46 ปี 6 ตุลา 2519 คึกคัก กลุ่มราษฎรยึดเป็นเวทีเรียกร้องรัฐบาลยุบสภาโดยเร็ว หากไม่มีการตอบรับ จะบุกพรรคการเมือง ลั่นจะปลุกม็อบต่อเนื่อง "พิธา" โยงทบทวนกฎหมายคดีความมั่นคง และ ม.112 เสนอให้คืนความเป็นธรรมให้คนที่โดนยัดคดีทางการเมืองทั้งหมด อย่างน้อยตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 6 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ งานครบรอบ 46 ปี 6 ตุลา 2519 ประจำปี 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีพิธีวางพวงหรีดและช่อดอกไม้ ณ ประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 โดยผู้แทนองค์กรต่างๆ รวมถึงตัวแทนพรรคการเมือง
ในโอกาสนี้ กลุ่มราษฎร นำโดย น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (มายด์) และ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ไผ่ ดาวดิน) ร่วมกันแถลงการณ์ถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มในอนาคต และมีการโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยระบุว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่ากลไกที่ คสช. สร้างไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภาที่ประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว. จากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ที่กลไกของ คสช.คัดเลือกมาทั้งสิ้น เราราษฎรทั้งหลายจึงไม่อาจเชื่อว่า รัฐบาลและรัฐสภาชุดปัจจุบันจะพาประเทศไปทิศทางใดได้ การคงอยู่ต่อไปมีแต่เพื่อการยึดอำนาจ เพื่อให้ตัวเองและพวกพ้องเสวยสุขต่อไปบนความทุกข์ของประชาชนเท่านั้น
"บัดนี้ เหลือเวลาอีกไม่เกิน 7 เดือนเท่านั้น ก็จะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง ที่ประชาชนจะได้ร่วมกันกำหนดอนาคตทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งเราไม่อาจนอนรอเฉยๆ ให้เวลามาถึงเอง ระหว่างที่พวกเขาครองอำนาจและจะทําอะไรกับประเทศนี้ไปอย่างไรก็ได้” น.ส. ภัสราวลีกล่าว
น.ส.ภัสราวลีกล่าวต่อว่า เราราษฎรทั้งหลายจึงขอเรียกร้องให้ยุบสภาและคืนอำนาจให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุดทันทีโดยจะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 3 ประการดังนี้ 1.ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับกฎหมายเลือกตั้งที่ค้างอยู่โดยเร็วที่สุด โดยกำหนดกรอบเวลาให้ชัดเจน และพิจารณาให้กฎหมายเลือกตั้งได้รีบบังคับใช้โดยเร็วเพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้งที่จะใช้ในอีกไม่เกิน 7 เดือนข้างหน้า 2. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องรีบออกกติกาในรายละเอียดที่มีความชัดเจนว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะทำอะไรได้บ้างหรือไม่ได้บ้าง และ 3.คณะรัฐมนตรี ต้องเร่งรัดให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมความชัดเจนให้เร็วที่สุด และประกาศยุบสภา คืนอํานาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด เพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสและเป็นธรรม
"หากไม่มีการตอบรับ ไม่มีความคืบหน้า เรื่องการดำเนินการคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็ว เราขอประกาศที่จะเดินหน้าเรียกร้องโดยเฉพาะเจาะจงกับพรรคการเมืองทุกพรรค ให้ร่วมกันกดดันไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ประกาศยุบสภา และร่วมกันเรียกร้องไปยัง กกต. ทุกโอกาสให้เตรียมจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสและเป็นธรรมโดยเร็วที่สุด โดยหลังจากนี้กลุ่มราษฎรจะมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด คืนอำนาจสู่ประชาชน โดยเร่งให้เกิดกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ชัดเจนและขอให้รัฐบาลประกาศยุบสภา" น.ส.ภัสราวลี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดเสวนาหัวข้อ “ความหวังที่ยังไม่ตาย วิวัฒนาการอุดมการณ์นักศึกษา” โดยมีตัวแทนนักศึกษาแต่ละยุคสมัยร่วมวงเสวนา นายสุธรรม แสงประทุม อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และอดีต ส.ส.หลายสมัย กล่าวตอนหนึ่งว่า นักศึกษาวันนี้กับเมื่อก่อนไม่ต่างกัน เพราะเขาเป็นผลพวงของสังคมในแต่ละช่วงเวลา ถ้าตนเป็นนักศึกษาในยุคนี้ ตนก็ทำตัวไม่ต่างจากนี้ ประวัติศาสตร์ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น แม้ว่าวันนี้จะค่อยๆเปลี่ยนแปลงเหมือนกับวิ่งมาราธอน ไม่ได้รวดเร็วเหมือนการวิ่งผลัด แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะโลกทุกวันนี้ไม่มีอะไรปิดกั้นได้แล้ว
ด้านนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า 46 ปี เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่เคยคิดว่าจะมีการปราบปรามเข่นฆ่ากันจากความเห็นต่างหรือจะมีการปฏิวัติอีก แต่หลังจากเหตุการณ์เดือน ต.ค. ก็ยังมีเหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งคล้ายเหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งความรุนแรง และการเข่นฆ่าประชาชน แต่ตามหลักฐานทางการแพทย์ พบว่าสภาพศพในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ผู้เสียชีวิตตายจากของแข็ง ซึ่งเกิดจากประชาชนด้วยกันที่ได้รับเฟกนิวส์ปลุกระดม ขณะที่เหตุการณ์พฤษภา 35 เกิดจากทหาร ดังนั้น ต้องนำมาเป็นบทเรียนว่าทำอย่างไรประชาชนต้องไม่ฆ่ากันอีก เห็นต่างกันได้ แต่ต้องไม่ฆ่ากัน แล้วว่ากันตามกติกา รวมถึงต้องไม่มีการยึดอำนาจอีก
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่าแม้เราจะมีการเรียนรู้และเรียกร้อง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นผลที่เกิดขึ้นคือ ความเป็นประชาธิปไตยกลับถอยหลังลงไปอีก และย่ำแย่ ด้วยวงจรที่เราเรียกว่า วงจรอุบาทว์ ของผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจทางกระบอกปืน เข้ามายึดแย่งจากประชาชนไป ที่เป็นผลพวงจาก 8 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นเพียงทำในลักษณะที่เป็นพิธีการเพื่อให้ตัวเองเข้าสู่อำนาจ แม้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ก็ใช้กลไกของการวินิจฉัยของศาลเพื่ออยู่ต่อและสืบทอดอำนาจ ภาพเหล่านี้เป็นภาพลบต่อเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องสิทธิเสรีภาพต่อภาพลักษณ์ของประเทศมาก ฉะนั้น ภาพลบตรงนี้เราต้องเข้าไปดูให้ลึกซึ้งว่าเราจะเข้าไปแก้ได้อย่างไร และตนยังเชื่อมั่นว่า วันที่ 6 ต.ค.2519 เป็นร่องรอยของการต่อสู้ที่จะทำให้ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจประชาธิปไตย ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจอย่างแท้จริงแบบสงบ ใช้สันติวิธีในการต่อสู้
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา คือบทเรียนที่เกี่ยวข้องกับชนชั้นนำไทย ที่มองประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเป็นภัยความมั่นคง โดยใช้สถาบันหลักเป็นเงื่อนไขในการปราบปรามและทำรัฐประหาร ฉะนั้นควรต้องทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคง และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งมีข้อเสนอให้คืนความเป็นธรรมให้คนที่โดนยัดคดีทางการเมืองทั้งหมด อย่างน้อยตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ทอน’ดีดปาก‘แม้ว’ ซัดพูดคลุมเครือไม่มีปม112ตั้งรบ./พิธารับคำท้าพ่อนายกฯ
“ธนาธร” ซัด “ทักษิณ” พูดคลุมเครือ บอกปมตั้งรัฐบาลไม่ได้ไม่เกี่ยวกับ 112
‘สคบ.’สอบอืด คลิปเทวดายื้อ จ่อขยายเวลา!
คกก.สอบคลิปเสียงเทวดา สคบ.จ่อขอขยายเวลาเพิ่ม รอง ผบช.ก.เตรียมบุกเรือนจำ
แจกค่าแรง400รับปีใหม่ ‘อายุ50’ลุ้นได้‘เงินหมื่น’
ซานต้าอิ๊งค์มาแล้ว เตรียมดันค่าแรง 400 บาทเป็นของขวัญปีใหม่
พท.มั่นใจกระแสกวาด200สส.
"พท." ดี๊ด๊า! "ทักษิณ" ปราศรัยอุดรธานีปลุกคะแนนนิยม เชื่อชาวอีสานยังรักเพื่อไทย
นายกฯชี้FTAเปรูจบปี2568
นายกฯ อิ๊งค์ถก "ประธานาธิบดีเปรู" ผลักดันการเจรจา FTA ให้เสร็จภายในปี 68
‘บิ๊กอ้วน’ยืนยัน ผุดJTCเมื่อไหร่ ถกผลประโยชน์
“ภูมิธรรม” บอกพร้อมเรียกถกแบ่งผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาทันที