‘บิ๊กตู่’ลงสิงห์บุรี อนุทินวอนกกต. ทบทวนนํ้าท่วม

“อนุชา” เผย “ประยุทธ์” เตรียมขนคณะใหญ่ลุยสิงห์บุรี เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วม “ปภ.” เผยมี 59 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบแล้ว “อนุทิน” ลงพื้นที่อ่างทอง โอดน้ำมาหลากหลาย เตรียมรายงานที่ประชุม ครม. พร้อมวอน กกต.ทบทวนกฎต้องผ่อนคลายบ้าง

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีกำหนดการเดินทางไปตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดสิงห์บุรี ในวันจันทร์ที่ 24 ต.ค. โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, แม่ทัพภาคที่ 1, อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอธิบดีกรมชลประทาน ร่วมคณะลงพื้นที่ด้วย

นายอนุชากล่าวอีกว่า สำหรับกำหนดการนั้น ในเวลาเวลา 08.00 น. คณะนายกฯ ออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ จาก พล.ม.2 รอ. เขตพญาไท ไปยังจุดจอด ฮ. สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สิงห์บุรี ต.บางมัญ อ.เมืองสิงห์บุรี โดยนายกฯ จะรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือ ณ ห้องรับรองสนามกีฬา อบจ.สิงห์บุรี จากนั้นจะไปยังหมู่ที่ 3 ต.บางกระบือ อ.เมืองฯ จ.สิงห์บุรี โดยขบวนรถยนต์ ก่อนจะลงเรือท้องแบนเพื่อพบปะให้กำลังใจประชาชนและเยี่ยมบ้านเรือนที่ประสบอุทกภัย จากนั้นจะออกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ไปยังวัดพิกุลทอง ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี ซึ่งระหว่างทางนายกฯ จะแวะทักทายประชาชนบริเวณวัดจำปาทอง หมู่ที่ 5 ต.โพประจักษ์ อ.ท่าช้าง จ.สิงห์บุรี และจะไปตรวจเยี่ยมให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย บริเวณหมู่ที่ 3 ต.พิกุลทอง อ.ท่าช้าง ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ

นายอนุชากล่าวอีกว่า ปภ.รายงานผลกระทบอุทกภัยช่วงวันที่ 28 ก.ย.-20 ต.ค.ว่า เกิดสถานการณ์อุทกภัยรวม 59 จังหวัด 333 อำเภอ 1,673 ตำบล 10,271 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 480,787 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 6 ราย โดยสิงห์บุรีมีน้ำท่วมในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อินทร์บุรี, เมืองสิงห์บุรี, ท่าช้าง, พรหมบุรี, บางระจัน และค่ายบางระจัน รวม 24 ตำบล 145 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,575 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว ซึ่ง ณ วันที่ 21 ต.ค. 65 เวลา 08.00 น. พื้นที่ทั้ง 6 อำเภอของสิงห์บุรี ยังเป็นพื้นที่เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง

 “นายกฯ ห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ยืนยันว่ารัฐบาลจะเร่งดูแลเยียวยาประชาชนโดยเร็วที่สุด โดยการลงพื้นที่ของนายกฯ และคณะ เพื่อติดตามการช่วยเหลือและให้กำลังใจประชาชน ซึ่งในส่วนของการให้ความช่วยเหลือ ปภ.จังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป” นายอนุชากล่าว

ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข พร้อมคณะได้เดินทางไปมาที่จังหวัดอ่างทอง บริเวณแยกป่างิ้ว รพ.โพธิ์ทอง และ รพ.อ่างทอง เพื่อตรวจเยี่ยมปัญหาน้ำท่วม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ก่อนเดินทางต่อไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณตลาดสามกอ อ.เสนา และ รพ.เสนา

นายอนุทินระบุว่า น้ำหลากมาจากทั่วสารทิศ ภาครัฐต้องช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ ต้องเน้นเรื่องสิ่งของงอุปโภคบริโภค นักการเมืองติดขัด ภาครัฐต้องดูแล ส่งลงมาให้เร็วที่สุด ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข อะไรทำได้ เรารีบทำ ฝ่ายท้องถิ่นอย่างท่านนายก อบจ.อ่างทอง ท่านได้เร่งระดมถุงยังชีพเข้าพื้นที่ ส่วน ส.ส.อ่างทอง ท่านก็ประสานขอความช่วยเหลือ พร้อมแจ้งข่าวสารมาตลอด จากที่เห็นตรงนี้ มันยิ่งกว่าน้ำท่วม มันคือน้ำหลากที่มาจากหลายทิศหลายทาง มันไหลเข้ามาไม่หยุด อะไรก็กั้นไม่อยู่ บ้านเรือน เรือกสวนไร่นาเสียหายหมด

 “ถ้าผู้ใหญ่ใน กกต.ลงมาเห็น ท่านจะรู้ว่าสถานการณ์มันแย่จริงๆ ท่านจะยกเลิกระเบียบได้ไหม ตอนนี้ นักการเมือง ผู้แทนราษฎร ต้องช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ใช่ให้มาแค่ส่งข่าว ประสานงาน เขาอยากทำ แต่ติดกฎกรอบทั้งหลาย มันทำได้ไม่เต็มที่ อยู่กันแบบนี้ไม่ได้แล้ว ฝากผู้ใหญ่ ช่วยกันดูหน่อย ขออนุญาตให้บุคคลทางการเมืองได้ลงไปดูแลประชาชน ให้เขาได้ทำมากกว่านี้ได้หรือไม่ ผมจะรายงาน ครม.ว่าผมเห็นอะไรบ้าง ส่วนนักการเมือง สถานการณ์หนักขนาดนี้ ท่านรวมตัวไปขอ กกต. เพราะมันถึงเวลาที่กฎระเบียบต่างๆ มันต้องผ่อนคลายลงมาได้แล้ว สถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า มันทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องเล็ก ถ้าช่วยประชาชนตอนน้ำท่วมไม่ได้ เลือกตั้งไปก็เท่านั้น”นายอนุทินระบุ

ด้าน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ มท.กำลังดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งมีที่ จ.อุบลราชธานี ที่ได้รับผลกระทบมากจากปัญหาลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี โดยจะเฉพาะการดำเนินชีวิตในช่วงนี้ให้ได้ก่อน หลังจากระบายน้ำจนสามารถฟื้นฟูได้แล้วจะเร่งฟื้นฟูประชาชนตามนโยบายของนายกฯ โดยเร็ว และเตรียมให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพได้ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาขณะนี้ไหลลงไปในพื้นที่เกษตรเสียเป็นส่วนใหญ่ หากสามารถฟื้นฟูได้จะคอยดูแล

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ได้สำรวจความเสียหายตามพื้นที่ต่างๆ เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้ดูแลประชาชนความเป็นอยู่ที่ดีให้ได้ก่อน เพราะหลายพื้นที่ประชาชนยังอพยพอยู่ในศูนย์พักพิงจำนวนมาก เช่น อุบลราชธานี ยืนยันว่าหากน้ำลงจะเร่งฟื้นฟูทันที และเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย รวมถึงการชดเชยการทำมาหากิน โดยเราจะเร่งสำรวจในช่วงสถานการณ์คลี่คลาย ตอนนี้ยังสำรวจไม่ได้เพราะน้ำยังมากอยู่

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอิทธิพลมาจากพายุอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่ง ในหลายพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ส่งผลให้ประชาชนและพี่น้องเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับความเดือดร้อน ผลผลิตสัตว์น้ำเกิดความเสียหาย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์แสดงความห่วงใยต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ สั่งการส่วนราชการเร่งเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

น.ส.รัชดากล่าวต่อว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนนโยบายตามข้อสั่งการของนายกฯ มอบหมายให้หน่วยงานภายใต้สังกัด กษ.บูรณาการร่วมกันเพื่อเร่งให้ความช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด โดยที่ผ่านมาได้สั่งให้หน่วยงานของกรมประมงในพื้นที่ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือ อาทิ นำเรือตรวจเข้ามาพื้นที่ขนย้ายคนออกจากพื้นที่น้ำท่วม นำเสบียงทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น รวมไปถึงจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและตรวจเยี่ยมสำรวจความเสียหาย

น.ส.รัชดากล่าวอีกว่า จากรายงานการสำรวจความเสียหายด้านการประมง ข้อมูล ณ วันที่ 19 ต.ค. พบมีพื้นที่เสียหาย 41 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา, ลำปาง, ลำพูน, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, พิษณุโลก, ตาก, เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, อุทัยธานี, นครราชสีมา, ชัยภูมิ, เลย, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, หนองคาย, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, ลพบุรี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, นครปฐม, กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, กาญจนบุรี, ราชบุรี, ระยอง และตรัง โดยพบเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 21,467 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหายรวมกว่า 2.7 หมื่นไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 464 ล้านบาท ประมาณการวงเงินช่วยเหลือ 200 ล้านบาท ซึ่งกรมประมงจะเร่งสำรวจอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงการคลังต่อไป

 “ผู้ประสบปัญหาต้องการความช่วยเหลือต่างๆ สามารถติดต่อขอรับคำแนะนำหรือขอความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานประมงอำเภอ/สำนักงานประมงจังหวัด/ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงในพื้นที่ หรือ กองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ กลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมง กรมประมง โทรศัพท์หมายเลข 0-2558-0218 และ 0- 2561-4740” น.ส.รัชดากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ