จัด2.3หมื่นล้าน เยียวยาน้ำท่วม ฝนลดหมดพายุ

นายกฯ สั่งเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม เตรียมงบไว้ 2.3 หมื่นล้าน สั่ง รมต.ลงพื้นที่ มอบ “ประวิตร” ตรวจสอบงบเกษตรกรยาสูบสูญหาย สั่งครม.เปิดไลน์ดูสถานการณ์น้ำทุกวัน กอนช.ปัดน้ำเหนือจ่อทะลักเข้า กทม. แจงภาพจากดาวเทียมแค่น้ำค้างทุ่ง น้ำแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มเริ่มลดลง กรมชลฯ เตรียมปรับลดระบายน้ำเขื่อน น้ำเหนือ-หนุน ทำชุมชนท่าอิฐกว่า 2 พันครัวเรือนเดือดร้อน 

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 11 ตุลาคม   น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้สั่งการเรื่องการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยเน้นย้ำว่าหลังจากนี้เมื่อหลายพื้นที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว ให้เร่งดำเนินการฟื้นฟูเยียวยา เมื่อน้ำลดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งลงพื้นที่ไปสำรวจความเสียหาย ทำเรื่องเบิกจ่าย ส่วนเรื่องการสร้างรายได้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัจจัยเกี่ยวกับการผลิตของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่

"ขณะที่เรื่องการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะถนน นายกฯ ได้เร่งให้ทุกหน่วยงานเข้าไปดูแล ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น นายกฯ ระบุว่าได้เตรียมเอาไว้อยู่ เบื้องต้นการฟื้นฟูเยียวยาครั้งนี้น่าจะใช้งบประมาณอย่างน้อย 2.3 หมื่นล้านบาท การดำเนินการเยียวยาในขั้นต้นจะเป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย ส่วนอะไรจะเพิ่มเติมให้ทางนายกฯ ยินดีจะดูแลให้ เพื่อให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึง ครบถ้วน เหมาะสมตามความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น"

 รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุม ครม.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ในช่วงท้าย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง ได้เสนอแนะกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่า น้ำท่วมครั้งนี้มีประชาชนเดือดร้อนมาก อยากให้นายกฯ สั่งการให้ ครม.ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาให้ประชาชน ขาดส่วนไหนจะได้ช่วยเขา จะได้ทำให้ประชาชนรู้สึกดี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เห็นด้วย พร้อมระบุว่ารัฐมนตรีมีเขตรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่เวลาลงไปให้รับเรื่องมาแต่อย่าเพิ่งรับปาก ให้มาดูงบประมาณก่อน อย่างที่ตนลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ มีเกษตรกรยาสูบมาของบ 50 ล้านบาท แต่พอตนไปตรวจสอบพบว่ามีการเบิกจ่ายไปแล้ว แต่เงินตรงนั้นไม่ไปถึงชาวบ้าน จึงขอให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไปตรวจสอบว่าเงินหายไปไหน พล.อ.ประยุทธ์ยังได้กำชับรัฐมนตรีให้ช่วยเปิดไลน์ดูข้อมูลที่หน่วยงานรายงานสถานการณ์น้ำของแต่ละวันด้วย เพื่อให้ได้รู้ถึงสถานการณ์น้ำแต่ละวัน เพราะตนอ่านรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำอย่างละเอียดทุกวัน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่อง ซึ่งมวลน้ำจากภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) ที่มีการแชร์ในโลกออนไลน์ว่ามวลน้ำจะไหลลงสู่กรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลนั้น ไม่เป็นความจริง แต่เป็นมวลน้ำที่เกิดจากฝนตกในพื้นที่จะค้างทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้ว  และมวลน้ำที่ท่วมในพื้นที่ลุ่มเป็นส่วนใหญ่ จะไม่ส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำหลากลงมาท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง แต่จะทยอยไหลลงสู่แม่น้ำสายหลัก ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับกระทบจากมวลน้ำดังกล่าว ขณะที่การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นทั้ง 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขณะนี้ได้หยุดการระบาย และน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนจะกักเก็บไว้ทั้งหมด ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อน

 "ขณะนี้ปริมาณฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มลดลง เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝน และกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาว ไม่มีพายุเข้ามาอีกแน่นอน" นายสุรสีห์ระบุ

นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน คาดการณ์ปริมาณน้ำลุ่มเจ้าพระยาว่า ตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. ปริมาณน้ำไหลผ่านลุ่มน้ำปิงที่สถานี P.17 อ.บรรพตพิสัยและลุ่มน้ำน่านที่สถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง โดยจะทำให้ในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ลดลงไปด้วย หากระยะต่อไปไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มและปริมาณน้ำทางตอนบนเริ่มลดลง จะทยอยปรับลดการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างเหมาะสมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะบินเฮลิคอปเตอร์สำรวจสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ขณะที่สถานการณ์น้ำทางด้านตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาระดับน้ำเริ่มทรงตัว หากปริมาณน้ำเริ่มลดระดับลง ก็จะทำการปรับลดปริมาณการระบายของเขื่อนเจ้าพระยา

ขณะที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 17.70 มีระดับน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 17.38 และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 3,164 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมืองฯ จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านจุดวัดอยู่ที่ 2,737 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างในพื้นที่ อ.สรรพยา ยังคงใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้พบว่ายังมีน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งจนข้ามถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 311ในหลายจุด

 สถานการณ์น้ำเหนือน้ำหนุน น้ำเจ้าพระยายกตัวสูงขึ้น ทำให้น้ำทะลักท่วมสูงตามชุมชน ซึ่งที่ท่าอิฐ จ.นนทบุรี มีทั้งหมด 10 หมู่ ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 7 หมู่ คือ หมู่ 4-10 รวมแล้วกว่า 2,000 หลังคาเรือน ตามชุมชนต่างๆ บ้านริมแม่น้ำ หรือบ้านนอกคันกั้นน้ำ น้ำท่วมสูงทุกหลังคาเรือน

วันเดียวกัน นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กรุงเทพมหานคร พร้อมนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. และ น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. ลงพื้นที่วัดเทวราชกุญชรฯ เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หลังฝนตกต่อเนื่องทำน้ำเอ่อท่วม โดยนายสุชัชวีร์กล่าวว่า พรรค ปชป.ให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำท่วม ซึ่งเป็นปัญหาสะสมมานานของคนกรุงเทพฯ การแก้ปัญหาเรื่องน้ำต้องแก้ด้วยหลักวิศวกรรมและปฏิรูปทั้งระบบ เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว และต้องดูในส่วนของปริมณฑลไปควบคู่กัน เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ไม่ต้องมาปัญหาซ้ำซาก มั่นใจว่าแนวทางที่เตรียมไว้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมให้กับคนกรุงเทพฯ ได้แน่นอน แต่หากไม่ได้รับการแก้ไข อนาคต กทม.จมน้ำแน่นอน

ด้านนายองอาจ ได้เรียกร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ผ่อนปรนเงื่อนไข 180 วันเพื่อลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนในช่วงเวลาน้ำท่วม เพื่อให้ ส.ส.สามารถลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนได้

ที่ ต.บ้านใหญ่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมเพื่อไทย (พท.) ในฐานะหัวหน้าครอบครัว พท. และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรค นำคณะลงพื้นที่พบปะและเยี่ยมเยียนให้กำลังใจประชาชนที่ประสบอุทกภัยในหลายหลังคาเรือน

ที่วัดลาดชิด ต.ลาดชิด อ.ผักไห่ น.ส.แพทองธารกล่าวกับประชาชนว่า จากการลงพื้นที่รู้สึกเห็นใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย โดยปี 2557 พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เคยมีนโยบายที่ดีในการบริหารจัดการน้ำ แต่ไม่มีโอกาสได้ทำ ถ้าพรรคเพื่อไทยได้มีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง จะจัดการดูแลเรื่องน้ำได้ดีกว่านี้ อยากหลับตาดีดนิ้วให้น้ำท่วมหายไปให้หมด เพื่อให้พี่น้องอยู่กันอย่างสบายๆ แต่ไม่มีซูเปอร์เพาเวอร์ ดังนั้นต้องอาศัยให้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล จะได้มีอำนาจในการบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ของพี่น้องประชาชนให้ดีกว่านี้

น.ส.แพทองธารกล่าวถึงโครงการแผนบริหารจัดการน้ำในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ว่า จะนำนโยบายดังกล่าวกลับมาปรับปรุงและแก้ไขกันต่อไป  

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเคยมีแผนบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท มั่นใจว่าสถานการณ์ดีขึ้นถ้าแผนนี้ยังอยู่และได้รับการปฏิบัติ ส่วนการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลในขณะนี้ คิดว่า 8 ปีของรัฐบาลนี้น้ำก็ยังท่วมอยู่ทุกปี การใช้งบกลางหรืองบบริหารจัดการน้ำจะเป็นโครงการลักษณะเบี้ยหัวแตก เป็นโครงการขนาดเล็กซึ่งไม่ได้แก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในทั้งระบบ เป็นการแก้ไขปัญหาน้ำไม่ได้ผล.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"

ใต้อ่วม! ทางรถไฟ-ถนนขาด

ฝนตกหนักน้ำท่วม เส้นทางลงใต้อัมพาต ทางขาดทั้งรถไฟและถนนสายเอเชีย รถไฟไปต่อไม่ได้ ติดค้างที่ชุมพรเพียบ ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ส่วนที่นครศรีฯ น้ำทะเลจ่อหนุนซ้ำเติม

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า ผสมนํ้ายาดองศพ

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า พบน้ำยาดองศพ สารก่อมะเร็งในบุหรี่ไฟฟ้าเพียบ เสี่ยงเกิดมะเร็ง แนะผู้ปกครองสอดส่องพฤติกรรมบุตรหลาน ย้ำเตือนเด็กและเยาวชนอย่าหลงเชื่อค่านิยมผิดๆ

บึ้มงานกาชาด สอบเกียร์ว่าง! ตำรวจอุ้มผาง

"ผบ.ตร." สั่งสอบตำรวจพื้นที่ปล่อยปละละเลยหรือไม่ เหตุ 2 คนร้ายปาระเบิดกลางเวทีรำวงงานกาชาดอุ้มผาง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย เจ็บ 48 คน "อุ๊งอิ๊ง"