นายกฯเยี่ยมน้ำท่วมนนท์ ร้องปปช.ตามเงิน50ล้าน

"บิ๊กป้อม" ลุยอุบลฯ-ศรีสะเกษ ไล่บี้วางแผนฟื้นฟูหลังน้ำลด  ปัดตอบนายกฯ สั่งตาม 50 ล้านเยียวยาเกษตรกรยาสูบ "สมศักดิ์" อาสาตามให้ "วัชระ" ร้อง ป.ป.ช. สอบเงินเข้ากระเป๋าใคร ปภ.เผย 27 จังหวัดยังน่าห่วง เร่งระบายน้ำช่วยผู้ประสบภัย

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจติดตามการแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ศรีสะเกษ โดยนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวมของลุ่มน้ำมูล-ลุ่มน้ำชี จากนั้น พล.อ.ประวิตรลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล บริเวณวัดหลวง ต.ในเมือง อ.เมืองฯ จ.อุบลราชธานี พร้อมเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ จากนั้นได้เดินทางต่อไปยัง จ.ศรีสะเกษ

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า สืบเนื่องจาก รัฐบาลได้นำ 13 มาตรการรับมือฤดูฝน มาใช้อย่างได้ผล จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่ที่มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเพื่อบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาครัฐได้ระดมให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ 19 อำเภอ ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย และเตรียมแผนรองรับการเยียวยาหลังน้ำลด ขอให้จังหวัด หน่วยงานราชการ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เตรียมแผนการช่วยเหลือฟื้นฟูภายหลังน้ำลดให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

เลขาธิการ สทนช.กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์ฝนภาคอีสาน ช่วงวันที่ 14-15 ต.ค. อาจมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่งผลต่อระดับน้ำเล็กน้อย วันที่ 16-19 ต.ค. ฝนจะลดลงไปอย่างมาก อาจไม่มีฝนตกในพื้นที่ภาคอีสานเลย สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีระดับน้ำเริ่มลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังผนังกั้นน้ำเนื่องจากระดับน้ำที่ท่วมสูงเป็นเวลานาน ประกอบกับเขื่อนอุบลรัตน์ยังคงการระบายอยู่ที่ 54 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของผนังกั้นน้ำโดยรอบ ได้แจ้งเตือนให้ประชาชนบริเวณรอบผนังกั้นน้ำได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนลุ่มน้ำมูลระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงที่สถานี M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำอยู่ที่ +116.5 ม. (รทก.) สูงกว่าตลิ่ง 4.5 เมตร ปริมาณน้ำ 5,735 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดว่าวันที่ 13 ต.ค. ระดับน้ำจะสูงสุดที่ +116.65 เมตร สูงกว่าตลิ่ง 4.65 ม. ปริมาณน้ำ 5,885 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลังจากนั้นจะลดลง

วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตรปฏิเสธตอบคำถามกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งให้ตรวจสอบเงินเยียวยาเกษตรกรยาสูบ จ.เพชรบูรณ์ 50 ล้านบาท ที่สำนักงบประมาณได้อนุมัติงบไปแล้ว แต่เงินไม่ถึงมือเกษตรกร โดย พล.อ.ประวิตรมีสีหน้าบึ้งตึง รีบเดิน ไม่ได้หันมองผู้สื่อข่าวที่พยายามซักถามกันเป็นจำนวนมาก

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า “เงินเยียวยาไม่น่าหาย เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับผม แต่จะไปตามต่อให้ เดี๋ยวช่วยตามให้”

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวัชระ เพชรทอง อดี ตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. และนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ขอให้สอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐมีการกระทำที่ส่อทุจริตหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมาย ป.ป.ช.หรือไม่ กรณีเงินเยียวยาเกษตรกรยาสูบ จ.เพชรบูรณ์ ภายใต้การกำกับดูแลของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง เหตุใดเกษตรกรจึงยังไม่ได้รับเงินและต้องร้องเรียนกับนายกฯ โดยตรง

ขณะที่ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมปศุสัตว์ตั้งวอร์รูม เข้าช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม ได้ปล่อยขบวนรถหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานเพื่อสนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ไปช่วยเหลือเกษตรกร จัดส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์และสัตวบาลเข้าดูแลรักษาสุขภาพสัตว์ป่วยทั่วประเทศแล้ว กำชับให้กรมปศุสัตว์จัดหน่วยงานบริการเคลื่อนที่เร็วสนับสนุนตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนสำรวจความเสียหายของเกษตรกรเพื่อขอรับการชดเชย

"มี 10 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ  ศรีสะเกษ ยโสธร นครราชสีมา สิงห์บุรี ร้อยเอ็ด สุรินทร์ อุบลราชธานี พิษณุโลก เชียงใหม่ และร้อยเอ็ด เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยที่ต้องการรับการช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ในพื้นที่ หรือติดต่อศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร 0-2653-4444 ต่อ 3315 หรือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] หรือแจ้งข้อมูลในแอปพลิเคชัน DLD 4.0 เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที" รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 27 จังหวัด ได้แก่ ตาก เพชรบูรณ์ พิจิตร นครสวรรค์ ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี ลพบุรี นครปฐม นครนายก ปราจีนบุรี เพชรบุรี และราชบุรี รวม 143 อำเภอ 847 ตำบล 5,348 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 224,687 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 4 ราย

ทั้งนี้ ปภ.ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ