กกต.หวังแก้มือนับคะแนนเลือกตั้ง 66 เร็ว-ไม่ผิดพลาด “พรหมินทร์” โปรโมตชนะแบบแลนด์สไลด์ การันตีเป็นรัฐบาล “คฑาเทพ” คำโต 9 พรรคขอมาอยู่ด้วย ฝ่ายค้านนัดถก 10 ต.ค. ซักฟอกรบ.แบบไม่ลงมติ เล็งหยิบเหตุกราดยิงอภิปราย
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมหารือกับสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (ประเทศไทย) และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เกี่ยวกับการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อย่างไม่เป็นทางการ สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปกรณีสภาครบวาระในปี 66 เพื่อให้ร่วมกันรายงานผลคะแนนเลือกตั้งให้ประชาชนรับรู้ด้วยความถูกต้องและเป็นไปด้วยความรวดเร็วครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย
นายแสวงกล่าวว่า ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีบทเรียนการรายงานคะแนนผิดพลาด ยอมรับว่ามีพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก และรายชื่อพรรคใกล้เคียงกัน ทำให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง หรือ กปน. ทำงานมาตลอดทั้งวัน เกิดความเหนื่อยล้า จึงเกิดความผิดพลาด โดยพบบัตรเขย่ง 39 หน่วย จากกว่า 90,000หน่วย ครั้งนี้จึงไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก ดังนั้นต้องเน้นความถูกต้อง
นายแสวงระบุว่า ต้องการให้มีการตรวจสอบถูกต้อง เพราะครั้งนี้มีเกือบแสนหน่วย โดยการรายงานผลในทุกครึ่งชั่วโมง ถือว่าไม่ช้า ปีที่ผ่านมาที่รายงานข้ามวัน เพราะเกิดความผิดพลาด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเร็วขึ้นได้ แต่ต้องซักซ้อมกับทางเขตให้ดี ส่วนหน่วยเลือกตั้งนั้น จะต้องมีการสำรวจข้อมูลใหม่อีกครั้ง เพราะที่ผ่านมามีสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องจัดหน่วยเพิ่มขึ้นเพื่อลดความแออัดของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องรอให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ก่อน
เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า ขณะที่การรายงานผลการนับคะแนนการเลือกตั้งปี 66 นั้น กกต.ได้ศึกษาปัญหาการรายงานผลการเลือกตั้งปี 62 ที่มีความไม่เสถียร โดยได้ตั้งคณะทำงานศึกษาระบบการรายงานผลการเลือกตั้ง จะใช้ระบบเทคโนโลยีมาใช้ โดยเริ่มจากกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งรายงานผลจากหน่วยเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่าน่าจะมีประมาณกว่าแสนหน่วย เนื่องจากประชากรเพิ่มขึ้น โดยรายงานไปยังเขต เขตจะทำการตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนจะรายงานไปยังสำนักงาน กกต. จะแสดงคะแนนภาพรวมทั้ง 400 เขต 77 จังหวัดทั่วประเทศ ตั้งเป้าไว้ว่าหลังปิดหน่วยประมาณ 1 ชั่วโมง จะเริ่มรายงานผลคะแนน และทุกๆ 30 นาที คะแนนจะรายงานมายัง กกต.กลาง จะมีจอแสดงผล
เมื่อถามว่า จะได้เห็นหน้าตาโปรแกรมรายงานผลการเลือกตั้งเมื่อไหร่ นายแสวงตอบว่า ยังไม่เห็นหน้าตาของโปรแกรมรายงานผลคะแนน แต่เป็นเพียงแค่แนวคิดที่ กกต.ศึกษาเอาไว้ ต้องมีความมั่นใจแล้วจึงนำเอาไปใช้ และต้องออกแบบระบบและบริหารจัดการให้ดี เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้เปลี่ยนมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และเพิ่มหน่วยเลือกตั้งเกือบแสนหน่วย
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคเพื่อไทย แถลงความพร้อมการเปิดนโยบายมุ่งชนะแบบแลนด์สไลด์ เพื่อไทย เพื่อคนไทยทุกคน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 ต.ค. เวลา 10.30-11.30 น. ห้อง ThinkLab ชั้น 1 พรรคเพื่อไทยว่า การชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ จะเป็นก้าวแรกของการทวงคืนประชาธิปไตยให้กับฝ่ายประชาชน เพื่อไทยตั้งเป้าคว้าชัยชนะเกินครึ่งหนึ่งของสภาคือ 250 เสียง เพื่อเป็นหลักประกันจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน
นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า จะทวงคืนอำนาจประชาชนกลับคืนมาด้วยยุทธศาสตร์ 3 ปัจจัย เพื่อชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ ดังนี้ 1.เสนอผู้แทนราษฎรที่ใกล้ชิดประชาชน 2.เสนอนโยบายที่สร้างความหวัง 3.มีผู้เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี 3 ท่าน เพื่อแสดงความพร้อมในการนำพาประเทศ ทั้งนี้ นโยบายของเพื่อไทยจะเป็นไปเพื่อชี้หนทาง แก้ปัญหาด้วยวิธีการที่แตกต่าง ที่ผ่านมาเมื่อเราได้เป็นรัฐบาล ก็ได้ทำงานสร้างสุข พาประชาชนพ้นทุกข์ยาก สร้างสังคมเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เชื่อว่าผลงานในอดีตจะเป็นหลักประกันให้ประชาชนเชื่อมั่นเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ว่าเราคิดได้ ชี้ทางถูก และทำได้จริง
นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย เปิดเผยว่า มีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แล้ว 500-600 คน ต้องคัดสรรให้เลือก 400 คน เพื่อส่งลงครบทุกเขต รวมถึง ส.ส.บัญชีรายชื่ออีก 100 คน และเป็นที่น่ายินดีคือ มี 9 พรรคการเมืองมาร่วมทำงานด้วยกัน ไม่ใช่ยุบรวม แต่เป็น ส.ส.สังกัดพรรคใหญ่และพรรคเล็ก บางคนเป็นหัวหน้าพรรค ให้ความสนใจ สมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อชาติไทย ทั้งนี้ มั่นใจว่าในการเลือกตั้งจะได้ ส.ส.19-30 ที่นั่ง เป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล
วันเดียวกัน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีพรรคร่วมฝ่ายค้านเตรียมยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะนัดประชุมเพื่อหารือประเด็นในวันที่ 10 ต.ค. พรรคร่วมฝ่ายค้านแต่ละพรรคจะนำความเห็นประเด็นมาหารือสรุปร่วมกันเพื่อสอบถามไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า กรอบประเด็นที่จะอภิปรายนั้น แบ่งเป็น 2 ประเด็น 1.ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น อย่างเช่น กรณีเหตุสังหารหมู่ที่ศูนย์เด็กเล็กที่ จ.หนองบัวลำภู ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางแก้ไข และใครรับผิดชอบอะไรบ้าง รวมทั้งเรื่องที่มีผลกระทบกับประเทศชาติ ประชาชน เศรษฐกิจ ความมั่งคง และการเมือง 2.การเสนอแนะปัญหาต่อ ครม. ฝ่ายค้านเห็นว่าเกิดจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล 3 ป. และครม. ที่สร้างปัญหาให้ประชาชนนั้น จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร
ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวอีกว่า ทันทีที่เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญในวันที่ 1 พ.ย. จะพยายามยื่นต่อประธานสภาฯ ทันที แต่สภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มประชุมวันแรกในวันที่ 2 พ.ย. ซึ่งตรงกับวันพุธ ดังนั้นเราจะยึดวันนี้เป็นหลัก ถ้ายื่นเร็วได้จะได้อภิปรายเร็ว
เมื่อวันศุกร์ นายเมธา มาสขาวเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวเปิดเวทีประชาชนแสดงพลัง พอกันที! ยกเลิกระบอบประยุทธ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน ตอนหนึ่งว่า เวทีนี้เป็นประชาชนสำแดงพลัง โดยมี 5 ประเด็นสำคัญคือ 1.พอกันที 8 ปีประยุทธ์ ประชาชนต้องการหยุดรัฐบาลทหารกับการสืบทอดอำนาจ รัฐราชการรวมศูนย์ที่มีกองทัพเป็นผู้นำ 2.ระบอบประชาธิปไตยไทยไหลย้อนกลับไปสู่บรรยากาศเดือนตุลาคม 2516 และการขับไล่ 3 ทรราชในอดีต
นายเมธากล่าวอีกว่า 3.ประชาชนต้องการยกเลิกระบอบประยุทธ์ เพราะพวกเขาออกแบบและใช้รัฐธรรมนูญโดยปราศจากหลักการ รับใช้ตนเอง แต่กีดกันคนอื่น ดังตัวอย่างการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในมาตรา 158 4.ประชาชนไม่พอใจคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ 6 เสียงที่ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 60 เป็นผลพวงต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 จัดทำร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
“คำตัดสินไม่อ้างรายงานการประชุม กรธ.ที่ต้องนับอายุนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญ 60 และไม่อ้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่จำกัดวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไว้ 8 ปี เพื่อไม่ให้ผูกขาดอำนาจทางการเมือง อีกทั้งคำตัดสินไปแย้งกรณี ป.ป.ช. เคยอ้างประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อเนื่อง ไม่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินรอบสอง” นายเมธาระบุ
เลขาธิการ ครป.กล่าวว่า และ 5.ต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน หลังล่าสุดรัฐสภาตีตกร่างแก้รัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ มี ส.ว.เพียง 14 คน ที่ยอมตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ส.ส. จำนวน 333 คน ลงมติเห็นชอบ ตัดอำนาจ ส.ว.ที่ผ่านมาตีตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ไปแล้วทั้งสิ้น 24 ฉบับ รัฐสภาโหวตผ่านร่างเดียว เรื่องแก้ระบบเลือกตั้ง ส.ส. แต่รัฐสภาเคยรับหลักการให้มี ส.ส.ร. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร. ดังนั้นจะปฏิเสธเรื่องนี้ไม่ได้ ที่จะเสนอให้มี ส.ส.ร.รอบใหม่ รวมถึงวิธีการเสนอผ่านกฎหมายการประชามติ พร้อมกันกับการเลือกตั้งทั่วไป ในคำถามให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. น่าจะทำได้เลย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
สั่งประหารชีวิต ‘แอม ไซยาไนด์’ คุกผัวเก่า-ทนาย
ศาลพิพากษาประหารชีวิต "แอม ไซยาไนด์" วางยาฆ่าก้อย พร้อมชดใช้ 2.3 ล้าน