มวลนํ้าเหนือไหลเข้ากทม. ‘นํ้าชี’ท่วมเมืองขอนแก่น!

"บิ๊กป้อม" สั่งทุกหน่วยเร่งช่วย ปชช. ลดพื้นที่น้ำท่วมขังทุกพื้นที่ให้เร็วที่สุด ประเมินฝนตอนบนเริ่มลด "GISTDA" เปิดภาพดาวเทียม "มวลน้ำเหนือ" ทยอยไหลลงภาคกลางจ่อเข้าปทุมฯ นนทบุรี กทม. "ชัชชาติ” เผยช่วงจังหวะน้ำ 3 ด้านมาเจอกัน คาดอังคารนี้สถานการณ์ดีขึ้น เตรียม “บิ๊กแบ็ก” กั้นน้ำไว้แล้ว ขณะที่มวลน้ำชีไหลท่วมมิดถนนกลางเมืองขอนแก่น 

เมื่อวันจันทร์ ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา, กรมชลประทาน, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)  (สสน.) เข้าร่วมการประชุม

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำ เนื่องจากปริมาณฝนในปีนี้มากกว่าค่าปกติ  โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือซึ่งมีปริมาณฝนใกล้เคียงปี 54 อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและมีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ภาพรวมของผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันน้อยกว่าสถานการณ์ในปี 54 เป็นอย่างมาก จะมีเพียงพื้นที่เฉพาะจุดเท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบมากกว่า จากสภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อผลกระทบและความเสียหายที่เกิดกับประชาชน โดยได้สั่งการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาอุทกภัย โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชีและมูล พร้อมเน้นย้ำให้เร่งดำเนินการบริหารจัดการน้ำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

พล.อ.ประวิตรยังเน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการน้ำทุกแหล่งน้ำ ที่มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่า 80% ของความจุ หรือมากกว่าระดับควบคุม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงแข็งแรงและอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนด้านท้ายน้ำของอ่าง โดยสั่งการให้บริหารจัดการให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม รวมถึงให้ตรวจสอบคัน ทำนบ  และพนังกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ท้ายอ่างให้มีความมั่นคงปลอดภัย สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้เต็มศักยภาพ รวมถึงกำชับให้มีการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝน ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่ตอนบนปริมาณฝนเริ่มมีแนวโน้มลดลงแล้ว จึงให้ลดการระบายน้ำเพื่อไม่ให้ปริมาณน้ำกระทบในพื้นที่ด้านท้าย ขณะเดียวกันก็เป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งที่จะถึงด้วย นอกจากนี้ให้เร่งแก้ไขปัญหาอุปสรรคเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในจุดต่างๆ  ที่มีน้ำท่วมขัง ออกสู่ลำน้ำสายหลักเพื่อระบายออกสู่ทะเลโดยเร็ว

ด้าน ดร.สุรสีห์กล่าวว่า คาดการณ์ว่าในช่วงหลังวันที่  11 ต.ค.65 แนวโน้มปริมาณฝนจะเริ่มลดลง โดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ เริ่มทรงตัว รวมถึงปริมาณน้ำไหลลงอ่างลดลง โดยปัจจุบันอ่างส่วนใหญ่เริ่มลดและงดระบายน้ำที่อาจจะส่งผลกระทบด้านท้ายน้ำ รวมถึงเพื่อเป็นการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในในฤดูแล้ง ทำให้ภาพรวมของฤดูแล้งในปีนี้ไม่น่าเป็นห่วงมากนัก โดยเฉพาะปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่บริเวณนอกเขตชลประทานและพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำ

วันเดียวกัน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม Radarsat-2 พบมวลน้ำจากภาคเหนือกำลังทยอยไหลลงสู่พื้นที่ภาคกลาง และมีมวลน้ำบางส่วนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแล้ว ได้แก่ นครสวรรค์ 455,022 ไร่, พิจิตร 281,349  ไร่, พระนครศรีอยุธยา 253,630 ไร่, สุโขทัย 180,399 ไร่,  พิษณุโลก 180,187 ไร่, สุพรรณบุรี 174,441 ไร่, ลพบุรี  92,737 ไร่, เพชรบูรณ์ 64,036 ไร่, กำแพงเพชร 57,428 ไร่,  ชัยนาท 40,738 ไร่, อุทัยธานี 40,259 ไร่, สระบุรี 39,956 ไร่, อ่างทอง 39,164 ไร่, สิงห์บุรี 28,869 ไร่, ชัยภูมิ 11,471  ไร่, นครนายก 6,452 ไร่ และปราจีนบุรี 2,197 ไร่ รวมพื้นที่เสียหายทั้งสิ้น 1,948,335 ไร่

โดยมวลน้ำที่ไหลมาจากภาคเหนือ เมื่อพ้นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแล้วจะผ่านจังหวัดปทุมธานี, นนทบุรี, กรุงเทพมหานคร ก่อนลงสู่อ่าวไทยต่อไป

ส่วนมวลน้ำจากลำน้ำชีจากชัยภูมิจะไหลไปสมทบกับลำน้ำมูล ก่อนลงสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานีต่อไป สำหรับพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังทั้งสิ้น  266,989 ไร่

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำว่า  เมื่อวันที่ 9 ต.ค.มีน้ำท่วมในพื้นที่สุขุมวิท เพราะเป็นจังหวะที่  3 ด้านมาเจอกัน คือ น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุนสูงมาเจอกัน โดย 1.เขตพระโขนงมีฝน 107 มิลลิเมตร 2.น้ำทะเลหนุนสูงสุดในรอบปี 3.น้ำทะเลหนุนกับน้ำเหนือมาปะทะกัน ทำให้น้ำที่บางเขนใหม่ขึ้นสูง ทำให้การระบายช้าลง แต่เชื่อว่าภายในเที่ยงคืนน่าจะระบายหมด และเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนวันนี้อีก 1 วัน หลังจากวันนี้ไปก็จะเบาลงจนไม่น่าห่วง 

นายชัชชาติกล่าวว่า น้ำที่ต้องมอนิเตอร์หลักคือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีน้ำเกิน 100% โดยกรมชลประทานยืนยัน ว่าน้ำที่ผันลงมาจะไม่ผันเข้าสู่ กทม. และจะดึงไปบึงฝรั่ง จะออกไปทางคลองนครเนื่องเขต แต่เรายังไม่ประมาทต้องทำคันกั้นน้ำเสริมทางตะวันออกไว้ เพราะสุดท้ายถ้าระบายออกมาก็ต้องออกไปยังคลองตะวันออกทั้งหลายของ กทม. รวมไปถึงคลองลำปลาทิวที่ลงไปลาดกระบัง โดยใช้บิ๊กแบ็กเสริมทำนบกั้นน้ำ

"ปัจจุบัน กทม.เตรียมบิ๊กแบ็กไว้ 1,000 ลูก เพื่อเตรียมวางชะลอน้ำบริเวณคลอง 8, 9, 10, 11 ฝั่งคลองหกวาสายล่าง โดยจะเริ่มวางวันที่ 11 ต.ค. จากการติดตามสถานการณ์โดยรวม ปริมาณน้ำเหนือหากดูจากเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลยังไม่เต็มความจุ อยู่ในระดับ 76% สามารถชะลอการปล่อยน้ำเหนือลงมาได้ จึงไม่น่าห่วง สรุปสถานการณ์น้ำคือ พ้นวันนี้ไปฝนจะเบาลง เหลือสิ่งที่ต้องดูแลตอนนี้คือน้ำฝั่งตะวันออกเท่านั้น" นายชัชชาติกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ยังน่าเป็นห่วง น้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง  ประกอบกับยังมีฝนตกในพื้นที่ ทำให้บางจุดในที่ลุ่มน้ำท่วมสูงเกือบ 3 เมตร บ้านชั้นเดียวเกือบมิดหลังคาแล้ว 

ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และได้ล้นบานประตูระบายน้ำบางเสวยและประตูระบายน้ำบางสารวัตร  ต.โพนางดำตก ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลทะลักลงคลองส่งน้ำ 1 ซ้ายบรมธาตุ ส่งผลให้น้ำในคลอง 1 ซ้ายบรมธาตุมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น และกัดเซาะถนนคันคลองอีกด้านขาดกว้างกว่า 10 เมตร เจ้าหน้าที่ชลประทานเร่งเข้าซ่อมแซม แต่ยังไม่สามารถหยุดน้ำในคลองที่ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนและทุ่งนาใน ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา และ ต.ห้วยกรด อ.สรรคบุรี ได้  

เมื่อเวลา 07.30 น. บรรยากาศทำบุญในวันอาสาฬหบูชา ที่บริเวณหน้าวัดพินิจธรรมสาร ริมถนน 309  อ่างทอง-อยุธยา ต.บางปลากด อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา หลังน้ำเจ้าพระยาได้เอ่อล้นเข้าท่วมบริเวณวัดและบ้านเรือนประชาชนสูงกว่า 1 เมตร  ส่วนที่บริเวณโรงเรียนวัดขุมทอง ม.6 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำน้อยได้เอ่อล้นเข้าท่วมชั้นล่างของอาคารโรงเรียน สูงประมาณ 30-50 เซนติเมตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นจากแม่น้ำชีได้ไหลทะลักเข้าท่วม ถ.เหล่านาดี หน้าศาลปกครองขอนแก่น  เส้นทางสายหลักจากตัวเมืองขอนแก่นไป อ.พระยืน ที่ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 50 ซม. รถขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้

มวลน้ำจากแม่น้ำชีได้ไหลเข้าเขตพื้นที่ อ.เมืองขอนแก่นแล้ว ซึ่งได้ไหลเข้าท่วม ต.ท่าพระ และไหลเข้าท่วม ต.เมืองเก่าแล้วหลายจุด โดยเข้าท่วมถนนกลางเมืองช่วงสะพานยกระดับข้ามทางรถไฟตัด ถ.มิตรภาพ ช่วง บ.โนนตุ่น ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรทั้งขาเข้าและขาออก  ถ.มิตรภาพ ตรงจุดดังกล่าวทั้งหมด เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร และให้มีการสัญจรในเส้นทางเลี่ยงเมืองตัดผ่าน ถ.มิตรภาพแทน

 ด้าน น.ส.กิตติ์ธัญญา วาจาดี ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์ใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ระดับน้ำยังคงท่วมสูงพื้นที่บ้านเรือนประชาชนจมมิดหลังคา พื้นที่เศรษฐกิจ ที่ดินทำกินของเกษตรกรถูกน้ำท่วมเสียหาย 100% ถนนที่ใช้สัญจรเข้าออกภายใน อ.วารินชำราบ จากที่มี 4 เส้นทางเหลือเพียง 1 เส้นทาง หากมีมวลน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์และฝายจากศรีสะเกษเข้ามาเพิ่มอีก จะทำให้ประชาชนต้องใช้เรือสัญจรแทนรถยนต์

 "ด้วยกฎเหล็ก 180 วันของ กกต. ทำให้ผู้แทนราษฎร หนักใจมาก เพราะอยากช่วยประชาชนมากแต่ต้องเคารพกติกา จึงอยากให้ผู้มีอำนาจแคร์ประชาชนบ้าง คนที่เสียประโยชน์คือพี่น้องประชาชน อยากร้องขอผู้มีอำนาจ ทุกภาคส่วน ใครที่มีองคาพยพ มีของบรรเทาทุกข์ พวกท่านสามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ทันที อยากให้ทุกคนมาช่วยกัน" ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง