งัดไม้แข็งล้อมคอก บิ๊กตู่คลอด4มาตรการด่วน ยกเครื่องกม.ยาเสพติด-ปืน

"บิ๊กตู่" ประเดิมหัวโต๊ะ คกก.ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติแก้ปัญหายาเสพติด-อาวุธปืน เคาะ 4 มาตรการด่วนสร้างความเชื่อมั่น ปชช. สั่งทบทวนเกณฑ์ครอบครองปืน เข้มคุณสมบัติต้องตรวจสภาพจิต ผู้บังคับบัญชารับรอง จ่อออก พ.ร.บ.คืนปืนเถื่อนไม่มีโทษ แก้ กม.ผู้เสพใหม่ ยาบ้า​ 5 เม็ดเป็นผู้ค้า ขู่! จนท.เอี่ยวฟันเด็ดขาด "สมศักดิ์" ปัดขาใหญ่ส่งยาอยู่ในเรือนจำ "อนุทิน" ขออย่าโยงแก้ปัญหายาเสพติดกับ พ.ร.บ.กัญชาฯ "แรมโบ้" สวน "โทนี่" อยากให้คำปรึษาปราบยากลับมาติดคุกก่อน

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 12 ต.ค. เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ, นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,  พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม

โดยก่อนการประชุม พล.อ.ประยุทธ์,  พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ ได้หารือกันที่ห้องรับรองประมาณ 15 นาที ก่อนจะเดินออกมาพร้อมกัน       

 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ทุกท่านทราบดีอยู่แล้วว่ามีสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดผลกระทบต่อจิตใจประชาชนจากเหตุการณ์กราดยิงศูนย์เด็กเล็กฯ ที่ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู จากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลรวมทั้งคนไทยทั้งประเทศมีความห่วงกังวลถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การครอบครองอาวุธปืน และการเยียวยาผู้เสียหายทั้งระบบ 

"ข้อเสนอเรื่องอาวุธปืน การบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาสุขภาพจิต ที่ต้องบูรณาการกันอย่างรัดกุม และให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม วันนี้ได้มีการกำหนดไว้อยู่แล้วว่าการแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศเป็นวาระแห่งชาติ​ เพราะฉะนั้นผมเห็นว่าเราต้องมีมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม จากโครงสร้างกลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเดิมซึ่งเรามีอยู่ระดับหนึ่งแล้ว วันนี้ผมได้สั่งการทำงานของทุกคณะที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งพื้นที่เป้าหมายพิเศษ หน่วยป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดจนถึงหมู่บ้านและชุมชน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์แถลงหลังการประชุมว่า มาตรการสำคัญที่ได้หารือกันในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการให้เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาของอาวุธปืนและปัญหายาเสพติด โดยเรื่องแรกเกี่ยวกับอาวุธปืน เราจะมีการกวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องของการออกใบอนุญาตและการต่อใบอนุญาตและการพกพาทั้งหมด

"ผู้ยื่นขอใบอนุญาตจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน มีการตรวจสอบและรับรองทางจิต ไม่วิกลจริต ฟั่นเฟือน มีการรับรองจากผู้บังคับบัญชา ชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งต้องไม่มีพฤติกรรมที่เป็นภัยต่อสังคม ให้มีมาตรการตรวจสอบและทบทวน เพื่อพิจารณาคุณสมบัติในทุกๆ รอบ ตามระยะเวลาที่เหมาะสม รวมทั้งหารือเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เมื่อพบปัญหาทางจิต พฤติกรรมเป็นภัยต่อสังคม การใช้ยาเสพติด กวาดล้างจับกุมอาวุธเถื่อนและการซื้อขายทางออนไลน์อย่างจริงจัง และจำเป็นจะต้องทบทวนกฎหมายบางฉบับ กฎกระทรวงบางเรื่องที่จำเป็นให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

คุมเข้ม 'ปืน-ยาเสพติด'

นายกฯ กล่าวว่า ในเรื่องมาตรการการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เราทำอย่างเต็มที่ในเรื่องการควบคุมการนำเข้าและส่งออกสารเคมี การเร่งติดตามการสืบสวนและขยายผล ทำลายเครือข่ายนักค้ายาเสพติดและการยึดอายัดทรัพย์สิน การบูรณาการ การนำผู้เสพ เข้าสู่ระบบศูนย์ข้อมูล การทบทวนกรณีผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับประเด็นปริมาณการครอบครองเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟู ซึ่งต้องไปทบทวนและพิจารณาดู โดยได้พูดถึงปริมาณ 5 เม็ด หรือ 15 เม็ด ถ้าจำเป็นต้องมีการปรับแก้กฎหมายเหล่านี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

นอกจากนี้ มาตรการการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดจำเป็นต้องเร่งค้นหาคัดกรองผู้ป่วยเข้าสู่สถานฟื้นฟูภาคีเครือข่าย เร่งจัดตั้งศูนย์คัดกรองให้ครบและครอบคลุมในทุกตำบล ทั้งกระทรวงสาธารณสุข ส่วนท้องถิ่น และสถานบำบัดรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐานของสากล ซึ่งกระบวนการบำบัดให้ใช้ชุมชนเป็นฐาน ซึ่งวันนี้ต้องหาให้ได้ว่าในพื้นที่ ในท้องถิ่น ชุมชนหมู่บ้าน มีจำนวนผู้ติดยาเสพติดมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ส่วนเจ้าหน้าที่และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีการลงโทษอย่างเด็ดขาดในทุกกรณีทันที

"วันนี้มีการหารือในหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งความจริงแล้วรัฐบาลเข้มงวดกับเรื่องเหล่านี้มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัญหาที่ซ้อนปัญหาไปในเรื่องการใช้อาวุธปืน และเรื่องการก่อเหตุรุนแรง อีกทั้งมีพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ติดยาเสพติดและผู้ที่ไม่ติดยา เป็นเรื่องที่ผมห่วงใยในฐานะของรัฐบาล พยายามจะทำให้ดีที่สุด" นายกฯ กล่าว

ส่วน พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เรื่องการแก้ปัญหาอาวุธปืนแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ปืนที่มีใบอนุญาตและปืนเถื่อน สำหรับอาวุธที่ขออนุญาตของใหม่นี้จะมีมาตรการในการตรวจสอบพื้นฐานคุณสมบัติ โดยจะต้องมีการตรวจสอบเรื่องของจิตใจ เรื่องของสุขภาพจิต นายแพทย์จะต้องรับรอง และผู้บังคับบัญชาต้องรับรอง ส่วนคนที่มีอาวุธแล้ว มีมติว่าจะต้องทบทวนในการที่จะให้มีและใช้อาวุธปืนได้ หมายถึงมีใบ ป.4 ใช้อาวุธได้ จะใช้เวลาในการทบทวน 3 ปีหรือ 5 ปี จะต้องไปคิดกัน และจะต้องทบทวนความประพฤติด้วยหรือไม่ รวมถึงผู้ที่พ้นหน้าที่ไปแล้ว มีความจำเป็นหรือไม่ในการใช้อาวุธ ถ้าไม่จำเป็นก็เพิกถอนได้ แต่ในกรณีที่ใครไปมีความผิดตรงนี้จะเพิกถอนเลย นี่คือความเปลี่ยนแปลง

"ในส่วนอาวุธเถื่อนทั้งหมดได้ข้อยุติว่าจะต้องออกกฎหมายให้นำมาคืน เราทำอย่างนี้มาแล้ว แต่คราวนี้ให้นำมาคืนโดยไม่มีความผิดทางอาญาแค่นั้น และไม่ให้ขึ้นทะเบียน นี่คือความเปลี่ยน ถ้าใครยังครอบครองต่อไป ทางตำรวจจะเข้มงวดทางกฎหมายเกี่ยวกับการค้าอาวุธ” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

รมว.มหาดไทยกล่าวว่า สำหรับยาเสพติด ไม่ว่าจะแหล่งผลิต ขบวนการทั้งหมด ทุกฝ่ายต้องเข้มงวดในการปฏิบัติ ถ้าในพื้นที่ไหนเจ้าหน้าที่มีการปล่อยปละละเลย จะมีผลทั้งทางกฎหมายและทางราชการ เช่น ถ้าคนในหมู่บ้านรู้ว่ามี แต่ทางฝ่ายปกครองไม่รู้ อันนี้จะต้องมีการประเมินในทางกฎหมาย ถ้าให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ก็จะทำ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกลไกปราบปรามยาเสพติดทำงาน ต้องดำเนินการทั้งแหล่งผลิต การยึดทรัพย์ เจ้าหน้าที่จะต้องเข้มงวด

ถามว่า พวกที่ครอบครองอาวุธปืนและมาก่อเหตุมักเกิดจากตำรวจ ทหาร ตรงนี้จะควบคุมอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า สังคมไม่ต้องกังวล จากสถิติเหตุไม่ได้เกิดจากตรงนี้เป็นหลัก แต่เกิดจากอาวุธเถื่อนมากที่สุด ต้องแก้ตรงนั้น อย่าไปสร้างกระแสให้ผิดเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ  ขณะเดียวกันผู้ที่มีแล้วจะต้องทบทวน

ออก กม.คืนอาวุธเถื่อน

ถามว่าการเปิดให้นำเอาอาวุธปืนเถื่อนมาคืนจะดำเนินการอย่างไร รมว.มหาดไทยกล่าวว่า ต้องมีการออกเป็นกฎหมาย โดยผ่านการพิจารณาของสภา เพราะอาวุธเถื่อนที่มีเป็นจำนวนมาก ถ้าไม่ดำเนินการ แต่กลับไปเข้มงวดกับผู้ที่ขออนุญาตถูกต้อง จะทำให้พลาดเป้าเรื่องการมีอาวุธเถื่อน เวลานำมาคืนจะไม่มีโทษอาญา

"อย่าใช้คำว่านิรโทษกรรม เราจะออกเป็น พ.ร.บ.ให้นำมาคืนรัฐ ถ้าเอามาคืนก็จบ ไม่มีโทษทางอาญา แต่ถ้าใครถือครองต่อไปจะมีโทษหนัก ส่วนการเพิกถอนของผู้ที่ครอบครองอยู่แล้ว ถ้าคุณสมบัติไม่เหมาะสมก็ไม่ควรจะครอบครองต่อ เจ้าหน้าที่รัฐจะยึด" รมว.มหาดไทยกล่าว

ถามถึงผู้เสพกับผู้ป่วยมีหลักในการพิจารณาอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ตำรวจได้มีการเสนอว่าจะใช้จำนวน 5 เม็ด ซึ่งจะต้องมีการแก้กฎหมาย

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ยืนยันเรื่องผู้ค้ายาเสพติดอยู่ในเรือนจำนั้นว่า เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากผู้คุมต่างๆ ในเรือนจำมีสิทธิได้รางวัลการนำจับ มีเรื่องของการยึดทรัพย์สิน อีกทั้งกฎหมายยึดสินทรัพย์สามารถย้อนหลังได้เป็นสิบปี ใครยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือมีทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะถูกตรวจสอบอย่างรุนแรง ตรงนี้ถ้าผู้ค้ายาเสพติดยังอยู่ได้ ตนเชื่อมั่นว่ามันผิดแล้ว มันเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายขับเคลื่อนเต็มที่ 

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปผลการประชุมกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืนว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาอาวุธปืนและยาเสพติด 4  มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการเกี่ยวกับอาวุธปืน อาทิ กวดขันการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืนและกระสุนปืน การตรวจสอบคุณสมบัติผู้มีและใช้อาวุธปืน 2.มาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 3. มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และ 4.การพัฒนาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต ทั้งการจัดตั้งระบบดูแลสุขภาพจิตใน โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง สถานประกอบกิจการที่มีพนักงานมากกว่า 100 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาวุธร้ายแรง เป็นต้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยยาเสพติดที่เข้ารับการบำบัดแล้วเมื่อออกมากลับมาเสพยาอีกว่า ในเชิงวิชาการทั่วโลกผู้ป่วยเหล่านี้เป็นผู้ป่วยเรื้อรัง เมื่อได้รับการรักษาครบกระบวนการผ่านไป 1 ปี มีโอกาสกลับไปเสพใหม่ 70% ฉะนั้นในระบบสุดท้ายคือการรักษาในชุมชน เพื่อฟื้นฟู เพราะถ้าผู้ป่วยรักษาแล้วสภาวะแวดล้อมยังเหมือนเดิม พฤติกรรมไม่เปลี่ยนจะกลับมาเหมือนเดิม เราจึงต้องดูแลครบวงจร เพราะผู้ป่วยสีแดงที่หายแล้วอาจมีสภาพทางสมอง ทางจิตใจ เราจึงต้องติดตามกัน

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ จ.หนองบัวลำภู จะมีการทบทวน พ.ร.บ.กัญชาฯ บ้างหรือไม่ว่า เรื่องยาบ้าเป็นยาเสพติด กัญชาวันนี้ไม่ใช่ยาเสพติด กัญชาทางคณะกรรมการ ป.ป.ส. ได้ถอดออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 แล้ว สิ่งที่เหลือจากกัญชาที่เป็นยาเสพติดก็คือสารสกัดที่มีสารทีเอชซี ไม่เกิน 0.2% ขออย่าไปผูกกันคนละเรื่องกัน

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. เป็นประธานการมอบนโยบาย เปิดการอบรมสร้าง “ครูแม่ไก่” ขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุกป้องกันปราบปรามยาเสพติด ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีตำรวจระดับรองผบช.-ผกก. หัวหน้าสถานีตำรวจทั่วประเทศ

"ปีนี้ต้องเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทุกมิติ ทั้งการสกัดกั้นการลักลอบขน จำหน่าย ผลิต โดยจะโฟกัสเข้มข้นที่การทำงานของตำรวจในพื้นที่ ทั้งในมิติของงานค้นหาผู้เสพ นำผู้เสพไปบำบัด หรือดำเนินคดี การดำเนินการกับผู้จำหน่าย และแนวทางการป้องกัน และสร้างชุมชนยั่งยืน" พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์กล่าว

ฮึ่ม!ตร.-ทหารนอกแถว

ผบ.ตร.กล่าวว่า การอบรมค้นหาผู้เสพในพื้นที่ สร้างเป็นครูแม่ไก่ สามารถแนะนำผู้ปฏิบัติงานด้านอื่นๆ เช่น สายตรวจหมู่บ้าน โดยผู้ผ่านการอบรมเป็นตัวขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่าย ตำรวจต้องไม่ทำงานลำพัง ให้ประสานความร่วมมือกันท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน ผู้นำชุมชนทางธรรมชาติ อาสาสมัครสาธารณสุข เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ช่วยกันในการค้นหา ลงระบบ เพื่อที่จะเห็นปัญหาว่าใครเป็นปัญหาระดับสีเขียว สีเหลือง สีแดง เพื่อทำมาตรการในการแก้ไขปัญหาร่วมกับครอบครัวของคนนั้นด้วย

"ผมพูดมาตั้งแต่รับตำแหน่งว่าจะกวาดบ้านตัวเองที่มีตำรวจกว่า 2 แสนนาย ใครมีเบาะแสอะไรสามารถแจ้งมาที่สายด่วน 191 และ 1599 รวมถึงระบบร้องเรียนร้องทุกข์ของจเรตำรวจทางออนไลน์ ยังสั่งให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงลงพื้นที่ให้ประชาชนมั่นใจว่า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจคนนี้ไม่ดี เราจะรับเรื่องไว้ และหากมีเรื่องเข้ามาจะไม่ดำเนินคดีแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนที่มีเรื่อง แต่จะดำเนินการกับผู้บังคับบัญชาอีก 2 ระดับ เพราะถือว่าคุมลูกน้องไม่ดี" ผบ.ตร.กล่าว

ที่กองทัพบก พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. กล่าวถึงนโยบายการควบคุมอาวุธปืนว่า การปฏิบัติราชการสนามจะใช้ปืนหลวง ไม่สามารถนำมาใช้ในสาธารณะได้อยู่แล้ว เมื่อสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ก็ต้องเข้าคลัง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ในการดูแลอยู่ สำหรับปืนส่วนตัวที่ซื้อมาถูกกฎหมายเพื่อใช้การป้องกันทรัพย์สิน ในส่วนนี้ทางหน่วยทหารได้สำรวจและควบคุมไว้แล้วว่าใครที่มีอยู่บ้าง และถูกกฎหมาย ซึ่งจะมีหมายเลขปืนชัดเจน เราก็จะควบคุมการใช้ในกรอบกฎหมาย ส่วนปืนเถื่อนเท่าที่คัดกรองในปัจจุบันในแวดวงทหารไม่มี ถ้าตรวจพบยืนยันจะถูกลงโทษหนัก

ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเหตุโศกนาฏกรรมจังหวัดหนองบัวลำภูว่า เรายังไม่ได้มีการคุยกันอย่างเป็นทางการ แต่ในมุมของพรรคหากการเปิดประชุมสภา ทำให้เราสามารถทำงานได้มากขึ้น และสามารถนำปัญหาของประชาชนมาพูดในสภาเพื่อแก้ไขปัญหา

นายรังสิมันต์กล่าวว่า หากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำขึ้นอีก เราจึงขอเสนอหลักการ 4 ข้อ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และจะนำไปสู่การปฏิรูปตำรวจและกองทัพ 1.จะต้องมีการจัดการอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เกิดการซื้อขายตำแหน่งกัน เพื่อป้องกันระบบตั๋วช้าง ซึ่งเป็นสิ่งชักนำสำคัญที่ทำให้เกิดคนมีสีเข้าไปเกี่ยวกับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย 2.จะต้องมีการดูแลเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในยามที่พวกเขามีปัญหา ขณะเดียวกันองค์กรเหล่านี้จะต้องมีกระบวนการในการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรมและโปร่งใส

3.รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อทำให้ต้นทุนของการปฏิบัติหน้าที่ในราชการมีน้อยที่สุด โดยจะต้องไม่เป็นการผลักภาระต่อผู้ปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อปืน การซื้อน้ำหมึกหรือกระดาษเอง สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่เกิดขึ้น ตลอดจนการเลิกภารกิจที่ไม่มีความจำเป็น เช่น ทหารรับใช้ตำรวจรับใช้ เป็นต้น 4.กรณีที่พวกเขาต้องออกจากองค์กร รัฐและองค์กรต้นสังกัดต้องเข้ามาดูว่าคนเหล่านี้สามารถอยู่ร่วมกันกับคนในสังคมได้หรือไม่ ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องรักษาหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ภาครัฐก็ต้องเข้ามามีบทบาทต่อเรื่องนี้ด้วย

วันเดียวกัน นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ตอบโต้นายทักษิณ ชินวัตร หรือโทนี่ ที่วิจารณ์รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถปราบยาเสพติดได้ และอ้างว่าตอนเป็นนายกฯ ตัวเองไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงฆ่าตัดตอนเป็นวาทกรรมเท่านั้นว่า รัฐบาลนายกฯ ประยุทธ์มีความจริงใจและจริงจังในการแก้ปัญหายาเสพติดสามารถจับกุมพ่อค้ายาบ้ายึดทรัพย์และดำเนินคดี ได้มากกว่าในยุครัฐบาลของนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียอีก

"นายกฯ ประยุทธ์คงจะไม่รับนักโทษหนีคดีมาปรึกษาเป็นแน่ เพราะกลัวจะมีความผิดฐานละเว้น การปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ปล่อยให้นักโทษหนีคดีลอยนวล นายกฯยึดหลักกฎหมายคงทำเช่นนั้นไม่ได้ ถ้ากลับมาก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไปรอรับตัว เอาเข้ามาอยู่ในคุกก่อน ถ้าว่างมากในคุกแล้วอยากจะเสนอแนะอะไรก็ฝากเจ้าหน้าที่มาก็แล้วกัน" นายเสกสกลกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุทิน' สั่งทัพเรือเร่งผลักดันน้ำเหนือออกอ่าวไทย หวั่นซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 54

นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวหลังการประชุมสั่งการเพื่อติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ร่วมกับศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพไทย และเหล่าทัพ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

'สุทิน' รับไม่มั่นใจนั่งเก้าอี้เดิม ไม่น้อยใจหากเปลี่ยนไปทำงานสภาฯ ถนัดอยู่แล้ว

นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวจะได้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม และได้มีการกรอกประวัติไปแล้ว โดยส่ายหน้าก่อนจะกล่าวว่า เข้าไปส่งเอกสารอื่น