สธ.แนะติด "โควิด" แยกรักษาตัว 5 วัน หากอาการเล็กน้อยออกนอกบ้านต้องสวมหน้ากาก 2 ชั้น แต่ย้ำไอมาก-น้ำมูกเยอะ ต้องหยุดงานทันที ขณะที่ ATK ไม่ต้องตรวจทุกวัน "อนุทิน" เผยวันที่ 12 ต.ค.นี้ ฉีดวัคซีนโควิดเด็กเล็กที่ รพ.พระนั่งเกล้า
ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมผู้บริหารชุดใหม่นัดแรก ว่าตั้งแต่ 1 ต.ค.-5 ต.ค.65 สถานการณ์โควิดทรงตัว ทั้งผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังคงพบว่ากลุ่มคน 608 ควรต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความรุนแรงของโรค ขณะเดียวกันสำหรับกลุ่มเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปแต่ไม่ถึง 5 ปี ก็ต้องได้รับวัคซีนเช่นกัน ซึ่งจะกำหนดดีเดย์ฉีดวัคซีนในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวติดโควิด-19 แนวทางการรักษาทุกกลุ่มวัย ว่าขณะนี้โรคโควิด-19 มีความรุนแรงลดลง จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตก็ลดลง สำหรับการตรวจ ATK ยืนยันว่าไม่ต้องตรวจทุกวัน แม้จะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ก็ให้ตรวจเมื่อมีอาการ เช่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก ให้พิจารณาอาการของตัวเอง ดังนี้ หากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย เช่น เจ็บคอเล็กน้อย ไม่มีไอ มีน้ำมูก หรือไข้ต่ำๆ อาจไม่ต้องรับประทานยาอะไรเลยคล้ายไข้หวัด หรืออาจรับประทานยารักษาตามอาการ เช่น มีไข้รับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอลดเสมหะ ดื่มน้ำอุ่น พักผ่อนเยอะๆ แล้วสังเกตอาการตนเอง
ส่วนคำถามว่าจะต้องอยู่บ้านตลอดเวลาหรือไม่ แม้จะไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ก็แนะนำควรกักตัวเองหรือแยกตัวเองออก หากมีความจำเป็นต้องออกไปสู่สังคม หรือไปทำงาน ขอให้ยึด DMH 100% คือใส่หน้ากากอนามัย 100% ใส่สองชั้น ล้างมือบ่อยๆ ไม่ควรใกล้ชิดผู้อื่น ทั้งนี้ หากมีอาการไอมาก ไอบ่อย ไอถี่ หรือมีน้ำมูกเยอะๆ ต้องสั่งน้ำมูกออกบ่อยๆ อย่าออกไปทำงาน อย่าเพิ่งเดินทาง เพราะการไอมีโอกาสกระจายเชื้อออกไปได้มาก คนอื่นไปแตะจับก็อาจติดเชื้อได้ ขอให้หยุดงานอย่าเดินทาง 5 วัน
นพ.ธงชัยกล่าวว่า แนวทางการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 หากไม่มีอาการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ไม่ให้ยาต้านไวรัส ปฏิบัติตาม DMH อย่างเคร่งครัด 5 วัน, กรณีมีอาการเล็กน้อย หรือเอกซเรย์ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมที่สำคัญ รักษาแบบผู้ป่วยนอก อาจพิจารณาให้ยาฟ้าทะลายโจร หรือฟาวิพิราเวียร์ ตามดุลยพินิจของแพทย์ ปฏิบัติตาม DMH เคร่งครัด 5 วัน
หากมีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ อาจมีอาการปอดอักเสบเล็กน้อย หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง พิจารณาตามดุลยพินิจแพทย์ในการให้ยาตัวใดตัวหนึ่ง คือ แพกซ์โลวิด, เรมดิซิเวียร์, โมลนูพิราเวียร์ และหากมีปอดอักเสบต้องให้ออกซิเจนหรือออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 94% ให้รักษาแบบผู้ป่วยใน ให้ยาเรมดิซิเวียร์ ส่วนกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีและหญิงตั้งครรภ์ หากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส หากมีปัจจัยเสี่ยงพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือเรมดิซิเวียร์ แต่หากมีปอดอักเสบให้ใช้ยาเรมดิซิเวียร์
นพ.ธงชัยกล่าวว่า สำหรับใบรับรองแพทย์เพื่อหยุดงานหรือเคลมประกัน แพทย์จะออกใบรับรองแพทย์สำหรับ 5 วัน ส่วนกรณีเป็นผู้ป่วยในขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งอาจจะรักษานานกว่า 5 วัน แพทย์ก็จะออกใบรับรองแพทย์ตามระยะเวลาที่รักษา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตั้งกก.สอบผกก.บางซื่อ ทนายปาเกียวเล็งทิ้งตั้ม
“ดีเอสไอ” เตรียมสรุปสำนวนคดี 18 บอสดิไอคอนเสนออัยการคดีพิเศษภายใน 20 ธ.ค.นี้
นิกรหักเพื่อไทย เตือนส่อผิดกม. ให้กมธ.ตีความ
“นิกร” หักข้อเสนอ “ชูศักดิ์” เลยช่วงเวลาแปลงร่างประชามติเป็นกฎหมายการเงินแล้ว
‘สนธิ’ลั่นการเมืองใกล้สุกงอม!
“อุ๊งอิ๊ง” เมินปม กกต.สอบครอบงำต่อ เด็ก พท.ยันเป็นการดำเนินการตามปกติ
จ่อส่งคดีหมอบุญให้DSI
ตร.สอบปากคำอดีตภรรยา-ลูกสาว “หมอบุญ” เพิ่มเติม
ทักษิณรอดคลุมปี๊บ! ส้มเหลวปักธงอุดรธานี ‘คนคอน’ตบหน้า‘ปชป.’
เลือกตั้ง อบจ. 3 จังหวัด “เพชรบุรี-อุดรธานี-นครศรีธรรมราช” ราบรื่น
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป