ชูหนองบัวลำภูนำร่องจังหวัดสีขาว

“บิ๊กตู่” เคาะ “หนองบัวลำภู” เป็นต้นแบบจังหวัดสีขาว สั่ง 30 วันรายงานความคืบหน้าเรื่องยาเสพติด-แชร์ลูกโซ่ ส่วนพนันออนไลน์ให้รายงานตลอดเวลา ครม.เห็นชอบ 4 มาตรการเร่งด่วนปราบยา-อาวุธปืน ส่วน สธ.วางหลัก 7 ข้อ “พท.” ย้ำฟื้นมาตรการยุคไทยรักไทย แจงอย่าหลงเชื่อวาทกรรมฆ่าตัดตอน

เมื่อวันอังคารที่ 18 ต.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการถึงมาตรการดำเนินงานเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายจำนวน 3 เรื่อง คือ 1.เรื่องยาเสพติด ได้กำหนดให้จังหวัดหนองบัวลำภูเป็นต้นแบบของจังหวัดสีขาว โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่ นำการเรียนรู้และศึกษาสิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์นำไปปฏิบัติในพื้นที่อื่นๆ โดยหน่วยงานเกี่ยวข้อง ตลอดจนชุมชนได้มีการปราบปราม เฝ้าระวังแหล่งส่งของ กักเก็บ สถานที่เสพ การดูแลผู้เสพยา และผู้ที่ต้องได้รับการดูแลในเรื่องของการบำบัด โดยให้วางระบบแบบยั่งยืนของจังหวัดด้วย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานให้นายกฯ ทราบภายใน 30 วัน 2.การกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ ปราบปราม ดูพฤติกรรมของกลุ่มเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ปัญหา และรายงานผลความคืบหน้าให้ทราบภายใน 30 วัน และ 3.ปัญหาการพนันออนไลน์ ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติกวดขันจริงจัง และรายงานนายกฯ ตลอดเวลา  

นายอนุชายังกล่าวอีกว่า ครม.ยังเห็นชอบมาตรการและกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด โดยมีมาตรการระยะเร่งด่วนสำคัญ 4 มาตรการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว ดังนี้ 1.มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน ได้แก่ 1.การอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน เช่น เพิ่มเติมเอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองจากต้นสังกัด/นายจ้าง 2.การจัดการอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาต ผ่อนผันให้ผู้ครอบครองนําอาวุธปืนที่ไม่ได้รับอนุญาต/หรือที่มีกฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมาส่งมอบให้แก่ภาครัฐหรือนํามาขึ้นทะเบียน 3.การป้องกันและปราบปรามในเชิงรุก เช่น ตรวจจับการค้าอาวุธที่ไม่ได้รับอนุญาต และ 4.มาตรการทางดิจิทัล เช่น การป้องกันการค้าอาวุธปืนบนแพลตฟอร์มดิจิทัล  

2.มาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เช่น การควบคุมสารเคมีที่นำใช้ผลิตยาเสพติด ทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและยึดทรัพย์ ติดตามจับกุมผู้มีหมายจับคดียาเสพติด การค้นหาผู้ติดยาเสพติดทั่วประเทศ การติดตามข้อร้องเรียนประชาชน การทบทวนผู้เสพเป็นผู้ป่วย และการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (อีเอ็ม) 3.มาตรการด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วนค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยจิตเวช ระยะกลางเร่งรัดจัดตั้งสถานฟื้นฟูสมรรถภาพ และระยะต่อเนื่องใช้ชุมชนเป็นฐานบำบัดยาเสพติด และ 4.มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต เช่น การพัฒนาเครือข่ายในและนอกระบบสุขภาพ และการพัฒนาเครือข่ายในชุมชน 

“มาตรการต่างๆ ที่ออกมาครอบคลุมในการแก้ปัญหา แต่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด โดยนายกฯ  กำชับว่า สิ่งใดที่ทำได้ขอให้ทำทันที และให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนภายใน 3 เดือน ต้องตรวจสอบ ดำเนินการ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปตามกฎหมาย โดยหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ต้องขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน” นายอนุชากล่าว

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประชุมร่วมกับผู้บริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยกล่าวภายหลังว่า  การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 จะยึดตามกรอบ (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด (2566-2570) และนโยบาย ข้อสั่งการของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีแนวทางการขับเคลื่อน 5 ด้าน คือ 1.เพิ่มอัตราการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด 2.สนับสนุนการบำบัด รักษา ฟื้นฟูที่มีคุณภาพมาตรฐาน 3.สนับสนุนการบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชนเป็นฐาน 4.ส่งเสริมด้านวิชาการและระบบเฝ้าระวัง และ 5.การบริหารจัดการสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการพัฒนาสมรรถนะบุคลากรในเครือข่ายบำบัดรักษาฟื้นฟู พัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสนับสนุนการบำบัดรักษาฟื้นฟู และบริหารจัดการทรัพยากรด้านการบำบัด รักษา ฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด จะแยกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ติด (สีแดง) จะให้การรักษาตามระบบผู้ป่วยในที่สถานพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต/กรมการแพทย์ หรือสถานฟื้นฟูฯ ระยะยาว, กลุ่มผู้เสพ (สีเหลือง) รักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD) หรือผู้ป่วยในระยะสั้นที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชน ส่วนกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด (สีเขียว) ให้บำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน โดยให้เร่งรัดใน 7 ประเด็น ได้แก่ 1.สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด สำรวจและขึ้นทะเบียนศูนย์คัดกรองทั้งสังกัด สธ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ครอบคลุมทุกตำบล 2.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ให้การบำบัดฟื้นฟูโดยชุมชนเป็นฐานให้ครอบคลุมทุกตำบล 3.สำนักงานสาธารณสุขเร่งตรวจสอบและขึ้นทะเบียนศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคมให้ครอบคลุมถึงระดับตำบล 4.โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้มีหอผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดให้ครบทุกแห่ง 5.โรงพยาบาลชุมชน ให้จัดตั้งกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด หรือมีหน่วยงานดูแลบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดให้ครบทุกแห่ง 6.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ให้สนับสนุนการดำเนินงานของสถานฟื้นฟูภาคีเครือข่ายในพื้นที่ในการฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดแบบระยะยาว และ 7.ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ลงทะเบียนบุคลากรผู้ใช้งานระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) ทั้งในและนอก สธ. รวมถึงกำกับการบันทึกข้อมูล คัดกรอง บำบัด ฟื้นฟูฯ ติดตามให้เป็นปัจจุบัน

ส่วนที่ห้องสมุด Think Lab ที่ทำการพรรคเพื่อไทย (พท.) จัดงานเสวนาเรื่องเพื่อไทย ประกาศสงครามยาเสพติด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค พท. ระบุว่าโศกนาฏกรรมที่ จ.หนองบัวลำภู เป็นจุดกระตุ้นใหญ่ที่พรรค พท.ต้องประกาศทำสงครามกับยาเสพติด จะนำเอาแนวคิดในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังคงหลักการเดิมคือนำมิติเชิงสังคมมาช่วยกันดูแลภายใต้การคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และกรอบกฎหมาย แม้แนวทางดังกล่าวถูกกล่าวหาโจมตีมาโดยตลอด เช่น วาทกรรมฆ่าตัดตอน แต่จากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้เกิดจากผู้กำกับนโยบาย แต่เป็นกระบวนการทางสังคม ยืนยันว่าไม่มีนโยบายฆ่าตัดตอนเกิดขึ้น พรรค พท.ขอเรียกร้องให้ทุกองค์กร อย่าหลงเข้าใจผิดกับวาทกรรมนี้ อาจถูกมองว่าเป็นการเข้าข้างเปิดทางให้ผู้ใช้ยาเสพติดแสวงหาผลประโยชน์จากวาทกรรมนี้ได้ โดยจะดำเนินการ 5 ส่วน คือ 1.ปราบปรามการใช้ยาเสพติดด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด ไม่ใช้กฎหมายที่ล้นเกิน 2.นำบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เสพไปบำบัดฟื้นฟู ให้กลับสู่สังคมได้ 3.มาตรการป้องกัน และการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รู้จักโทษและพิษภัยของยาเสพติด  4.มาตรการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปราม และ 5.ยาเสพติดเป็นเรื่องของทุกภาคส่วนในสังคม ต้องประสานงานบูรณาการร่วมกันป้องกัน 

 “พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำกรณีโศกนาฏกรรม จ.หนองบัวลำภู และกรณีการแพร่ระบาดของยาเสพติด เข้าสู่ญัตติด่วนต่อสภาในวันที่ 3 พ.ย.2565 ซึ่งจะมีการเปิดโปงข้อมูลว่าใครเกี่ยวข้องกับกระบวนยาเสพติดบ้าง” นพ.ชลน่านระบุ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ