หนังคนละม้วน ชัชชาติโยนสภา เคาะสายสีเขียว

ไม่ตรงปก! "ชัชชาติ” สบช่องโยนสภา กทม.ตัดสินใจปมเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว อ้างชีวิตจริง หนังคนละม้วน สภาฯ คือตัวแทนประชาชน ดังนั้นต้องทำงานด้วยกันไป  ต้องเคารพสภาฯ ให้เกียรติท่าน

เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ว่าปัญหาอยู่ที่การเก็บค่าโดยสาร เก็บอย่างไรก็ไม่คุ้มค่าจ้าง   เพราะมีภาระหนี้ที่บริษัท กรุงเทพธนาคมจำกัด หรือเคที ว่าจ้างบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี  ให้บริการเดินรถปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท และหาก กทม.ตัดสินใจเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย 2 อัตรา 15 บาท จะมีส่วนต่างที่ต้องนำเงินจากสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) มาจ่าย จึงต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา กทม.เพื่อบอกไว้ก่อน

 “ไม่ใช่ว่าเราเก็บค่าโดยสารไปแล้ว แล้วอนาคตต้องขอเงินเพื่อมาชดเชยส่วนต่าง สภา กทม.ก็อาจจะถามว่าทำไมตอนเก็บค่าโดยสารไม่มาบอกก่อนว่าต้องมีส่วนต่าง ถ้าเขารู้ก่อนเขาอาจจะไม่ให้เก็บ 15 บาท ถึงแม้ว่าจะเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่เราก็ไม่ปฏิเสธว่าอนาคตต้องเอาเงินของสภามาจ่ายส่วนต่าง สภา กทม.คงรอข้อมูล เราเคารพและให้เกียรติท่าน”

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการตอบความเห็นส่งคืนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม.ก็รอคำตอบจากสภา กทม.แนบไปด้วย แต่ทางสภา กทม.มีการขอดูเอกสารเพิ่มเติม เพื่อพิจารณาโดยละเอียด แม้ว่าอาจจะไม่ทันประชุมสมัยสามัญนี้ อาจต้องขอขยาย กำลังประสานงานกันอยู่

ผู้ว่าฯ กทม.เผยว่า ปัญหาต้นตอทั้งหมดเกิดจากเรื่องต่างๆ ไม่ได้ผ่านสภา กทม. อย่างหนังสือมอบหมายการให้เดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ระหว่าง กทม.กับเคที ไม่ได้ผ่านสภา กทม. เพราะเท่าที่ฟังมาคงไม่ได้มีภาระหนี้เกิดขึ้น คิดว่าเก็บค่าโดยสารได้แล้วสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ แล้วไม่ต้องผ่านสภา กทม. เพราะไม่ได้ใช้เงินสภา กทม. ทำไปทำมาติดค่าจ้างกว่า 10,000 ล้านบาท ปัญหาเกิดจากการที่ฝ่ายบริหารคิดเองทำเองโดยไม่ปรึกษาสภา กทม.

 “สภา กทม.ถือว่ามีอำนาจสูงสุด เพราะเขาเป็นตัวแทนประชาชน เรื่องพวกนี้ต้องไปดูให้รอบคอบ การให้สภาฯ ดูก็คือการให้ประชาชนดูว่าสถานการณ์เป็นแบบนี้ เรื่องทั้งหมดเราไม่ได้ก่อหรอก เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ฉะนั้นเราก็ต้องดูให้รอบคอบ สภาฯ เองก็คงไม่กล้าอนุมัติอะไรง่ายๆ เงินมันก็เยอะ มีเรื่องกฎหมาย เรื่องสัญญา” นายชัชชาติกล่าว

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า เรื่องนี้มีผู้เกี่ยวข้อง 3 คนคือ กทม., เคที และบีทีเอสซี  โดยสัญญาระหว่างเคทีกับบีทีเอสซีมีการเซ็นสัญญา ส่วน กทม.กับเคทีในส่วนต่อขยายที่ 1  มีสัญญา ซึ่งมีความชัดเจนว่าต้องจ่ายเงินเท่าไหร่ แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 เป็นแค่หนังสือมอบหมายงาน ซึ่งสภา กทม.ไม่ได้รับรู้ รวมไปถึงไม่มีการระบุว่าต้องจ่ายเงินส่วนต่างหลายพันล้าน เพราะคิดว่าจะเก็บเงินค่าโดยสารมาจ่ายหักล้างกับค่าจ้างเดินรถได้

 “พอชีวิตจริง หนังคนละม้วน ก็ใช้เงินจากสภาฯ เยอะ กลายเป็นว่าสภาฯ ยังไม่เห็น แล้วจะไปอนุมัติได้อย่างไร เป็นตัวเงื่อนหลักที่จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ผ่านสภาฯ ฝ่ายบริหารต้องทำงานตามสภาฯ เพราะสภาฯ เป็นคนอนุมัติกรอบงบประมาณทั้งหมด ฝ่ายบริหารอาจจะมีไอเดียเยอะแยะเลย แต่สุดท้ายแล้ว ฝ่ายสภาฯ ต้องเป็นคนดู สภาฯ คือตัวแทนประชาชน ที่มาช่วยคัด กลั่นกรอง ดังนั้นต้องทำงานด้วยกันไป ต้องเคารพสภาฯ” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565   สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สอบ. ได้จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “รถไฟฟ้าต้องถูกลง ทุกคนต้องขึ้นได้ ผู้ว่าฯ กทม.ช่วยได้หรือไม่” โดยวันนั้นนายชัชชาติได้แสดงวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหารถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวใน 5 ประเด็น เช่น การไม่ขยายสัญญาสัมปทาน เร่งแก้ปัญหาหนี้ เปิดเผยสัญญาเดินรถ ฯลฯ

ส่วนประเด็นค่าโดยสาร นายชัชชาติได้ยืนยันชัดเจนว่า จากการคำนวณตัวเลขค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ตลอดสาย 25 บาท พอทำได้ แต่หาก 30 บาทตลอดสาย เอาอยู่ และทำได้สบาย โดยกำหนดราคานี้ในช่วงปี 2565 ถึง 2566 จากนั้นอาจปรับขึ้นตามเงินเฟ้อ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง