กรมอุตุฯเตือนรับ‘พายุเซินกา’

กรมอุตุฯ เตือนพายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน ส่งผลฝนตกเพิ่มภาค "อีสาน-ตะวันออก-ภาคกลาง กทม.และปริมณฑล" ปภ.เผย 29 จว.ยังเผชิญน้ำท่วม “วราวุธ” ประสานกรมชลฯ ลดผันน้ำเข้าทางฝั่งตะวันตกลุ่มเจ้าพระยา หวั่น จ.สุพรรณฯ วิกฤตหนัก “เขื่อนป่าสักฯ-เขื่อนพระราม 6” ปักธงแดงแล้ว “ชัชชาติ” กังวลชุมชนเปราะบาง กทม.แนะบ้านริมน้ำเฝ้าระวังอย่าวางใจ

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 5 เรื่อง “พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง" ระบุว่า เมื่อเวลา 13.00 น. ของวันนี้ (14 ต.ค.) พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อนเซินกา (SONCA) แล้ว และเมื่อเวลา 16.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 220 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเมืองกว๋างหงาย ประเทศเวียดนาม หรือที่ละติจูด 14.7 องศาเหนือ ลองจิจูด 110.9 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 15 ต.ค.65 และจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงตามลำดับ ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 14-15 ต.ค.65 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะมีฝนเพิ่มขึ้น

โดยมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากลมแรง ฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับอ่าวไทยตอนล่าง ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานผลกระทบจากฝนตกหนักทำให้ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง รวม 29 จังหวัด 163 อำเภอ 980 ตำบล 6,310 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 326,811 ครัวเรือน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกบางจังหวัดมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร และนครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และหนองบัวลำภู ภาคกลาง 11 จังหวัด ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี นครปฐม นครนายก สระบุรี และปราจีนบุรี

ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ และ ส.ส.จังหวัดุพรรณบุรี ร่วมกันประชุมเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี โดยมี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าฯ สุพรรณบุรี นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายก อบจ.สุพรรณบุรี พร้อม ส.จ.สุพรรณบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำส่วนท้องถิ่น ให้ข้อมูลถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี

2 เขื่อนใหญ่ปักธงแดง

นายวราวุธกล่าวว่า ภาพรวมน้ำท่วมในขณะนี้ยังไม่หนักเท่ากับปี 2564 เพราะช่วงปี 64 มีปริมาณน้ำฝนที่เข้ามาอย่างหนัก ซึ่งในปี 2565 นี้ จ.สุพรรณบุรีได้รับน้ำมาจากทางภาคเหนือเป็นส่วนใหญ่ และมีการพร่องน้ำลงในทุ่งแต่ละทุ่งของ จ.สุพรรณบุรี ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เบาบางกว่าปี 2564

"ถึงแม้ว่าน้ำจะน้อยกว่าปี 64 แต่ความเสียหายในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ยังเป็นวงกว้าง มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะพื้นที่ อ.บางปลาม้า และ อ.สองพี่น้อง และในพื้นที่บางส่วนทางตอนเหนือของ จ.สุพรรณบุรี ในขณะนี้เขื่อนกระเสียวก็ได้ระบายน้ำออกจากเขื่อน เฉลี่ยวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในสันเขื่อนกระเสียวได้ระบายน้ำลดลงเหลือ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้พื้นที่ทางตอนเหนือและตอนล่างของ จ.สุพรรณบุรี ประสบอุทกภัยทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ได้เร่งประสานกับชลประทานบริหารจัดการน้ำเหล่านี้ เมื่อแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถลดปริมาณการไหลของน้ำได้ระดับหนึ่ง ก็จะหารือกับชลประทานเพื่อจะลดการผันน้ำเข้ามาทางฝั่งตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา หากไม่มีปริมาณน้ำฝนตกลงมาเพิ่มระดับน้ำที่มีอยู่ขณะนี้ ก็น่าถึงจุดพีกและจะไม่เกินไปกว่านี้” นายวราวุธกล่าว

จ.ชัยนาท นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจและติดตามความคืบหน้าการซ่อมแซมจุดที่น้ำกัดเซาะถนนขาดและน้ำทะลักเข้าสู่คลองมหาราช บริเวณทางหลวงชนบท หมายเลข 3018 (สายคันคลองมหาราช) ในพื้นที่ ม.12 ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

นายอนุชากล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการจัดเวรยามสำรวจในจุดที่อาจไม่ปลอดภัยในการพังทลายของคันกั้นน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ซึ่งสาเหตุเกิดจากน้ำในคลองมหาราชลดระดับลงทำให้เกิดข้อผิดพลาด จึงได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาตรงนี้แล้ว

สำหรับสถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้ เวลา 06.00 น. น้ำไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ 3,019 ลบ.ม./วินาที ลดลง 40 ลบ.ม./วินาที เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำ 3,154 ลบ.ม./วินาที ลดลง 15 ลบ.ม./วินาที น้ำเหนือเขื่อน อ.เมืองชัยนาท ลดลง 5 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 17.66 เมตร (รทก.น้ำท้ายเขื่อน อ.สรรพยา ลดลง 3 เซนติเมตร อยู่ที่ระดับ 17.36 เมตร (รทก.)

จ.อุทัยธานี และอ่างทอง สถานการณ์น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรัง พบว่าสูงกว่าตลิ่ง 2.3 เมตร และเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมย่านการค้ากลางเมืองอุทัยธานี ในพื้นที่เทศบาล 15 ชุมชน และพื้นที่รอบนอก 6 ตำบล คือ ต.เกาะเทโพ ต.สะแกกรัง ต.หาดทะนง ต.ท่าซุง และ ต.น้ำซึม ส่วนอ่างทองวิกฤตไม่แพ้กัน เทศบาลตำบลไชโย และชาวบ้านต่างช่วยระดมเครนยักษ์ รถแบ็กโฮ ปักเสาเข็มต้นสนกว่า 100 ต้น พร้อมทั้งนำบิ๊กแบ็กกระสอบทรายมาทำคันกั้นคลองมหาราช หรือคลองชัยนาท-อยุธยา หน้าวัดทองครุ หลังน้ำเพิ่มสูง ถนนทรุดตัวยาวกว่า 30 เมตร น้ำไหลบ่าเข้าฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็ว

จ.พระนครศรีอยุธยา ปภ.ได้ประกาศภัยพิบัติพื้นที่รวม 14 อำเภอ ได้เเก่ เสนา ผักไห่ บางบาล บางไทร บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา บางปะหัน ท่าเรือ นครหลวง มหาราช อุทัย วังน้อย ภาชี บ้านแพรก ประชาชนได้รับผลกระทบเดือดร้อน 67,580 ครัวเรือน ระดับน้ำบางจุดอยู่ในสภาวะทรงตัว บางพื้นที่ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้น ล่าสุดการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยายังระบายในอัตรา เกิน 3,150 ลบ.ม./วินาที เเต่ระบายลดลงจากเมื่อวาน (13 ต.ค.)

ส่วนการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสัก ยังคงระบายในอัตรา 1,000 ลบ.ม./วินาที ยังปักธงเเดงแจ้งเตือนระดับน้ำในสภาวะวิกฤต ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งมากกว่า 2 เมตร หลายชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำป่าสักยังถูกน้ำเข้าท่วมสูง เช่น ต.ท่าหลวง ต.ท่าเรือ ต.ท่าเจ้าสนุก ชาวบ้านกว่า 2,000 ครัวเรือนได้รับผลกระทบ ต้องอพยพไปนอนตามวัด และสถานที่อพยพบนถนนที่ทางอำเภอจัดให้ บางบ้านยกพื้นอยู่บนชั้นสอง ชาวบ้านต้องเดินลุยน้ำ บ้างก็ใช้เรือ มีกำลังทหารจาก ม.1 พัน.17 รอ. สระบุรี นำรถของทหารมาบริการประชาชนเข้า-ออก ตั้งแต่ 07.00-17.00 น.

กทม.ห่วงชุมชนริมน้ำ

ชาวบ้าน จ.พระนครศรีอยุธยา ระบุว่า ความเดือดร้อนไม่ต่างจากปี 2554 โดยเฉพาะท้ายเขื่อน น้ำสูงถึงหลังคาบ้าน เช่นเดียวกับวัดสะตือ ถูกน้ำท่วมเต็มพื้นที่ โรงเรียน ร้านขายของ พระต้องอยู่บนกุฏิชั้น 2 ชาวบ้านบางส่วนอพยพกันออก บางบ้านน้ำสูงท่วมจนถึงชั้น 2 เเม้น้ำจะเริ่มลด แต่ชาวบ้านยังกังวล เพราะได้รับการเเจ้งเตือนว่าน้ำจะมาอีกช่วงปลายเดือนตุลาคม เนื่องจากน้ำจากป่าสักเพชรบูรณ์ยังมีอีกมาก ทางเขื่อนจะทยอยปล่อยมาหลังน้ำจากทางท่าเรือเริ่มลด เช่น ชุมชนตลาดหม่อมเจ้า ต.ท่าเรือ ที่ติดอยู่กับแม่น้ำป่าสัก ชาวบ้านกว่า 50 หลังคาเรือน มากางเต็นท์นอนบนถนน ทุกปีจะต้องอพยพมาอยู่เเบบนี้ คาดว่าสิ้นเดือนนี้จะกลับเข้าบ้านได้

ในส่วนเขื่อนพระราม 6 ก็ยังมีการปักธงแดง ระดับน้ำอยู่ในภาวะวิกฤต เเละยังคงทยอยระบายน้ำออกมาในอัตรา 1,000 ลบ.ม./วินาที ทำให้ชุมชนหลังวัดสะตือท่วมหนัก, ตลาดท่าเรือ หน้าเทศบาลท่าเรือ ชุมชนโดยรอบแม่น้ำท้ายเขื่อน วัดจงกลณี ต.ท่าเจ้าสนุก วัดท่าเเค ตำบลท่าเรือ ต.ท่าหลวง โดยมวลน้ำนี้ไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีปริมาณการไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาระบายออกมา ในอัตรา 3,150 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน อ.บางปะอิน เข้าสู่ จ.ปทุมธานี และกรุงเทพมหานครยังอยู่ในอัตราที่สูง

ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า ตอนนี้เราควบคุมสถานการณ์ได้ดี แต่จะมีบางจุด เช่น เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่บริเวณพระราม 3 ซอย 26 ตรงนั้นเป็นจุดอ่อน และน้ำขึ้นสูงกว่าเดิม 20 ซม. ทำให้เมื่อช่วงเช้าทะลักมาท่วมพระราม 3 บนถนน 2 เลนตรงซอย 26 แต่เราได้เข้าไปแก้ไขและปิดเขื่อนได้ โดยตอนนี้กังวลกับชุมชนที่เปราะบาง เช่น บ้านบุ บางกอกน้อย เพราะเป็นชุมชนที่ท่วมซ้ำซาก ต้องรีบเข้าไปช่วยแก้ไขและต้องวางแผนระยะยาวว่าทำอย่างไรให้ถาวร ส่วนถนนหลักไม่มีปัญหา

ถามถึงน้ำเหนือที่ไหลลงมา นายชัชชาติกล่าวว่า ได้คุยกับกรมชลประทานตลอด โดยสถานการณ์ไม่น่าจะรุนแรงมาก คงต้องรอดูแม่น้ำป่าสักเป็นหลักว่าระบายมาฝั่งตะวันออกแค่ไหน ทั้งนี้ กทม.ได้มีการพร่องน้ำเต็มที่ เสริมคันกระสอบ ทำระบบระบายน้ำเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาตนคิดว่าเป็นจุดทดสอบทำให้เห็นว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหนบ้าง โดยจะเห็นได้ว่าน้ำในถนนหลักไม่มี จะมีเฉพาะชุมชนที่อยู่ริมน้ำที่ต้องเข้าไปดูแลและเยียวยาอย่างละเอียด

“แต่อย่าวางใจ ต้องเตรียมตัวด้วย คนที่อยู่ริมแม่น้ำหรือริมคลองที่น้ำมีโอกาสเพ้อ ก็ต้องระวังตัวด้วย ปลั๊กไฟควรจะเลื่อนไว้ก่อน และคอยติดตามข่าวสารตลอด” ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครระบุ

จ.สมุทรสาคร บริเวณประตูระบายน้ำบางยาง อ.บ้านแพ้ว กลุ่มคนท่อซิ่งในพื้นที่อำเภอบ้านแพ้ว ได้แก่ ท่อซิ่งของชะลอยกกระบัตร ท่อซิ่งของบ่อกุ้งเสี่ยพงษ์ และทีมงานท่อสูบน้ำซิ่งเด็กดอน ได้ประสานความร่วมมือกับทาง อบจ.สมุทรสาคร นำท่อสูบน้ำพญานาคขนาด 20 นิ้ว 1 เครื่อง และขนาด 16 นิ้ว อีก 2 เครื่อง มาติดตั้งที่บริเวณปากประตูระบายน้ำบางยาง เพื่อเป็นอีกแรงหนึ่งในการช่วยสูบน้ำออกจากคลองดำเนินสะดวกให้เร็วยิ่งขึ้น เพราะปริมาณน้ำในคลองดำเนินสะดวกที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลทำให้บางแห่งก็เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนกับสวนเกษตรกรรม ที่อยู่ติดกับริมคลองดำเนินสะดวก รวมถึงคลองสาขาใน 3 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ราชบุรี และสมุทรสงคราม

จ.ภูเก็ต ตลอดค่ำคืนวันที่ 13 ต.ค.เชื่อมต่อเช้าวันที่ 14 ต.ค. ได้เกิดฝนตกหนักใน จ.ภูเก็ต ในพื้นที่เมืองป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ทำให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุด อาทิ สภ.ป่าตอง, ถนนไสน้ำเย็น สี่แยกไสน้ำเย็น หน้า รพ.ป่าตอง, ตลาดบ้านซ่าน ถนนผังเมือง สาย ก. ไปถึงหน้าห้างจังซีลอนป่าตอง. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหนือ-อีสาน อากาศเย็นตอนเช้า ภาคใต้ฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้

กรมอุตุฯเตือน 9 จังหวัดภาคใต้มีฝนตกหนัก หวั่นเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

นางสาวสุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ ฉบับที่ 4 (304/2567) (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567) มีใจความว่า