มีผลกระทบ มันจะทำให้ทุกอย่างถอยหลังกลับไปไม่รู้อีกเท่าไหร่ ผมไม่อยากให้มันเกิดขึ้น ขอร้อง ขอความร่วมมือทุกคน มีข่าวสารอะไรชี้แจงก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบ" นายกฯ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าขณะนี้มีการข่าวรายงานเข้ามาใช่หรือไม่ จึงได้ประกาศขอร้อง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวปฏิเสธว่า ยังไม่มีอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นการเตรียมการและเตรียมความพร้อมวางแผนรักษาความปลอดภัย ยังไม่มีอะไรทั้งนั้น

เมื่อถามถึงกรณีนายคเณศพิศณุเทพ จักรภพมหาเดชา หรือ “เค ร้อยล้าน” บุกเข้าล็อกคอนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมขู่ว่ามีระเบิดในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 27 ที่จัดขึ้นศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมเอเปกนั้น เป็นการเข้าข่ายการก่อการร้ายหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจพิจารณากฎหมาย มีข้อพิจารณาอยู่แล้ว ขออย่าขยายอะไรที่เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้งก็แล้วกัน ขอร้องสื่อเท่านั้น

ด้าน พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แถลงว่า ในที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ช่องแคบไต้หวัน และสถานการณ์ในประเทศเมียนมา โดยไทยมีท่าทีอย่างชัดเจนในการสนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาและสันติวิธี การให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่ และยึดถือตามกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศ

โดยที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมเอเปก ซึ่งได้มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง โดยคณะอนุกรรมการรักษาความปลอดภัยและการจราจร ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รายงานว่ายังไม่มีสถานการณ์ที่น่ากังวล แต่ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการให้รัดกุมและละเอียดรอบคอบ ทั้งในด้านการควบคุมสถานการณ์ในภาพรวม การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และแผนเผชิญเหตุเพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับต่างๆ ซึ่งได้รายงานให้ทราบถึงขั้นตอนการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ต่างๆ ให้ทราบแล้ว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผน มาตรการในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในห้วงการประชุมเอเปก 

จากนั้นเวลา 14.00 น. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมสภากลาโหม ครั้งที่ 10/2565 โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ได้รับการตำแหน่งใหม่เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงเป็นนัดแรก ประกอบด้วย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.),  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (สตช.), พล.อ.สนิทชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม

พ.อ.จิตนาถ ปุณโณทก รองโฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหมว่า รมว.กลาโหมกำขับหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม เหล่าทัพ และสํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช.) ให้การสนับสนุนกระทรวง

การต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมความพร้อมสําหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก ทั้งในด้านการต้อนรับ การจัดกองทหารเกียรติยศ การดูแลรักษาความปลอดภัย และการอารักขาบุคคลสําคัญ ซึ่งจะต้องกําหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับบุคคล เอกสาร และสถานที่อย่างเข้มงวดและรัดกุม รวมทั้งฝึกซ้อมแผนการปฏิบัติและการแก้ไขปัญหาวิกฤตต่างๆ ให้พร้อมรองรับกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วไป ได้รับทราบและเข้าใจถึงความสําคัญของการจัดการ ประชุมฯ และร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดีในการประชุมด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภากลาโหม หน่วยงานด้านการข่าวได้สรุปกลุ่มเฝ้าระวัง กลุ่มที่เคลื่อนไหวอาจจะกระทบภาพลักษณ์ประเทศ เป็นกลุ่มที่ต้องจับตา รวมถึงกลุ่มที่เคยก่อความรุนแรงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องจับตาด้วยเช่นกัน ในการประชุมเอเปก ทั้งนี้ จะมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการข่าวส่วนหน้า โดยมีสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เป็นแกนหลัก กองบัญชาการตำรวจสันติบาล หน่วยข่าวกรองทางทหาร (ขกท.) และศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมแผนรักษาความปลอดภัย โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.เส้นทาง 2.สถานที่ และ 3.ผู้นำ อย่างไรก็ตามขณะนี้สถานการณ์ในภาพรวมยังไม่พบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล

หัวลำโพงคึกคัก! 'อิ๊งค์' นำทีม พท. สัมมนาหัวหิน ตื่นเต้นขึ้นรถไฟรอบ 20 ปี

’แพทองธาร‘ นำทีม ’เพื่อไทย’ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งหน้าสัมมนาหัวหิน ‘เศรษฐา-โอ๊ค-เอม’ ร่วมด้วย ตื่นเต้นนั่งรถไฟรอบ 20 ปี