เลิกเอาผิดไม่สวมแมสก์/BQ.1โผล่

คกก.โรคติดต่อฯ มีมติยกเลิกความผิดไม่สวมหน้ากากอนามัย “อนุทิน”กางแผน 5 ปีรับมือโรคติดต่อ สร้างระบบป้องกัน เฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพ ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยันข้อมูล GISAID ไทยพบ BQ.1 จริง แต่ไม่ใช่ตัวเดียวกับ BQ.1.1 สายพันธุ์ต้องเฝ้าระวังร่วมกับ XBB ชี้ทั้งหมดอยู่ในตระกูลโอมิครอน ยังไม่มีความรุนแรง 

เมื่อวันพุธ ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข   เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2565 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค  ผู้บริหารและกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดยนายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ภายหลังประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. จัดทำและส่งแผนปฏิบัติการควบคุมโรคโควิด-19 รองรับ การเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงมีการซักซ้อมแผนฯ เพื่อรองรับสายพันธุ์ XBB ยืนยันว่ายังมีระบบเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่วนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 สะสม 143.5 ล้านโดส โดยเด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี ที่เริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2565 อยู่ระหว่างการติดตามผล

สำหรับแผนบริหารจัดการวัคซีน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จะมีวัคซีน 5 ล้านโดส สำหรับเป็นเข็มกระตุ้น 2.8 ล้านโดส เด็กอายุ 5-11 ปี 1 ล้านโดส อายุ 12-17 ปี ที่ไม่เคยรับวัคซีนและผู้ที่เคยติดเชื้อ 1 แสนโดส ผู้อายุ 18 ปีขึ้นไปที่ไม่เคยรับวัคซีนและผู้ที่เคยติดเชื้อ 1 แสนโดส และเด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี 1 ล้านโดส ส่วนกลุ่ม 608 ที่ฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 43.4% จะมีการจัดกิจกรรมรวมพลัง อสม.ส่งต่อภูมิคุ้มกัน ป้องกัน 608 ให้ปลอดภัย โดยจะประชุมมอบนโยบายและแนวทางการเร่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันสู่ 608 ให้ อสม.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด วันที่ 21 ตุลาคม 2565 โดยใช้กลยุทธ์ อสม.เป็นตัวเชื่อมในการรณรงค์

นายอนุทินกล่าวว่า ที่ประชุมยังมีการพิจารณาเห็นชอบอีก 5 เรื่องสำคัญ คือ 1.ร่างแผนปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ. 2566-2570 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวัง  ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อที่มีประสิทธิภาพ เป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนฯ ในเขตพื้นที่จังหวัด/กทม. มี 5 ยุทธศาสตร์สำคัญคือ พัฒนานโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกลไกการบริหารจัดการการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ, พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและยกระดับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อ, ยกระดับการจัดการภาวะฉุกเฉินจากโรคติดต่อ, พัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือระดับชาติและนานาชาติ และพัฒนาการสื่อสารความเสี่ยงและระบบสนับสนุนการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป

2.ร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่อง ยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6)  3.ร่างกฎกระทรวงการจ่ายค่าทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการเฝ้าระวัง การป้องกันและการควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.… ซึ่งกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำขอต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหรือสำนักอนามัย กทม. ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รู้ความเสียหาย และรายงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ภายใน 7 วัน ซึ่งจะพิจารณาค่าทดแทนชดเชยความเสียหายให้เสร็จภายใน 30 วัน หากค่าทดแทนไม่เกิน 1 แสนบาท จะเสนอไปกรมควบคุมโรคดำเนินการจ่าย หากเกิน 1 แสนบาท เสนอเรื่องไปคณะกรรมการโรคติดต่อชาติพิจารณาจ่าย ซึ่งรายการในการจ่ายค่าทดแทน มีทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกาย ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าเสียหายเกิดขึ้นกับทรัพย์สิน เป็นต้น

4.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าชดเชยให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติงานด้านการเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค การป้องกัน หรือการควบคุมโรคติดต่อหรือโรคระบาด พ.ศ.… เพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งติดเชื้อหรือเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังโรคติดต่ออันตราย โรคระบาดจากการปฏิบัติหน้าที่ ได้รับค่าชดเชย ครอบคลุมทั้งสังกัดส่วนกลาง ภูมิภาค กทม. และส่วนท้องถิ่น โดยกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร ได้รับค่าชดเชย 25 เท่าของค่าครองชีพ/เงินเดือน ต้องไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท กรณีสูญเสียอวัยวะ พิการ ได้รับอันตรายสาหัส บาดเจ็บรักษาเกิน 20 วันขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 12.5 เท่าของค่าครองชีพ/เงินเดือน ต้องไม่ต่ำกว่า 2.4 แสนบาท แต่ไม่เกิน 4 แสนบาท และกรณีติดเชื้อและได้รับการรักษาตั้งแต่ 7 วัน แต่ไม่เกิน 20 วัน ได้รับค่าชดเชยไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณ/เงินนอกงบประมาณของกรมควบคุมโรค

และ 5.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแทนของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่ง พ.ศ.… หากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้ออกคำสั่งให้ผู้ใดดำเนินการ แล้วผู้นั้นละเลยไม่ดำเนินการในเวลาที่กำหนด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อต้องดำเนินการแทนและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ให้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามจำนวนที่จ่ายจริง

ด้าน นพ.ธเรศกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เรื่องยกเลิกระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 34 (6) เป็นเรื่องเกี่ยวกับกรณีให้อำนาจจังหวัดในการออกคำสั่งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อมีการยกเลิกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ระเบียบนี้ยังค้างอยู่ จึงยกเลิก ซึ่งไม่ต้องเข้าคณะรัฐมนตรี เพียงแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้เลย ใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

วันเดียวกัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี แจ้งข้อมูลพบโควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 ในประเทศไทยจำนวน 1 รายว่า กรณีที่พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BQ.1 เป็นชายต่างชาติอายุ 40 ปี เดินทางมาจากประเทศจีน รักษาที่โรงพยาบาลใน กทม. ตั้งแต่ปลายเดือน ส.ค.2565 รักษาหายเป็นปกติแล้ว

โดยทางโรงพยาบาลส่งตัวอย่างมาทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตามระบบเฝ้าระวังที่ได้วางระบบไว้ และได้ตรวจสายพันธุ์ ส่งข้อมูลเผยแพร่บนฐานข้อมูล GISAID ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.2565 ณ ขณะนั้นจัดเป็น BE.1.1 มาจาก BA.5.3.1.1.1 จึงทำให้รวบตัวเลขเหลือ BE.1.1 กระทั่งเมื่อมีข้อมูลพบการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง N460K จำนวนมากขึ้น จึงกำหนดเป็นสายพันธุ์ย่อย BQ.1 และเปลี่ยนข้อมูลจาก BE.1.1 เป็น BQ.1 เมื่อมีวันที่ 18 ต.ค.2565

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสเกิดขึ้นเรื่อยๆ BQ.1 เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอนหลายตัวที่องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกให้จับตาดูว่าโตเร็วและอำนาจแพร่กระจายมากขึ้นแค่ไหน สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่โตเร็วสุด แพร่กระจายได้เร็วสุดหรือหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดตอนนี้คือ XBB รองลงมาคือ BQ.1.1 จึงเป็นตัวที่ต้องให้น้ำหนักในการจับตามากสุด ซึ่งเป็นลูกหลานของ BQ.1 และ BQ.1.1 ยังไม่เจอในประเทศไทย โดยขณะนี้ประเทศไทยเรามี XBB, BF.7, BN.1 และ BQ.1 แต่ทั้งหมดยังเป็น โควิด-19 โอมิครอน และยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ความรุนแรงมากขึ้น แต่อาจจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้นได้

สำหรับเส้นทางกลายพันธุ์ของ BQ.1 มาจากโควิด-19 โอมิครอน BA.5 มาเป็น BA.5.3 มาเป็น BE.1.1 มาเป็น BQ.1 และต่อไปเป็น BQ.1.1 ซึ่งเป็นตัวที่แพร่กระจายได้เร็วเป็นอันดับ 2 อยู่ตอนนี้ แต่ยังไม่เจอในไทย ส่วนสายพันธุ์ XBB ที่อำนาจแพร่กระจายได้เร็วสุดอยู่ตอนนี้นั้น กลายพันธุ์มาจากโอมิครอน BA.2 มาเป็น BA.2.10 มาเป็น BJ.1 และเป็น XBB.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ