แบงก์ชาติคาด ปี2565NPLโต! จ่อเลิกพักหนี้

“แบงก์ชาติ” ชี้ระบบธนาคารพาณิชย์ยังแข็งแกร่ง ไตรมาส 3 สินเชื่อขยายตัวถึง 5.6% คาดปี 2565 ยอดเอ็นพีแอลอาจพุ่งขึ้น แต่ไม่รู้เท่าไหร่ เตรียมเลิกมาตรการพักชำระหนี้ เล็งใช้การแก้ปัญหารายจุด “ธนกร” ซัดหญิงหน่อยเรื่องประกันรายได้ รองโฆษกไทยสร้างไทยโต้กลับ เอาเวลาอวยนายไปดูแลชาวนาดีกว่า

เมื่อวันศุกร์ที่ 12 พฤศจิกายน น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 3 ปี 2564 ว่ามีความเข้มแข็ง โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญช่วยเหลือลูกหนี้และสนับสนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากผลกระทบของโควิด-19

น.ส.สุวรรณีกล่าวว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 3,024.8 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ที่ 19.9% เงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 872 พันล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินสำรองที่มีต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 155% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (แอลซีอาร์) อยู่ที่ 186.8% ส่วนภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2564 ขยายตัวที่ 5.6% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 3.7%

“ยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.46 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรวมที่ 3.14% ซึ่ง ธปท.จะจับตาดูแนวโน้มการขยายตัวของเอ็นพีแอล ซึ่งคาดว่าในปี 2565 จะค่อยๆ ทยอยปรับขึ้น แต่ไม่ได้ปรับตัวสูง ยังอยู่ในวิสัยที่สถาบันการเงินและลูกหนี้บริหารจัดการได้ โดย ธปท.ไม่ได้คาดการณ์ว่ามีโอกาสจะถึง 4% หรือไม่" น.ส.สุวรรณีกล่าว และว่า ในระยะต่อไปการช่วยเหลือลูกหนี้จะไม่ใช้ลักษณะมาตรการพักชำระหนี้ แต่จะปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงจุด และให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในแต่ละรายต่างกัน ซึ่งจากสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว มาตรการพักหนี้ในวงกว้างจะใช้เฉพาะหน้ากะทันหัน ซึ่งการฟื้นตัวแบบ K-Shape ก็จะมีหลายธุรกิจที่กลับมาฟื้นตัวได้ ส่วนกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมก็จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีสัญญาณเชิงบวก การใช้มาตรการจึงต้องทำเป็นเฉพาะจุดมากกว่า

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า นโยบายประกันราคาข้าวไม่สามารถแก้ปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำได้ เป็นความทุกข์ซ้ำซากของชาวนาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันมาตลอดว่า จะดูแลพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ โดยขณะนี้เร่งให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันวิเคราะห์แนวโน้มราคาพืชผลทางการเกษตร เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเหมาะสม และไม่บิดเบือนกลไกตลาด รวมถึงเร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างเป็นระบบด้วย

"ราคาข้าวที่ลดต่ำลงเกิดจากปัจจัยหลายประการ โครงการประกันรายได้เป็นเพียงมาตรการหนึ่งที่นายกฯ ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยความจริงใจ เพราะที่ผ่านมาชาวนาต้องทนทุกข์ซ้ำซากจากนโยบายขายฝันของบางรัฐบาล ชาวนาน้ำตาตก แต่อดีตนายกฯ บางคนกลับหนีความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำไว้ แล้วปล่อยให้อดีตรัฐมนตรีถูกจำคุก ที่สำคัญนโยบายที่ว่า ยิ่งทำยิ่งเจ๊ง ยิ่งทำยิ่งจน ยิ่งทำยิ่งเป็นหนี้นั้น ก็เห็นชาวนาเจ๊ง จน และเป็นหนี้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณหญิงสุดารัตน์แล้วไม่ใช่หรือ ถึงเวลานี้ผ่านรัฐบาลของพรรคคุณหญิงสุดารัตน์มาแล้วกี่พรรค กี่รัฐบาล ถ้านโยบายของรัฐบาลคุณหญิงสุดารัตน์ดีจริง ป่านนี้คงไม่ได้เห็นภาพชาวนาต้องทนทุกข์จนถึงทุกวันนี้" นายธนกรกล่าว

น.ส.เกณิกา ตาปสนันทน์ รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวตอบโต้นายธนกรว่า หลับหูหลับตาอวยนายกฯ อวยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จนละเลยมองข้อเท็จจริงว่าสถานการณ์ของพี่น้องชาวนาในปัจจุบัน ต้องทนทุกข์มากน้อยเพียงใด ราคาข้าวที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี ขอแนะนำให้นายธนกรเอาเวลาที่ใช้ตอบโต้คุณหญิงสุดารัตน์ ไปบอกกล่าวคนในรัฐบาล เร่งดูแลความเป็นอยู่ของชาวนาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติประชาชนมากกว่า

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ตอบกระทู้ในสภาผู้แทนราษฎรว่าไทยสามารถส่งออกข้าวได้คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ว่าถ้าเป็นไปตามที่นายจุรินทร์พูด ถือเป็นเรื่องที่ดี และควรรีบนำเงินที่ขายข้าวได้ไปมอบให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำมาจ่ายให้เกษตรกร จะได้ไม่ต้องรบกวนงบประมาณแผ่นดิน เพราะแม้แต่กระทรวงการคลังยังยอมรับว่ามีปัญหาในการหางบประมาณมาสนับสนุนโครงการประกันรายได้

ทั้งนี้ บรรยากาศที่ ธ.ก.ส.สาขาพิษณุโลก พบว่ามีเกษตรกรนำสมุดบัญชีธนาคารมาเบิกเงิน และปรับสมุดบัญชี หลังจากได้รับการโอนเงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าว หรือเงินประกันราคาข้าว ตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รอบที่ 1 (งวดที่ 1 และ 2) ซึ่ง จ.พิษณุโลกได้รับเงินกว่า 810 ล้านบาท กระจายไปยังสำนักงาน ธ.ก.ส.ทั้ง 9 อำเภอ 15 สาขาแล้วเมื่อวันที่ 9 พ.ย.

นางจินตนา แก้วแจ้ง อายุ 53 ปี ชาวนา ต.ปากโทก อ.เมืองฯ จ.พิษณุโลกเผยว่า วันนี้เดินทางมาเบิกเงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวนาปีที่ปลูกไว้ 26 ไร่ ได้รับเงินชดเชยกว่า 21,000 บาท ซึ่งก็ดีใจที่รัฐบาลนำเงินส่วนต่างมาช่วยเหลือและบรรเทาค่าใช้จ่าย ซึ่งจะนำเงินก้อนนี้ลงทุนทำนารอบใหม่ต่อไป

นายกฤษณ์ ขวัญอ่อน ผู้จัดการธนาคาร ธ.ก.ส. เผยว่า มีเกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ 1,609 ราย รัฐได้โอนเงินชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 รอบแรกจำนวน 36 ล้านบาท และธนาคารได้โอนเงินเข้าบัญชีให้กับเกษตรกรโดยตรง ไม่พบมีปัญหาเรื่องความแออัดในการแห่มาถอนเงินออกไปแต่อย่างใด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด