สามนิ้วไม่กลัว "รุ้ง" นำทีมประกาศท้าทายคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ นัดชุุมนุม 14 พ.ย. อ้างศาลไม่ได้บอกว่าล้มล้าง แค่ "อาจจะ" นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ยืนยันลิ้นพัน "ปฏิรูป ไม่ใช่ล้มล้าง" สุดท้ายด่าศาลทำเกินอำนาจ พยายามสร้างประวัติศาสตร์ เปลี่ยนไปจากระบอบประชาธิปไตย ตำรวจบุกรวบมือแฮ็กเว็บไซต์ศาล รธน. เป็นหนุ่มอุบลฯ วัย 33 จบวิทยาศาสตร์การแพทย์
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อมด้วยแนวร่วมประชาธิปไตย แถลงข่าวคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และนัดหมายชุมนุมวันที่ 14 พฤศจิกายน เวลา 15.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเดินขบวนไปยังสนามหลวง
ทั้งนี้ แถลงการณ์ระบุว่า "ขอส่งสารนี้ถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยทุกท่าน ยืนยันว่าข้อเรียกร้องของพวกเรา ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพวกเราไม่อาจยอมรับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนี้ได้ ศาลไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการไต่สวนแม้จะมีการร้องขอแล้วก็ตาม ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงมองว่ามีความพยายามเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลง
หากพวกเราปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ย่อมหมายความว่าพวกเราไม่เคารพต่อรัฐธรรมนูญอันตั้งตระหง่านเหนือศาลรัฐธรรมนูญ จึงเรียกร้องขอให้ปรับปรุงแก้ไขการวินิจฉัย อีกทั้งยืนยันในข้อเสนอการปฏิรูปสถาบัน 10 ประการ และในวันที่ 14 พ.ย. ขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยผู้บริบูรณ์พร้อมด้วยศักดิ์ศรี สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ทุกท่าน ทุกความคิดทางการเมือง ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายอนุรักษนิยม ทุกช่วงวัย ทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ โปรดมารวมตัวพร้อมกัน ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตจำนงยืนยันว่า การปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อ มิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการล้มล้างการปกครอง"
น.ส.ปนัสยากล่าวต่อไปว่า "คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดด้วยซ้ำว่า เราล้มล้างการปกครอง แต่พูดว่า 'อาจจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง' ดังที่ยืนยันในแถลงการณ์และการพูดทุกครั้งว่า ข้อเรียกร้องต่อการปฏิรูปสถาบัน ก็แค่เพื่อการปฏิรูป เช่นนั้น หากมีข้อกล่าวหาเพิ่มเติมก็ย่อมเป็นเครื่องมือทางการเมือง
ถ้าจะบอกว่าเราล้มล้าง ทั้งที่เราไม่ได้ล้มล้าง ก็ต้องให้ความจริงสู้กันไป ซึ่งเรายืนยันในทุกครั้งอยู่แล้วว่า 'ไม่ใช่' ในการที่จะใช้ ม.113 กับเราในการดำเนินคดี ต้องมีการใช้กำลังประทุษร้ายก่อนจึงจะเข้าข่าย ม.113 แต่การชุมนุมทุกครั้งของเรา เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม รุ้งยอมรับว่ามีความกังวลใจอยู่บ้าง เพราะเราไม่รู้ว่ารัฐนี้จะใช้เครื่องมือใดกับประชาชนได้อีก หรือจะมีอะไรมาทำร้ายประชาชนได้อีก นั่นก็เป็นข้อกังวลหนึ่ง เรายืนยันเหมือนเดิมว่าเราปฏิรูป ไม่ใช่ล้มล้าง
เรามองว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญขัดต่อกฎหมายเสียเองด้วย 1.เป็นคำสั่งที่เกินอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ 2.ในคำวินิจฉัย เป็นตรรกะที่เสมือนพยายามสร้างประวัติศาสตร์ ให้เปลี่ยนไปจากระบอบประชาธิปไตย เราจึงยืนยันว่าคำสั่งนี้ไม่อาจยอมรับได้ แปลว่าเราจะไม่ทำตาม"
น.ส.ปนัสยากล่าวอีกว่า "ตอนนี้อาจจะมีคำถามว่า เมื่อมีคำวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว เส้นทางการปฏิรูปปิดแล้วหรือไม่ จะไปได้อย่างไร อาจจะมีแค่ 2 ทางหรือไม่ แต่เราคิดว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ถึงจะยากแค่ไหน หรือจะปิดทางมากขึ้นเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าประชาชนจะยังสามารถผลักประตูนี้ออกไปให้เปิดอีกครั้งได้ จนกว่าการปฏิรูปสถาบันจะเกิดขึ้นและสำเร็จลง"
เสนอปฏิรูปสถาบันต่อไป
ถามกรณีมีคำร้องยุบพรรคก้าวไกล จากการร่วมชุมนุมและประกันตัวผู้ต้องหาคดี ม.112 แกนนำม็อบสามนิ้วผู้นี้ตอบว่า "ความจริงก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส. เขาทำตามหน้าที่ของเขา ไม่ได้มีอะไร เรามองว่าเป็นเกมต่อเนื่องที่วางแผนมานานแล้ว การที่ให้การเคลื่อนไหวเป็นการล้มล้าง จะนำไปยุบพรรคต่อ อนาคตใหม่ไปแล้ว ก็ยุบพรรคก้าวไกลต่อ ซึ่งเราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า ในอนาคตฝั่งคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับเราจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือใช้อำนาจส่วนใดเพิ่มเติมเพื่อมาสกัดกั้นไม่ให้การปฏิรูปสถาบันเกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ดี เราอยากจะส่งสารไปถึงคนเหล่านั้นด้วยเหมือนกัน"
ด้านนายกรกช แสงเย็นพันธ์ หรือปอ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ยืนยันว่า สิ่งที่เราเคลื่อนไหวมาตลอดและจะเคลื่อนไหวต่อไปคือ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน แต่จากคำวินิจฉัยที่ได้ชี้ไป ยืนยันเหมือนเดิมว่าเป็นหน้าที่ของประชาชน เราก็คือประชาชนที่ออกมาทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตย ในการปกป้องระบอบการปกครองดังกล่าว ซึ่งเรายืนยันว่า ในอนาคตจะยังเรียกร้องข้อเสนอปฏิรูปสถาบันต่อไป และยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวคือการชี้ให้เห็นถึงระบอบประชาธิปไตย
นายธัชพงศ์ แกดำ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) กล่าวว่า ชนชั้นนำไทยกำลังทำร้ายหลายอย่าง ทำลายศาสตร์การรับรู้ วันนี้คุณไม่สามารถตอบเด็กประถมเด็กมัธยมได้เลยว่า คำว่าปฏิรูปกลายเป็นการล้มล้างได้อย่างไร ครูในชั้นเรียนวันนี้กระทบทั้งระบบ วันพรุ่งนี้จะเป็นวันที่เราทุกคนต้องออกมายืนหยัดว่า ประเทศนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นอนาคตของประชาชนคนไทยทุกคน ไม่ใช่ของชนชั้นปกครองอย่างเดียว
ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท. ได้สั่งการให้กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมประชุมกับศาลธรรมนูญ พร้อมด้วยผู้แทนจาก สกมช., ดีเอสไอ, ฝ่ายเทคโนโลยีของศาล และบริษัทผู้ดูแลเว็บไซต์ เพื่อหาสาเหตุและเส้นทางจราจรคอมพิวเตอร์ของคนร้าย ณ ห้องประชุมชั้น 9 ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยพนักงานสอบสวน บก.สอท.1 ได้รับคำร้องทุกข์และสอบปากคำผู้รับมอบอำนาจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีไว้ในเบื้องต้น
จากการสืบสวนและการตรวจสอบทางเทคนิคพบว่า ร่องรอยการโจมตีจากระบบเครือข่ายทางศาลรัฐธรรมนูญ และตรวจพบหมายเลขไอพีของผู้ต้องสงสัย ซึ่งสามารถพิสูจน์ทราบยืนยันตัวตนของผู้ต้องสงสัยพร้อมพิกัดที่อยู่ได้ กอปรกับกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้รับเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายที่ถูกโจมตีจากศาลรัฐธรรมนูญไว้ดำเนินการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล เพื่อตรวจพิสูจน์วิธีการกระทำความผิดและยืนยันตัวตนผู้บุกรุกและเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว
โดยช่วงเย็นวันที่ 2 พ.ย. กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ได้ขออนุมัติหมายค้นบ้านผู้ต้องสงสัย ภายในบ้านพักแห่งหนึ่งใน ต.แสนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับในช่วงเช้าวันที่ 13 พ.ย.ได้ประสานงานร่วมกับ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ในการเข้าตรวจค้นบ้านผู้ต้องสงสัย
มือแฮ็กหนุ่มอุบลฯ
จากการเข้าตรวจค้นพบตัวผู้ก่อเหตุ ทราบชื่อคือ นายวชิระ (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี จบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้แฮ็กเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญจริง จึงได้สอบปากคำไว้เป็นหลักฐาน พร้อมยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เพื่อส่งให้กลุ่มงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ดำเนินการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลต่อไป
การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐาน เข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบและข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ ตามมาตรา 5, 7 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 2 ปี และปรับไม่เกิน 40,000 บาท และหากผู้กระทำมีการทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ก็จะมีความผิดตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,00 บาท
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution กล่าวถึงกรณีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน จำนวน 150,921 รายชื่อ จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้ว่า นับเป็นความพยายามครั้งที่ 2 ของภาคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เข้าสู่รัฐสภา หลังจากก่อนหน้านี้ร่างของภาคประชาชนนำโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ถูกปัดตก เพราะติดเงื่อนไขสำคัญในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (3) ที่กำหนดให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา หรือ 366 คนขึ้นไป และต้องได้เสียงจาก ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คนด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีสาระสำคัญตามหลักการและเหตุผลที่ภาคประชาชนขอแก้ไข คือ
1.การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรัฐสภา ในหมวดที่ 7 ว่าด้วยเรื่องรัฐสภา จากเดิมมีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎรเพียงสภาเดียว โดยให้เหตุผลว่าวุฒิสภาเป็นกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเพิ่มบทบาทให้สภาผู้แทนราษฎรและ ส.ส.ฝ่ายค้านตรวจสอบควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ส.ว.ฟันธงร่าง รธน.ตกแน่
2.การปรับโครงสร้างของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นองค์กรที่คำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กร มีผลต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ เป็นผู้ชี้เป็นชี้ตายทางรัฐธรรมนูญทั้งหมด จนกลายสภาพเป็นองค์กรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ และมีการใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยเสนอให้แก้ไขให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน มีที่มาจากการเสนอชื่อของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 3 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 3 คน และที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด 3 คน ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือก และห้ามศาลรัฐธรรมนูญกระทำการอันมีผลขัดขวางต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
3.การให้องค์กรอิสระต้องพ้นจากตำแหน่งทันที หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้
4.การยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแก้ไขให้การแก้รัฐธรรมนูญเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 3 วาระ ไม่มี ส.ว.เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยวาระ 1 และ 3 ใช้เสียงสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ 2 ใน 3 ส่วนการแก้ไขวาระ 2 ใช้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
5.การยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 257-261 ที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
6.การเพิ่มหมวด เรื่องการลบล้างผลพวงการรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค.57 โดยให้คำสั่ง คสช.และหัวหน้า คสช.มีผลเป็นโมฆะทั้งหมด รวมถึงการให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ต่อต้านการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญ โดยให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ก่อการรัฐประหาร และห้ามศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวงรับรองความสมบูรณ์ของการรัฐประหารหรือความสมบูรณ์ของกฎหมายแก่ผู้ก่อการรัฐประหาร
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ส่วนตัวดูแล้วโอกาสผ่านยาก เพราะเนื้อหาที่เสนอแก้ไขเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง องค์กรอิสระ และยังเปิดช่องให้แทรกแซงการทำงานของศาลและองค์กรอิสระได้ ฝ่ายที่เสนอมารู้อยู่แก่ใจว่าโอกาสไม่ผ่านมีสูง แต่ยังเสนอเข้ามา เพื่อใช้สร้างความชอบธรรมในการเรียกมวลชนว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนถูกปฏิเสธโดยรัฐสภา ต้องการให้ประชาชนเข้าใจรัฐสภาผิด ทั้งที่รัฐสภาไม่มีเจตนาเช่นนั้น
ส่วนนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ขอฟันธง 100% ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจะไม่ผ่านวาระรับหลักการจากรัฐสภา ส.ว.ไม่มีทางเห็นชอบเกิน 1 ใน 3 หรือ 84 คนแน่นอน เนื้อหาที่เสนอแก้ไขไม่เรียกว่าปฏิรูป แต่เป็นการปฏิวัติ เพราะเป็นการแก้ไขทั้งโครงสร้างรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระให้เป็นตามที่ฝ่ายตนต้องการ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน
พ่อนายกฯเคลียร์MOUสยบม็อบ
อิ๊งค์พร้อม! จัดชุดใหญ่แถลงผลงานรัฐบาล ลั่นรอจังหวะไปตอบกระทู้
รบ.อิ๊งค์ไม่มีปฏิวัติ! ทักษิณชิ่งสั่งยึดกองทัพ เหน็บอนุทินชิงหล่อเกิน
"ทักษิณ" โบ้ยไม่รู้ "หัวเขียง" ชงแก้ร่าง กม.จัดระเบียบกลาโหม
ศาลรับคำร้อง ให้สว.สมชาย หยุดทำหน้าที่
ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง “สมชาย เล่งหลัก” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สว.
คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ"
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม