วอนติดยารีบบำบัด หวั่นก่อเหตุซ้ำรอย

.vce-row-container .vcv-lozad {display: none}

รัฐบาลแนะผู้มีปัญหายาเสพติดเร่งเข้าสู่กระบวนการบำบัด ก่อนเป็นสาเหตุก่อความรุนแรงและเหตุสลดซ้ำ "จิตภัสร์ ตั๊น" จี้ทบทวนการครอบครองอาวุธปืน คนไทยมีปืน 10 ล้านกระบอก ลำดับ 13 ของโลก 4 ล้านเป็นปืนเถื่อน อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยมีการแชร์เรื่องของโรค PTSD เกือบ 2 หมื่นครั้งแล้ว

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ขณะนี้ได้ปรากฏกรณีการก่อเหตุความรุนแรงส่งผลให้มีทั้งผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหลายกรณีผู้ก่อเหตุมีการใช้สารเสพติด โดยการแก้ไขปัญหานี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกระดับ ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งปราบปรามขบวนการค้ายาเสพติด และประชาชนทุกคนในสังคม ที่หากเป็นผู้ติดสารเสพติด มีบุคคลในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้เร่งเข้าสู่กระบวนการบำบัดโดยด่วน ทั้งนี้  หากปล่อยให้มีการเสพยาเป็นระยะเวลานาน จะเป็นต้นเหตุของการกระทำความรุนแรงต่างๆ เนื่องจากยาเสพติดมีผลให้สมองถูกทำลาย ความสามารถในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลลดลง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ก้าวร้าว หงุดหงิด เกิดอาการทางจิตประสาท ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เป็นสาแหตุของการก่อความรุนแรง และนำไปสู่การก่อเหตุสลดในสังคมซ้ำๆ ได้

ปัจจุบันผู้ติดยาเสพติดสามารถเข้ารับคำปรึกษาเบื้องต้นก่อนเข้ารับการบำบัดรักษาหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลตำรวจ ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ที่สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 และสายด่วนเลิกยาเสพติด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงช่องทาง Line Official “ห่วงใย” โดยสามารถค้นหาโดยใช้คำว่า @1165huangyai  ซึ่งเป็นระบบแชตบอตตอบคำถามอัตโนมัติ ที่ตอบทุกเรื่องเพื่อประเมินตัวเองเกี่ยวกับการติดสารเสพติด และการให้คำปรึกษา การตอบคำถามที่พบบ่อยเพื่อเป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้น หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อได้รับคำปรึกษาแล้วยังสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการบำบัดได้ที่สถาบันบำบัดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์  จังหวัดปทุมธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์

ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่, โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน, โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น, โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี, โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 และเว็บไซต์ของ สบยช. ที่ www.pmnidat.go.th

แนะควบคุมอาวุธปืน

ด้าน น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับนโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและให้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีการปรับปรุงกฎหมาย พระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ซึ่งเน้นการตัดวงจรยาเสพติดด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดทรัพย์ เพิ่มแรงจูงใจปฏิบัติหน้าที่ คือให้รางวัลนำจับที่มีมากถึง 30% ของมูลค่าทรัพย์ที่ยึดได้ โดย 25% เป็นของเจ้าหน้าที่ผู้สืบสวนและทำคดี และอีก 5% เป็นของผู้แจ้งเบาะแสเพื่อให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปราบปรามยาเสพติด ให้ช่วยแจ้งเบาะแสรัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายเพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด ด้วยการยึดอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ที่อยู่ในกระบวนการยึด โดยในปี 2564 รัฐบาลตั้งเป้ายึดทรัพย์ 6,000 ล้านบาท แต่สามารถยึดทรัพย์ได้กว่า 7,000 ล้านบาทกับผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีก็ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดกวดขันในการควบคุมยาเสพติด

​“ส่วนที่มีความพยายามนำไปเปรียบเทียบกับรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่มีการดำเนินการปราบปรามยาเสพติดอย่างรุนแรงนั้น ขออย่าได้นำไปเปรียบเทียบกัน เพราะจากปัญหาการฆ่าตัดตอนสมัยของรัฐบาลทักษิณนั้น ผลคือทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 1,400 คน เป็นเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสร้างปัญหาสั่งสมให้เกิดความไม่สงบมาจนถึงปัจจุบัน” น.ส.ทิพานันกล่าว

น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร เผยว่า ในฐานะที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกด้านอาชญาวิทยา ตระหนักและเล็งเห็นชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงเหตุการณ์รุนแรง แต่เป็นปัญหาสังคมที่หมักหมมฝังรากลึกในสังคมไทยมานาน เป็นภาพสะท้อนชัดถึงความรุนแรงทางสังคมในทุกมิติ

“จากสถิติการครอบครองอาวุธปืนในประเทศไทย รวมประชากรในอาเซียน 647 ล้านคน พบว่าคนไทย 68 ล้านคนมีอาวุธปืนในครอบครองของพลเรือนมากถึง 10,342,000 กระบอก สูงที่สุดในอาเซียน ถือเป็นอันดับที่ 13 ของโลก น่าตกใจไปกว่านั้น ในจำนวนกว่า 10 ล้านกระบอก เป็นปืนเถื่อนมากถึง 40% หรือประมาณ 4.1 ล้านกระบอก นอกจากนี้ การก่อเหตุรุนแรง ก่ออาชญากรรมร้ายแรงด้วยอาวุธปืนเถื่อนในประเทศไทยมีอัตราการเกิดเหตุสูงถึง 77.5% จากการก่อเหตุประมาณ 35,000 ครั้ง แสดงว่ามี ปืนเถื่อนเกลื่อนเมือง ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง ดังนั้นถึงเวลาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องลงมือเริ่มต้นแก้ไขปัญหาที่ต้นตออย่างตรงจุดอย่างครบถ้วน ไม่ว่าเรื่องกฎหมาย การเมือง ไปจนถึงระบบการซื้อปืนของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการการตำรวจ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนในระยะสั้นให้เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน   ก่อนที่จะมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาระยะยาวในอนาคต” น.ส.จิตภัสร์กล่าว

แห่แชร์โรค PTSD 1.8 หมื่นครั้ง

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชนและสื่อมวลชน ไม่เผยแพร่ภาพความรุนแรงทำให้คนใกล้ชิด สังคม เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น หรือเป็นการทำให้สังคมเกิดความชาชินต่อความรุนแรงการไม่ส่งต่อภาพ คลิป เหตุการณ์ความรุนแรง เพราะจะยิ่งเป็นการย้ำให้เรารู้ว่าอย่าเผยแพร่ภาพ คลิป ข่าวสารโดยเน้นสีสัน ทำให้คนที่อยู่ในความทุกข์ ความเครียด แล้วไปกระตุ้นการก่อเหตุได้ ซึ่งนอกจากการขอความร่วมมือไม่ส่งต่อภาพความรุนแรงที่ได้รับความสนใจ มียอดแชร์จำนวนมากเรื่องของโรค PTSD ก็ได้รับความสนใจเช่นเดียวกัน โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการส่งต่อและแชร์ข้อมูลกว่า 18,000 ครั้ง และข่าวการลงพื้นที่ก็ได้รับแรงใจจากประชาชนผู้ติดตามอย่างล้นหลาม ไม่เพียงเท่านั้น จากการขอความร่วมมือดังกล่าว ยังได้รับการสนับสนุนจากทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดทำหนังสือถึงองค์กรวิชาชีพโทรทัศน์ เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบการนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการกราดยิงในจังหวัดหนองบัวลำภูอีกด้วย

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวต่อว่า สิ่งที่ควรปฏิบัติในการสื่อสาร ตามคำแนะนำของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ควรสื่อสารเป็นกลาง ให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความห่วงใย เห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจในการเผชิญความทุกข์ร่วมกัน สามารถให้ข้อมูลช่องทางให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ทางอินเทอร์เน็ต บุคลากรหรือหน่วยงานที่สามารถขอความช่วยเหลือได้ โดยข้อมูลความรู้จากแหล่งอ้างอิงที่ถูกต้องแก่สังคมเกี่ยวกับสัญญาณเตือนบุคคลที่อยู่ในภาวะเครียด กดดันที่มีแนวโน้มที่จะก่ออันตราย และการช่วยเหลือเบื้องต้น ที่สำคัญคือการดูแลตนเอง การผ่อนคลายตนเองจากความกดดันในการติดตามข่าวสาร เช่น ไม่ใช้เวลามากเกินไปในการรับชม เบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่นบ้าง และไม่ติดตามเพจที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง

"ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ทำให้เห็นถึงพลังสังคมของประชาชนและสื่อมวลชน ที่ยับยั้งการนำเสนอสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะความสูญเสียในครั้งนี้เป็นบาดแผลฉกรรจ์สำหรับสังคมไทยของเรา วันนี้พลังของการสื่อสารได้ทำให้ทุกคนประจักษ์ว่า ทุกคนในสังคมสามารถช่วยกันโดยการสื่อสารที่มีคุณภาพได้ และขอบคุณทุกความร่วมมือและการส่งต่อ ไม่เผยแพร่ ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อภาพความรุนแรง สร้างปรากฏการณ์ใหม่พื้นที่สื่อปลอดภัยเพื่อประชาชน” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว.

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง