เตือนรับศึกนํ้าทุ่ง-นํ้าหลาก ปลดล็อกอปท.ช่วยเยียวยา

เตือนชาวบ้านรับศึกน้ำทุ่ง-น้ำหลาก ภาคอีสานยืดเยื้อถึงปลาย พ.ย. ขณะที่นายกฯ สั่ง จนท.เร่งทำความเข้าใจระบายน้ำลงพื้นที่ทุ่ง พร้อมดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ด้าน "บิ๊กป้อม" ลงใต้ขึงขัง ขรก.ไม่ใช่เจ้านาย ต้องดูแล ปชช. ด้าน มท.ปลดล็อกระเบียบงบฯ หนุน อปท.ทำงานคล่อง ทันสถานการณ์ กรมอุตุฯ อัปเดตเส้นทางพายุ "เนสาท" ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่น

เมื่อวันจันทร์ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  มีความห่วงใยเรื่องการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหา โดยให้นำเรือ รถยกสูง ทั้งของหน่วยงานในพื้นที่  ส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ จิตอาสา สมาคมขนส่งเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม

นายอนุชากล่าวย้ำว่า ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับในส่วนของน้ำที่ไหลลงในพื้นที่ทุ่งต่างๆ เป็นการดำเนินการระบายน้ำด้วยความจำเป็น ขอให้หน่วยงานของรัฐทำความเข้าใจกับประชาชน  ซึ่งรัฐบาลจะดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำอย่างเร่งด่วนต่อไป

นายอนุชากล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นห่วงเรื่องการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหา โดยเฉพาะเส้นทางที่คมนาคมถูกตัดขาด และย้ำขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันเพื่อช่วยเหลือประชาชน และเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน  การขับขี่ยานพาหนะในสภาวะที่ฝนตกและถนนมีน้ำท่วมขังเป็นระยะ ต้องมีการเตรียมพร้อมและระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยในความปลอดภัยของผู้ที่ใช้รถใช้ถนนทุกคน จึงขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าว เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้รถใช้ถนนช่วงนี้ เพราะการเดินทางช่วงที่มีฝนตกมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง

 “ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุ  ขอให้โทร.แจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ สายด่วน 1669 ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ จะเกิดความปลอดภัยต่อผู้บาดเจ็บมากขึ้น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังให้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบในส่วนของการระบายน้ำที่ไหลลงในพื้นที่ทุ่งต่างๆ  ว่าเป็นการดำเนินการด้วยความจำเป็น ซึ่งรัฐบาลจะดูแลเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วนต่อไป”  นายอนุชากล่าว

ที่ จ.สุราษฎร์ธานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองสุราษฎร์ธานี  พร้อมติดตามโครงการแก้มลิงสระบัว (อ่างเก็บน้ำทุ่งกระจูด) ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากกรมการปกครอง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ท่าสะท้อน และชาวบ้านในพื้นที่ให้การต้อนรับ

จากนั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งเราไม่อยากให้เกิด ทั้งนี้ตลอดเวลา 3 ปี ประเทศไทยยังไม่มีน้ำแล้งเลย มีแต่น้ำท่วมน้ำหลาก ซึ่งรัฐบาลพยายามเยียวยาให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะเรื่องพืชผลการเกษตรและบ้านเรือนที่เสียหาย รัฐบาลจะดูแลทั้งประเทศ  ตนตั้งใจมาเยี่ยมประชาชน และอยากให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลและข้าราชการ ข้าราชการไม่ได้เป็นเจ้านายของประชาชน ความเดือดร้อนของประชาชนคือความเดือดร้อนของราชการด้วย

 “ถ้าประชาชนอยู่ดีกินดี ข้าราชการก็มีความสุข เพราะข้าราชการกินเงินเดือนจากภาษีราษฎร ประชาชนถือเป็นศูนย์รวมของข้าราชการ และเพื่อเป็นแรงสนับสนุนให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งในการทำงานเพื่อประชาชน และมีงบประมาณในการจะทำให้ประเทศชาติเติบโตอย่างรวดเร็ว  ถ้าประชาชนอยู่ดีกินดีรัฐบาลก็จะเข้มแข็ง ตนจึงหวังอย่างยิ่งว่าประชาชนทุกคนจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นี่คือความมุ่งหวังของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์  รัฐบาลมีความยั่งยืน ประชาชนก็จะมีความยั่งยืนต่อไป” พล.อ.ประวิตรระบุ

วันเดียวกัน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดของระเบียบกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว ลดขั้นตอนการปฏิบัติ  อันจะทำให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ  เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พิจารณายกร่างแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเป็นการเร่งด่วน

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ในขณะนี้พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามประกาศใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2565 ซึ่งได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2565 เป็นต้นมา โดยระเบียบนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ เพื่อให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถพิจารณาช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟู เยียวยา สงเคราะห์ และบรรเทาผลกระทบของประชาชนให้ครอบคลุม รวดเร็ว และลดความล่าช้าที่เกิดขึ้นจากการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องขอทำความตกลงกับปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า พร้อมทั้งไม่ต้องเสนอให้คณะกรรมการช่วยเหลือประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณา เช่น กรณีฟ้าผ่าทำให้ประชาชนเสียชีวิต กรณีเสียชีวิตเนื่องจากช่วยเหลือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติงานหรือช่วยเหลือผู้อื่น กรณีมีเหตุการณ์ใช้อาวุธทำร้ายประชาชนจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตโดยผู้ประสบภัยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และกรณีตั้งศูนย์ช่วยเหลือค้นหาประชาชนที่สูญหาย เป็นต้น โดยในกรณีจำเป็นเร่งด่วนในการช่วยเหลือประชาชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ตามความจำเป็นเหมาะสม ไม่เกินอัตราตามหลักเกณฑ์ที่หน่วยงานรัฐกำหนด เช่นการนำอัตราตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2563 ของกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยเหลือด้านดำรงชีพเป็นค่าอาหาร จัดเลี้ยง 3 มื้อ มื้อละไม่เกิน  50 บาทต่อคน ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บสาหัสเบื้องต้น เป็นเงินจำนวน 4,000 บาท ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตในอัตราไม่เกินรายละ 29,700 บาท เป็นต้น

 “ซึ่งการช่วยเหลือประชาชนอาจช่วยเป็นสิ่งของหรือจ่ายเป็นเงินก็ได้ และกรณีการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้พิจารณาถึงผลกระทบต่อสถานะทางการคลังในการบริหาร หรือการจัดการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น” นายสุทธิพงษ์ระบุ

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า "น้ำเหนือเริ่มลดที่เจ้าพระยา แต่ไปกองฝั่งตะวันตก บางบาลชั้นสองก็จมน้ำ ส่วนน้ำเหนือชีมูลเริ่มทรงตัว แต่น้ำทุ่งมาก ศึกนี้ยืดเยื้อไปถึงปลายเดือนพฤศจิกายน ภาคใต้ฝั่งอันดามันมีฝนต่อเนื่องระวังน้ำไหลหลาก ความหนาวเย็นจะหายไปตั้งแต่วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม แต่จะกลับมาใหม่ช่วงสิ้นเดือน

สถานการณ์น้ำเหนือเจ้าพระยากำลังลดลงอย่างช้าๆ  น้ำในทุ่งกำลังไหลลงแม่น้ำอย่างช้าๆ เช่นกัน สุดท้ายแล้วน้ำจะมากองกันอยู่ที่ปลายน้ำ (ตั้งแต่ปทุมธานี จนถึงสมุทรปราการ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา) และมากองที่ฝั่งตะวันตกมาก (สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ฝั่งแม่น้ำท่าจีน) ปริมาณน้ำฝนสะสมปีนี้ในภาคกลางมากกว่าปี  2554 (ประมาณ 5%) จึงคาดว่าระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าตลิ่งภายในปลายเดือนพฤศจิกายน แต่ระดับน้ำในทุ่งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 เดือน (จนถึงกลางเดือนธันวาคม) น้ำทะเลจะหนุนสูงตั้งแต่วันที่ 27-30 ตุลาคม อีกประมาณ 30 cm” รศ.ดร.เสรีระบุ

รศ.ดร.เสรีระบุด้วยว่า ภาคอีสานหลายจังหวัดยังอ่วมจากปริมาณน้ำเหนือหลากจากน้ำชีและน้ำมูล แม้ว่าปริมาณน้ำที่อุบลราชธานีเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง  แต่จากการประเมินปริมาณฝนและพื้นที่น้ำท่วม พบว่าปริมาณฝนสะสมในปีนี้ภาคอีสานมีสูงมากกว่าปีน้ำท่วมล่าสุด 2562 ถึง 35% ดังนั้นคาดว่าระดับน้ำจะเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งอย่างเร็วที่สุดภายในกลางเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน และอาจยืดเยื้อต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนได้ (ต้องติดตามสถานการณ์พายุจรจนถึงปลายเดือนตุลาคม ที่อาจจะนำฝนมาเติมหรือไม่) สำหรับพายุไต้ฝุ่นเนสาทคาดว่าจะเข้าเวียดนามตอนบนวันที่ 21-22 ตุลาคม ไม่น่าจะส่งผลประเทศไทยเพราะความกดอากาศสูงจากแผ่นดินใหญ่  แต่ต้องติดตามสถานการณ์ด้วย อะไรก็เกิดขึ้นได้

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาได้อัปเดตเส้นทางพายุ "เนสาท (NESAT)" เวลา 04.00 น.วันนี้ (17/10/65) พายุโซนร้อนรุนแรง "เนสาท (NESAT)" ศูนย์กลางอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน  มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 100 กม./ชม. กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 20 กม./ชม. พายุนี้มีแนวโน้มจะทวีกำลังขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นได้ในวันนี้ โดยเคลื่อนผ่านตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนในช่วงวันที่ 20-21 ต.ค.นี้

ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน ยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ จะทำให้พายุอ่อนกำลังลงตามลำดับอย่างรวดเร็ว คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยมีเมฆเพิ่มขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ