ประวิตรชี้‘เดี่ยว13’แค่บันเทิง

"เสกสกล" อัด "โน้ส อุดม" ยุคนลงถนน ระวังผิดกฎหมาย ด้อยค่าใช้ปากหากินกับความขัดแย้ง สงสัยรับงานใครมา ขณะที่ “บิ๊กป้อม” มองแง่ดี พูดเพื่อความบันเทิง ไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ด้าน พท.เสนอรื้อ ม.272 ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ คืนความเป็นธรรมให้ประเทศ

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี    ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีโน้ส-อุดม แต้พานิช วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล  ในการแสดงทอล์กโชว์เดี่ยว 13 ว่า  ติดตามดูคุณโน้สมาตลอด ชื่นชมในความสามารถ ส่วนเรื่องวิจารณ์รัฐบาล เขาก็พูดมาทุกการแสดงเดี่ยว ในความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าเขาพูดเพื่อความบันเทิง คนดูก็มีวิจารณญาณในการฟังอยู่แล้ว ไม่ควรนำมาเป็นเรื่องราวไหญ่โตอะไร

 ขณะที่นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและนายกฯ นั้นเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่าถึงขั้นลิดรอนสิทธิส่วนบุคคลที่ทำให้เสื่อมเสีย และที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็เปิดกว้างพร้อมที่จะรับฟังข้อท้วงติง ข้อเสนอแนะ และนำมาปรับใช้ในการบริหารประเทศชาติบ้านเมืองอยู่แล้ว ส่วนที่นายโน้สออกมาสนับสนุนม็อบไล่นายกฯ ก็ขอเตือนว่าเวลาจะพูดอะไรต้องระมัดระวัง อย่าเที่ยวพูดด้วยความสนุกปากโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา เพราะอาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย เช่น ยุยงปลุกปั่นให้คนลงถนน ก่อม็อบไล่นายกฯ ที่อาจนำไปสู่การสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั่วไป หรือเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองได้ เช่นนี้ก็อาจมีความผิดทางกฎหมายได้

"จะให้ดีนายโน้ส อุดม น่าจะวางไมค์ เลิกหากินกับการปล่อยมุกด้อยค่าคนอื่น แล้วออกมานำม็อบด้วยตัวเอง และพร้อมที่จะรับผิดชอบด้วยหากเกิดอะไรขึ้น ไม่ต้องไปยุยงชักชวนคนอื่น ไม่ต้องไปให้ท้ายบรรดาม็อบเด็กๆ เพราะทำแบบนี้ไม่ได้ต่างจากอีแอบที่หากินกับมุกด้อยค่าคนอื่น แล้วยังหากินกับความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง มันไม่เหมาะสมที่จะมาเป็นนักพูดที่หารายได้โดยการด่าทอ ยุยงให้บ้านเมืองแตกแยก ทำไปเพื่ออะไร หวังเอาใจใคร ได้ประโยชน์เพื่อใคร รับงานใครมาหรือเปล่า ผมชักสงสัย" นายเสกสกลกล่าว          

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทอล์กโชว์เดี่ยว 13 ของโน้ส ว่าไม่แน่ใจว่าระหว่างรู้สึกโกรธกับอาย พล.อ.ประยุทธ์ให้น้ำหนักกับอารมณ์ไหนมากกว่ากัน ถ้าตั้งสติ ไม่โกรธ ไม่โมโห จะเข้าใจว่าการแสดงความคิดเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นการติชมตามวิสัยที่ประชาชนพึงกระทำได้ คนดีชอบแก้ไข อะไรที่เป็นปัญหา พล.อ.ประยุทธ์นำไปปรับปรุงแก้ไข

นายอนุสรณ์กล่าวต่อว่า สำหรับแม้ 8 ปีที่ผ่านมาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้ แต่ถ้าน้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์แล้วนำไปปรับปรุง เชื่อว่าเวลาที่เหลืออยู่ 5 เดือน คงพอได้เห็นอะไรบ้าง แทนที่จะให้นักร้องในเครือข่ายไปฟ้องร้องดำเนินคดีคนวิพากษ์วิจารณ์ ต้องหันกลับแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เริ่มตั้งแต่แก้รัฐธรรมนูญที่เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้ง กำหนดกติกาการเข้าสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วยกติกาที่เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง และกับทุกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี บทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย ควรได้รับการแก้ไข โดยควรแก้ไขมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ให้เฉพาะ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น มีอำนาจโหวตนายกฯ หากไม่เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 จะเกิดสภาพความขัดแย้งไม่จบสิ้น ไม่เอื้อต่อการเกิดกติกาที่สุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง อุปมาเหมือนกับการแข่งขันวิ่ง 750 เมตร ในขณะที่ทุกคนออกสตาร์ทจากจุด 0 เมตร แต่มีคนเอาเปรียบนักกีฬาคนอื่นๆ ด้วยการออกสตาร์ทที่จุด 250 เมตร ไม่มีน้ำใจนักกีฬา หากไม่แก้ไขกติกานี้ ก็ยากที่ความขัดแย้งจะหมดไป เวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเร่งส่งสัญญาณแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อให้เกิดกติกาการแข่งขันที่เป็นธรรมในการเลือกตั้งครั้งหน้า

“ความกลัวทำให้เสื่อม ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เก่งได้สักครึ่งของที่สารพัดโฆษกแข่งกันออกมาอวย ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว ชายชาติทหาร ต้องกล้าสู้ด้วยกติกาที่เป็นธรรม ไม่เอาเปรียบคนอื่น ต้องแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 คืนความเป็นธรรมให้กับประเทศ” นายอนุสรณ์กล่าว

 ส่วนสภาทนายความได้ออกคำชี้แจงเรื่อง การพาดหัวข่าวของสำนักข่าวบางแห่ง ความว่า ตามที่ปรากฏข่าวในเฟซบุ๊ก เชียงใหม่นิวส์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 โดยมีข้อความพาดหัวข่าวว่า “สภาทนายฯ ออกโรงแจงเดี่ยว 13 วิจารณ์ได้ตามรัฐธรรมนูญ มิใช่การนำเสนอข้อมูลเท็จ หรือใส่ร้ายรัฐบาลแต่อย่างใด” นั้น สภาทนายความขอเรียนว่า แถลงการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ของสภาทนายความ ทั้งนี้ ในการเสนอข่าวที่คลาดเคลื่อนอาจทำให้มีการเข้าใจผิดว่าสภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ หรือให้ความเห็นตามที่ปรากฏในสื่อดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันคนจำนวนมากสับสนระหว่างสภาทนายความ กับสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยมีความแตกต่างอย่างไร โดยสภาทนายความขอเรียนเพื่อเป็นข้อมูลที่ถูกต้องว่า สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เป็นการรวมตัวกันของทนายความหลายคน และจดทะเบียนก่อตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนสภาทนายความ เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 ซึ่งกำหนดให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีอำนาจตามกฎหมายในการออกใบอนุญาตให้เป็นทนายความ และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้ 1.ส่งเสริมการศึกษาและการประกอบวิชาชีพทนายความ 2.ควบคุมมรรยาทของทนายความ 3.ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิกสภาทนายความ 4.ส่งเสริมและจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกสภาทนายความ และ 5.ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับกฎหมาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง