สั่งจ่ายเยียวยาไม่รอนํ้าลด

“บิ๊กตู่” เผย ครม.ทบทวนเยียวยาน้ำท่วมให้ถึงมือ ปชช. “อะไรจ่ายได้ให้จ่ายไปก่อน”  ยัน รบ.ไม่นิ่งนอนใจ พร้อมเตรียมงบกลาง 2 พันล้าน สั่งมหาดไทยยึดโมเดลปี 54 จ่ายครอบครัวละ 5  พันบาท รมต.สาย พปชร.ชงเพิ่ม 6-7 พันบาทพ่วงค่าครองชีพ ด้าน “ภท. ” รอ กกต.ตอบ ส.ส.ช่วยได้หรือไม่ “ปชป.” ยื่นญัตติด่วนปลดล็อกกฎเหล็ก

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยว่า ตอนนี้มีความคืบหน้า โดยที่ประชุม ครม.ได้นำมาทบทวนตั้งแต่ปี 2554 และปี 2562-2563 มาพิจารณาดู ซึ่งตนได้เร่งรัดให้มีการจ่ายเยียวยาประชาชนในสิ่งที่ทำได้เร็ว เพราะเข้าใจว่าเดือดร้อนเยอะ  ส่วนการดูแลพิเศษเพิ่มเติมทางกระทรวงมหาดไทยจะทำเสนอมาทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มีความแตกต่างเนื่องจากมีวงกว้าง ซึ่งตนได้อธิบายเหตุผลไปแล้ว เจอทั้งพายุโนรู ล่องความกดอากาศ ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมากเกินที่จะรับได้

ฉะนั้นการระบายน้ำในช่องทางปกติจะเป็นปัญหาน้ำท่วมล้นข้ามฝั่งกระจายไปทั่ว ตนจึงได้เร่งรัดเมื่อการระบายน้ำปกติแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก น้ำทางเหนือลดลง ฉะนั้นน้ำเหล่านี้จะกลับสู่ระบบระบายน้ำปกติ ถ้าไม่ได้ก็ต้องเร่งการสูบเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งการลงพื้นที่เมื่อวันที่ 24 ต.ค. ตนไปดูมาแล้ว เมื่อถามว่าที่บอกว่ามีการเปลี่ยนแปลงในรอบ 16 ปี หมายถึงแผนการบริหารจัดการน้ำหรืออย่างไร นายกฯ กล่าวว่า มีเยอะแยะที่รัฐบาลได้ทำมา ถ้าเราไม่เจอสถานการณ์พายุ ร่องความกดอากาศต่ำ ปริมาณน้ำฝนที่มากผิดปกติ การระบายน้ำปกติสามารถระบายได้ เพราะเราทำอะไรไปเยอะพอสมควร

วันนี้เนื่องจากว่าน้ำที่สะสมมาจากทางเหนือต้องค่อยๆ ระบายมาเรื่อยๆ ซึ่งมีการพร่องน้ำไว้ล่วงหน้าด้วยซ้ำ แต่ปรากฏว่าฝนมามากกว่า 2-3 เท่า และสะสมในพื้นที่ทำให้ระบบการระบายน้ำในระดับปกติกองไว้เต็มหมด แต่ก็ยังน้อยกว่าปี 2554 ทั้งที่ปริมาณน้ำไม่ต่างจากปี 2554 ซึ่งเราได้บริหารอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ เห็นใจคนที่เดือดร้อนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำฝั่งคลองได้รับผลกระทบแน่นอน เราก็จะเตรียมการในระยะต่อไปจะเพิ่มคันนบน้ำหรือไม่ ซึ่งต้องดูในเรื่องงบประมาณแผนงานต่างๆ ต้องปรับ

 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งการในเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม โดยขอให้เร่งดำเนินการในเรื่องการระบายน้ำอย่างเร่งด่วน ในการดูแลและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ด้วย โดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานในที่ประชุม ครม.ถึงภาพรวมของการช่วยเหลือในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในส่วนของน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.-24 ต.ค.65 มีจำนวน 59 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ และมีครัวเรือนได้รับผลกระทบ 528,000 ครัวเรือน  ซึ่งในปัจจุบันยังมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมขังหรือน้ำล้นตลิ่งอยู่ 26 จังหวัด และมีครัวเรือนได้รับผลกระทบกว่า 435,700 ครัวเรือน และที่ผ่านมากระทรวงต่างๆ ได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปบ้างแล้ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน  

“นายกฯ สั่งการให้กระทรวงต่างๆและกระทรวงมหาดไทยไปหาแนวคิดในการช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยา โดยได้นำแนวทางการเยียวยาในปี 2554 ครอบครัวละ 5,000 บาท และปี 2559 ครัวเรือนละ 3,000 บาทมาเป็นแนวทางในการพิจารณาเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นายกฯ ย้ำว่าขอให้เร่งดำเนินการจัดทำ โดยอาจจะไม่ต้องรอให้น้ำลดแล้วค่อยพิจารณาดูแลอาจจะมีการพิจารณา โดยเร็วภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจว่ารัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องในการเยียวยา นอกจากนี้ ผู้ที่ยังติดค้างอยู่ในบ้านหากมีความจำเป็นเหตุเป็นที่จะต้องให้การช่วยเหลือ รวมถึงผู้ป่วยติดเตียง ให้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลืออย่างทั่วถึง” นายอนุชากล่าว

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ได้เล่าถึงการลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จ.สิงห์บุรี เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับสอบถามว่า เงินเยียวยาจะจ่ายได้เมื่อไหร่ โดยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า การเยียวยามีหลักเกณฑ์อยู่ ต้องให้กระทรวงมหาดไทยเสนอเรื่องเข้ามาเพื่อเบิกจ่าย ส่วนเรื่องเรื่องเกษตรกรจะช่วยเหลือผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เสนอว่าการเยียวยาถึงอย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อความเสียหาย จึงอยากให้ทหาร ตำรวจ และนักเรียนอาชีวะเข้าไปช่วยซ่อมแซมบ้านเรือนอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ ยังอยากเสนอให้รัฐมีมาตรการอื่นๆ พิจารณาตามความหนักเบาของแต่ละพื้นที่ เช่น การแจกข้าว เพราะพื้นที่อีสานทำนาปีละครั้งและจะเก็บเกี่ยวช่วงปลายปี แต่เกิดน้ำท่วมเสียก่อน จึงไม่มีข้าวกินและไม่มีข้าวขาย

ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง  เลขาฯ พปชร. กล่าวเสริมว่า เรื่องการเยียวยาก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ แต่ขณะนี้น้ำท่วม ชาวบ้านไม่รู้จะทำอย่างไร อยากให้ช่วยค่าครองชีพก่อน โดยมีรัฐมนตรีหลายคนเห็นด้วย ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม รองหัวหน้าพรรค พปชร. เสนอว่า หลักเกณฑ์เยียวยา 5,000 บาทเป็นหลักเกณฑ์เยียวยาเมื่อสิบปีก่อน ตอนนี้ถ้าจะเพิ่มเป็น 6,000-7,000 บาทได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์จึงกล่าวสรุปว่าอะไรจ่ายได้ให้จ่ายไปก่อน อย่างเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยมีการเตรียมงบกลางเอาไว้ 2,000 ล้านบาทแล้ว ถ้าจะเพิ่มเติมอะไรค่อยว่าในภายหลัง 

'บิ๊กตู่'โพสต์ขอเชื่อใจ รบ.

ช่วงเย็น พล.อ.ประยุทธ์โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เรียนพี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน ในช่วงที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามดูแลการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ได้รับฟังปัญหาจากพี่น้องในพื้นที่ และได้เร่งรัด กำชับให้ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และรวดเร็วที่สุด

โดยได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รายงานผลการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการประชุม ครม. ในวันนี้  อาทิ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และจังหวัด ได้ให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ได้แก่ ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต รายละไม่เกิน 29,700 บาท 

กรณีบาดเจ็บสาหัสฯ ให้จ่ายเบื้องต้นรายละ 4,000 บาท ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ เท่าที่จ่ายจริงหลังละ 49,500 บาท ด้านการเกษตร ช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติที่พืชตาย หรือเสียหายตามจำนวนพื้นที่ทำการเกษตรจริงที่ได้รับความเสียหาย ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยคิดจากต้นทุนการผลิตเฉลี่ย โดยช่วยเหลือไปแล้วรวมทั้งสิ้น จำนวน 79,013,666.76 บาท

กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดค่าจัดการศพ รายละ 50,000 บาท เงินทุนเลี้ยงชีพ แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ครอบครัวละ 30,000 บาท เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ อีกครอบครัวละ 50,000 บาท ค่าวัสดุในการก่อสร้างซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง ไม่เกินหลังละ 220,000-230,000 บาท เสียหายมาก ไม่เกินหลังละ 70,000 บาท และเสียหายน้อย ไม่เกินหลังละ 15,000 บาท

ค่าเครื่องอุปโภคและเครื่องใช้อื่นๆ ที่จำเป็นแก่ครอบครัวแก่ผู้ประสบภัยพิบัติเฉพาะบ้านเรือนที่เสียหายทั้งหลัง และเสียหายมากครัวเรือนละ 5,000 บาท  โดยได้จัดทำถุงยังชีพ และมอบไปแล้ว 92,361 ถุง ใน 13 จังหวัด คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 64,652,700 บาท

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 151 ราย รายละ 3,000 บาท เป็นเงิน 453,000 บาท ตามระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาทางสังคมกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยาง กรณีสวนยางประสบภัย รายละไม่เกิน 3,000 บาท

สำนักงบประมาณได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ประกอบด้วย งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 92,400 ล้านบาท และงบกลางรายการชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จำนวน 2,000 ล้านบาท ซึ่งในกรณีหน่วยงานมีความจำเป็นต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยพิบัติ สามารถขอรับการจัดสรรจาก 2 ส่วนนี้ได้

นอกจากนั้น หน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ยังระดมความช่วยเหลือสู่พี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เช่น กรมสรรพากร มีมาตรการการลดหย่อนภาษี กรมสรรพสามิต ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยการขยายเวลายื่นแบบภาษี กรมธนารักษ์ ยกเว้นค่าเช่าสำหรับผู้เช่าที่ราชพัสดุเป็นเวลา 1 ปี กรมชลประทาน เร่งผลักดันน้ำจากพื้นที่ลุ่มต่ำออกไปสู่แม่น้ำสายหลักโดยเร็ว

กรมประชาสัมพันธ์รายงานข้อมูล ข่าวสารด้านพยากรณ์อากาศ สถานการณ์น้ำในพื้นที่ ให้คำแนะนำ และเตรียมช่องทางการติดต่อเพื่อขอรับความช่วยเหลือ และยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำข้อมูลและมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาโดยด่วน

“ขอให้พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ได้เชื่อใจว่าผมและรัฐบาลได้รับทราบความเดือดร้อนของทุกท่านโดยไม่นิ่งนอนใจ ทั้งในพื้นที่ที่ผมได้ไปตรวจเยี่ยม หรือพื้นที่ที่ไม่ได้ไปก็ได้รับรายงานและติดตามอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา และจะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ในช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับทุกพื้นที่โดยเร็วที่สุดครับ” นายกฯ โพสต์เฟซบุ๊ก

รอ กกต.​ตอบ ส.ส.​ช่วยได้ไหม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ​ รมว.คมนาคม​ ในฐานะเลขาธิการพรรคภูมิใจ​ไทย (ภท.)  ถึงกรณีนายอนุทิน​ ชาญวีรกูล​ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ภท. อยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง​ (กกต.) ​ผ่อนคลายระเบียบ ส.ส.ลงพื้นที่หาเสียง​ว่า​ นายอนุทิน ได้ทำหนังสือหารือไปที่​ กกต.แล้ว ยังไม่ได้คำตอบกลับมา ทั้งนี้ ต้องรอให้ กกต.วินิจฉัย​ อย่างที่ทราบกันว่าในปีนี้ เรื่องอุทกภัยค่อนข้างรุนแรง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนก่อนที่ กกต.จะออกระเบียบ​ อย่างไรก็ตาม ส.ส.อยากจะช่วยดูแล ส่วน กกต.จะตอบกลับมาเมื่อใดนั้น ต้องถามที่ กกต.

 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรมในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์กรณีนายอนุทิน เสนอให้ กกต.ผ่อนคลายกดเหล็ก 180 วันว่า เป็นข้อเสนอที่ดีอะไรที่ช่วยชาวบ้านถือว่าดีทั้งนั้น ส่วนพรรคพลังประชารัฐจะเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่นั้นตนไม่ทราบ

 เมื่อถามว่า การที่นักการเมืองไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อน ถือว่าเป็นปัญหาหรือ ไม่  นายสมศักดิ์ตอบว่า ปกติข้าราชการที่อยู่ต่างจังหวัดก็ช่วยประชาชนอยู่แล้ว ที่ผ่านมา ส.ส.ก็นำความเดือดร้อนของประชาชนไปหาแนวทางช่วยเหลือในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว รวมทั้งมีข้อเสนอมายังรัฐบาลให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด แต่กฎเหล็กที่ ออกมายอมรับว่าประชาชนเสียโอกาสไปส่วนหนึ่ง หาก กกต.ผ่อนคลาย เรื่องดังกล่าวจะถือว่าเป็นประโยชน์โดยรวม และตนเห็นด้วย

ที่รัฐสภา นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า ตนพร้อมด้วยนายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.อุบลราชธานี และ น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรค ปชป. ร่วมกันเสนอญัตติด่วนต่อสภา เพื่อให้มีการผ่อนคลายกฎของหน่วยงาน เช่น กกต. เพื่อให้นักการเมืองสามารถลงไปช่วยเหลือประชาชนได้ และผ่อนคลายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้มีความคล่องตัว

 และขอเร่งรัดให้รัฐบาลใช้งบกลางที่มีเป็นจำนวนมาก ให้ทันกับสถานการณ์โดยรีบด่วน เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และต้องให้สอดคล้องกับกติกาและยึดหลักการถูกต้องในการเบิกจ่าย ซึ่งญัตติดังกล่าวจะนำเข้าหารือในที่ประชุมพรรค ปชป. เพื่อขออนุมัติ แต่ทราบว่าพรรคอนุมัติให้ยื่นญัตติอยู่แล้ว โดยจะมีการยื่นในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาต่อไป

ที่สำนักงาน กกต. นายมงคลกิตติ์  สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ เข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อสอบถามหาช่องทางในข้อกฎหมาย ในการเปิดช่องทางรับบริจาคเพื่อระดมทุนช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผ่านโครงการ "ONE MAN ON CHAOPHRAYA RIVER" ว่ายข้ามเจ้าพระยา โดยนายมงคลกิตติ์กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนหลายจังหวัดได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม ซึ่งมีส่วนราชการที่สามารถช่วยได้มีแค่ อบต. เทศบาล อบจ. และจังหวัด ที่มีงบจำนวนจำกัด โดยช่วยเหลือประชาชนได้ไม่เกิน 10% ของความเดือดร้อนทั้งหมด และไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล

หัวลำโพงคึกคัก! 'อิ๊งค์' นำทีม พท. สัมมนาหัวหิน ตื่นเต้นขึ้นรถไฟรอบ 20 ปี

’แพทองธาร‘ นำทีม ’เพื่อไทย’ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งหน้าสัมมนาหัวหิน ‘เศรษฐา-โอ๊ค-เอม’ ร่วมด้วย ตื่นเต้นนั่งรถไฟรอบ 20 ปี