2ป.ลุยแก้นํ้าท่วม/‘เชียงใหม่’จ่อซํ้ารอยปี54

จ่อวิกฤตจมบาดาลทั้งประเทศ “บิ๊กตู่” ฟิตจัดพร้อมรับศึกน้ำท่วม เล็งเดินสายเยี่ยมชาวบ้านทุกจังหวัด  “ประวิตร” นั่งไม่ติด กางแผนรับมือเปิด 10 ทุ่งรับน้ำ-เบี่ยงน้ำป่าสักเข้าคลองระพีพัฒน์ลงทะเล “ชัชชาติ” ก่ายหน้าผากสัญญาณอันตราย น้ำหนุนพีกสุด 7-10 ต.ค.  กรมชลฯ เตือน 11 จว.ท้ายเขื่อนเฝ้าระวัง เชียงใหม่ระส่ำ! อพยพกันจ้าละหวั่น ชาวบ้านโอดหนักเทียบปี 54

เมื่อวันศุกร์ ที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม  เข้าร่วมประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบผ่านระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอขอบคุณ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมในพื้นที่ที่ประสบภัยอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการทำงานร่วมกันในนามของรัฐบาล ฉะนั้นวันนี้จะเป็นการรับทราบถึงสถานการณ์ต่างๆ ในระยะเวลาต่อไปด้วย รวมถึงการบริหารจัดการ การคาดการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อที่รัฐบาลจะได้เตรียมแผนและเตรียมความพร้อมในเรื่องการดูแลเยียวยา และการสนับสนุนเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ทำงานอย่างสบายใจ  พร้อมกับให้กำลังใจประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ขอบคุณกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รายงานข้อมูลที่เป็นประโยชน์  ขณะเดียวกันขอให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลมาบูรณาการกัน  และเตรียมการไว้ล่วงหน้ารับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ที่มีทั้งมาตรการหลัก มาตรการเสริม และการระบายน้ำ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้คือ อาจจะมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบกับภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ไล่ลงไปที่ภาคใต้ของไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง ผวจ.ขอนแก่นและอุบลราชธานีรายงานสถานการณ์ในพื้นที่เสร็จสิ้นแล้ว  พล.อ.ประยุทธ์กล่าวทันทีว่า วันที่ 4 ต.ค.ตนจะลงพื้นที่ จ.ขอนแก่นและอุบลราชธานี เพื่อไปเยี่ยมและให้กำลังใจ

“ไม่ต้องมีป้าย ไม่ต้องเอาคนมาถือป้าย ไม่เอา เข้าใจใช่ไหม เพราะผมจะไปทำงาน และไม่สร้างภาระให้ใครทั้งสิ้น ไม่ต้องเรื่องมากกับผม เพราะผมสมบูรณ์แข็งแรง ดูแลตัวเองได้ ขอให้ไปดูแลประชาชนที่เดือดร้อนดีกว่า ผมไม่เป็นภาระกับใคร” นายกรัฐมนตรีระบุ

นายกฯ กล่าวภายหลังการรับฟังรายงานจาก น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ว่า ในส่วนของ กทม.ตนได้ติดตามสถานการณ์มาตลอด ขณะเดียวกันมีความเป็นห่วงเรื่องปริมาณน้ำ ทั้งปริมาณน้ำสะสมและเรื่องน้ำที่จะต้องระบายออก ทั้งนี้เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หากมีอะไรก็ขอให้แต่ละหน่วยงานประสานงานกัน อย่าขัดแย้งกัน ต้องรับผิดชอบด้วยกันทั้งหมด จะดีก็ดีด้วยกัน  ไม่ดีก็ไม่ดีด้วยกัน

จากนั้นในช่วงท้ายการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้มอบนโยบายว่า ปัญหาวันนี้ที่มีอยู่คือ การดูแลว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสถานการณ์คาดการณ์ หลักการคือการพร่องน้ำ ระบายน้ำ กักเก็บน้ำในพื้นที่ และที่สำคัญต้องไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ถ้าไม่จำเป็นเราไม่ทำให้ใครเดือดร้อนอยู่แล้ว ซึ่งในสมัยก่อนลุ่มเจ้าพระยาถือเป็นบทเรียนของเรา สิ่งสำคัญคือการเน้นการระบายน้ำในตะวันตกและตะวันออกให้เกิดความสมดุล ตั้งแต่ภาคเหนือตอนบน ตอนกลาง ตอนล่าง มีแม่น้ำลำคลองเยอะ ตอนนี้ล้นตลิ่งเกือบทุกคลอง และในอนาคตอาจจะต้องมีการวางแผนเพิ่มเติม

 “ขอเน้นย้ำเรื่องการดูแลเขื่อน อ่างเก็บน้ำ ทำนบกั้นน้ำ ซึ่งทุกคนยืนยันว่ายังปลอดภัยใช่หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาเคยมีปัญหารูรั่วนิดเดียวแล้วแก้ไขไม่ทัน เกิดพังทลาย  ดังนั้นตรงนี้ต้องเตรียมด้วย ในส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ต้องเข้าไปดูแลให้เกิดความแข็งแรงตามแผนการป้องกัน ส่วนการสร้างอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อน ประชาชนในพื้นที่ต้องร่วมมือกันด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมเรื่องศูนย์อพยพ จะต้องทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ต้องมีอาหารและน้ำสำหรับคนและสัตว์ ทั้งนี้ตนดูข่าวจากโทรทัศน์ พบว่าบางพื้นที่น้ำท่วมครึ่งเอว แต่ประชาชนยังไม่ออกมา แต่ก็โทษเขาไม่ได้เพราะบางทีเขาห่วงสมบัติ  การขนย้ายสิ่งของมีความลำบาก อย่างไรก็ตามก็ต้องให้กำลังใจ ผวจ.และนายอำเภอ ซึ่งพวกท่านเป็นผู้บังคับบัญชาระดับล่าง และถือเป็นระดับที่ใกล้ชิดกับประชาชน  ทั้งนี้ตนก็จะเดินทางไปดูแลช่วยเหลือและเยียวยาต่างๆ ให้มากที่สุดในส่วนของรัฐบาล ขณะที่ท้องถิ่น อบต., อบจ.  คนในพื้นที่ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ทุกคนคือคนไทย เราต้องช่วยกันดูแล

 “ผมเองก็ไม่รู้จะสั่งอะไร เพราะทั้งหมดอยู่ในแผนปฏิบัติของเราอยู่แล้ว นายกฯ แค่มาย้ำหน่อย ให้กำลังใจ  ฝากถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ประชาชนทุกจังหวัด ผมทำหน้าที่ของผม หน้าที่ของรัฐบาล หน้าที่ของข้าราชการที่ดีของพวกเราทุกคน ขอบคุณทุกคน และขอให้ทุกคนปลอดภัย ผมพยายามจะทยอยไปเยี่ยม ไม่ทิ้งใคร เพราะพวกเราคือคนไทยด้วยกันทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว             

เปิด 10 ทุ่งรับน้ำสกัดเข้ากรุง

วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชัยนาทและพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างหลังเพิ่มปริมาณการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา โดย พล.อ.ประวิตรรับฟังสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างจากศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ภาพรวมปริมาณน้ำปี 65 มากกว่าปี 64 โดยใกล้เคียงกับปี 54 อันเกิดจากมรสุมและพายุที่พาดผ่านไทยหลายลูก ปริมาณน้ำยม น่าน และปิงรับน้ำมากขึ้น ส่งผลต่อการบริหารการระบายน้ำเจ้าพระยา โดยศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า จ.ชัยนาท ได้พิจารณาให้ความสำคัญควบคุมความสมดุลไม่ให้กระทบพื้นที่อุทกภัยวงกว้าง

พล.อ.ประวิตรได้สั่งการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จังหวัด กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกันทำตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน โดยขอให้พิจารณาเร่งเบี่ยงน้ำจากแม่น้ำป่าสักเข้าคลองระพีพัฒน์ออกทะเลโดยตรง รวมทั้งขอให้หน่วงน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลงทุ่งรับน้ำในพื้นที่ จ.นครสวรรค์  และให้ผันน้ำเข้าทุ่งรับน้ำ 10 ทุ่งที่จัดเตรียมไว้ เพื่อลดปริมาณน้ำลงพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง และขอให้เร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ชุมชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้ สทนช.เร่งขับเคลื่อนแผนป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งไปในคราวเดียวกัน พร้อมกำชับให้กรมชลประทานเร่งก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทรให้เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ จ.พระนครศรีอยุธยาให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว

 ที่อาคารสมาคมประกันวินาศภัยไทย นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณีระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นว่า ที่สถานีบางไทร  จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีน้ำถึง 3,409 ลบ.ม./วินาที ซึ่งมีความจุสูงสุดที่ 3,500 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้น  จึงเป็นที่กังวลว่าอาจจะมีน้ำเกินความจุหรือไม่ ทั้งนี้จากการรายงาน เมื่อเช้าน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 20 ซม.ซึ่งเป็นระดับที่มากกว่าปกติ แต่ยังอยู่ในสภาวะที่รับมือได้  เพราะจากการตรวจสอบยังมีพื้นที่รับน้ำเหลืออีกประมาณ  1 เมตร ทั้งนี้ได้สั่งการให้เฝ้าระวังทุกจุด สถานการณ์ขณะนี้ต้องเฝ้าระวัง กทม.กำลังอยู่ในจุดเปราะบางที่สุดคือเรื่องน้ำเหนือไหลลงมา ประกอบกับมีน้ำทะเลหนุนเพิ่มเติม จากการคาดการณ์น่าจะสูงสุดในช่วง 7-10 ต.ค.นี้

ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)  กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยในช่วงวันที่ 28 ก.ย. - 3 ต.ค.65 เกิดสถานการณ์ภัยในพื้นที่  25 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน  ลำปาง สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร ตาก อุตรดิตถ์ น่าน แพร่ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี ขอนแก่น  นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ มุกดาหาร สระบุรี สระแก้ว  ปราจีนบุรี และพังงา รวม 96 อำเภอ 225 ตำบล 651  หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,348 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 2 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 16 จังหวัด 69 อำเภอ 176  ตำบล 565 หมู่บ้าน

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้เข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ โดยเร่งเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ ระดับแม่น้ำปิงเริ่มเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนบริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำ รวมถึงบริเวณถนนช้างคลาน ถนนเจริญประเทศ หมู่บ้านป่าพร้าวนอก หมู่บ้านเวียงทอง กรมชลประทานได้เปิดประตูระบายน้ำป่าแดด ประตูระบายน้ำดอยน้อย ประตูระบายน้ำวังปาน และประตูระบายน้ำแม่สอย พ้นน้ำทุกบาน เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมืองเชียงใหม่โดยเร็ว

นายประพิศกล่าวว่า ด้านสถานการณ์น้ำในลำน้ำชี-มูล อาทิที่จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่  อ.เมืองขอนแก่น อ.ชุมแพ และ อ.ภูผาม่าน กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำชี โดยการยกบานระบายน้ำที่เขื่อนชนบทและเขื่อนมหาสารคามขึ้นทุกบาน  รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมประจำจุดเสี่ยงอีกจำนวน  6 จุด พร้อมเดินเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ประตูระบายน้ำ  D8 (ห้วยพระคือ) จำนวน 22 เครื่อง ที่ประตูระบายน้ำห้วยใหญ่ จำนวน 6 เครื่อง และที่ประตูระบายน้ำคลองระบาย D.9 อีกจำนวน 2 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น

 “กรมชลประทานได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมเข้าติดตั้งเครื่องสูบน้ำในเขตพื้นที่โครงการที่รับผิดชอบ” นายประพิศระบุ  เชียงใหม่วุ่นวิกฤตเทียบปี 54

ที่ จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานเร่งระดมช่วยเหลือชาวบ้านและเฝ้าระวังน้ำหนุนจากลำน้ำปิงอย่างต่อเนื่อง โดยเทศบาลนครเชียงใหม่และหน่วยงานต่างๆ ได้แจ้งเป็นระยะๆ ให้ประชาชนรีบขนย้ายสิ่งของไว้ที่สูง ซึ่งน้ำเริ่มหนุนสูงและล้นตลิ่งท่วมจุดที่ต่ำผ่านแนวรับแรกที่  3.70 เมตรเมื่อช่วงค่ำวานนี้ และเพิ่มตลอดคืนถึงเช้านี้ โดยสำนักชลประทานที่ 1 เชียงใหม่เปิดวอร์รูมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

ล่าสุด สถานการณ์น้ำในแม่น้ำปิง เวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา สำนักชลประทานที่ 1 แจ้งว่าที่สถานีตรวจวัดจุด  P.67 (แม่น้ำปิง ที่บ้านแม่แต อ.สันทราย) ระดับน้ำ  3.80 เมตร (เท่าระดับวิกฤต) ปริมาณน้ำไหล  492.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สถานี P.1 (แม่น้ำปิง ที่สะพานนวรัฐ ตัวเมืองเชียงใหม่) ระดับน้ำ 4.52 เมตร (สูงกว่าระดับวิกฤต 0.82 เมตร) ปริมาณน้ำ 718.50 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น  ทั้งพบว่า ปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากมีการไหลลงมาจากลุ่มน้ำแม่แตงและลุ่มน้ำปิงตอนบน

ด้านนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ได้สั่งกำชับทุกพื้นที่เร่งดูแลช่วยเหลือประชาชนพร้อมติดตามสถานการณ์ ให้สำนักงานชลประทานที่ 1 ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด  และรายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อแจ้งเตือนและช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยพื้นที่เขตเมืองที่เป็นจุดเสี่ยง ขณะนี้ชาวบ้านไม่ต่ำกว่าพันครัวเรือนได้รับผลกระทบแล้ว จากน้ำปิงที่เอ่อล้นและดันเข้าตามท่อระบายน้ำ แม้จะมีแนวกระสอบทรายเสริมรับมือไว้ระดับหนึ่ง

"ทั้งนี้ยังรวมถึงพื้นที่ทางตอนเหนืออำเภอเชียงดาว  แม่แตง แม่ริม แม่อาย ฝาง สันทราย ดอยสะเก็ด ที่ยังมีฝนตกสะสมตลอดเวลา อาจมีความเสี่ยงเรื่องดินสไลด์น้ำหลาก บางจุดมีเหตุดินสไลด์แล้ว ส่วนทางอำเภอตอนใต้ที่มีปริมาณน้ำท่วมสะสมทั่วบริเวณมาก่อนหน้านี้ก็จะมีมวลน้ำเพิ่มขึ้นอีก ภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ใกล้เคียงกับปี 2554 ที่ระดับน้ำปิงหนุนสูงเกือบ 5 เมตร ครั้งนี้หลายฝ่ายก็คาดการณ์ว่าอาจจะใกล้เคียงกัน เนื่องจากมวลน้ำทางตอนเหนือยังไหลลงมาอย่างต่อเนื่อง" นายนิรัตน์ ระบุ

ด้านเทศบาลนครเชียงใหม่จัดรถหน่วยบริการเคลื่อนที่ แจ้งประชาสัมพันธ์เตือนพี่น้องประชาชนที่อยู่พื้นที่ลุ่มและเป็นจุดเสี่ยงตามลำดับให้รีบยกและย้ายข้าวของไว้ในที่ปลอดภัยเป็นระยะๆ บางจุดต้องอพยพเพราะระดับน้ำที่ล้นเข้ามาสูงเกิน 1 เมตร โรงเรียนและหน่วยงานหลายแห่งต้องหยุดชั่วคราว โดยเฉพาะที่อยู่ติดกับริมน้ำปิง เช่นถนนช้างคลาน ถนนเจริญประเทศ หนองหอย ป่าพร้าวนอก แม้บางจุดชาวบ้านจะช่วยกันสร้างแนวกระสอบทรายเอาไว้  แต่มีน้ำหนุนดันเข้ามาทางท่อระบายน้ำ จึงทำให้เกิดน้ำท่วมขยายเป็นพื้นที่กว้างทุกขณะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดน้ำได้ขยายวงกว้างเข้าท่วมในเขตตัวเมืองถนนช้างคลาน ย่านหมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญตอนในเหมือนตอนอุทกภัยปี 2554 แล้ว หลังจากน้ำปิงเริ่มล้นทะลักเข้ามา เจ้าหน้าที่ทุกส่วนร่วมกันดูแลชาวบ้านที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด มีการประกาศเตือนเป็นระยะๆ พร้อมแจกจ่ายข้าว อาหาร น้ำดื่ม สิ่งของจำเป็น บางจุดห้ามสัญจรเพราะน้ำสูงเกินเมตรเป็นอันตราย โดยพบว่าน้ำได้เข้าท่วมพื้นที่ 7 โซนเขตเมืองที่เฝ้าระวังแล้วทั้งสองฝั่งลำน้ำปิง อย่างไรก็ตามแม้จะมีการระดมวางแนวเสริมกระสอบทรายปิดกั้นทางน้ำข้ามเข้าตามแนวตลิ่ง แต่หลายจุดพบว่าน้ำดันเข้าทางท่อระบายเข้ามา ทำให้น้ำขยายวงท่วมจุดเสี่ยงทันที และที่ จ.สุโขทัย สถานการณ์น้ำเข้าสู่วิกฤต หลังแม่น้ำยมมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จนเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนประชาชน โดยเฉพาะที่หมู่ 1 ต.ปากแคว อ.เมืองสุโขทัย ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำยมและมีตลิ่งถูกกระแสน้ำกัดเซาะพังเป็นแนวยาว 40 เมตร ทำให้มวลน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประมาณ 140 หลังคาเรือน ตั้งแต่ช่วงกลางดึกคืนที่ผ่านมา ระดับน้ำก็ท่วมสูงกว่า 1 เมตรจนมิดสุ่มไก่ ทำให้ไก่ชนที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้จมน้ำตายประมาณ  100-300 ตัว และปลาในบ่อก็ไหลไปกับน้ำ ถนนสัญจรริมแม่น้ำถูกกัดเซาะจนพังใช้การไม่ได้ ตอนนี้บางครอบครัวจึงต้องย้ายหนีไปนอนในเต็นท์บนถนนแทน

ที่ จ.อ่างทอง ที่บริเวณริมถนน 309 อ่างทอง-อยุธยา หมู่ที่ 6 ตำบลบางปลากด อำเภอป่าโมก ชาวบ้านจำนวนมากในชุมชนที่ถูกน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือน ได้ออกมารวมตัวกันกดดันเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยน้ำบางส่วนที่เอ่อล้นข้ามถนนไปยังฝั่งตำบลโรงช้างบ้าง ไม่ให้วางคันดินปิดตลอดแนวน้ำท่วม เนื่องจากในชุมชนน้ำท่วมสูงและอยู่อาศัยลำบาก โดยมีเจ้าหน้าที่แขวงทางหลวงมาช่วยเจรจาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยเจ้าหน้าที่ได้ปล่อยให้น้ำไหลข้ามถนนไปยังฝั่งตำบลโรงช้างบางส่วน ชาวบ้านพอใจจึงแยกย้ายกันเดินทางกลับ

ที่ จ.บุรีรัมย์ ได้เกิดเหตุระทึกน้ำป่าไหลบ่าฝ่ากลางหมู่บ้านปลื้มพัฒนา ตำบลโคกมะม่วง อำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้น้ำทะลักท่วมบ้านเรือนร้านค้าอย่างรวดเร็วแบบไม่ทันตั้งตัวเกือบ  50 หลัง จนไม่สามารถขนย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าและสิ่งของขึ้นที่สูงได้ทันจมน้ำเสียหาย ทั้งนี้กระแสน้ำป่าที่ไหลเชี่ยวยังได้พัดเอาข้าวของตามบ้านเรือนร้านค้ากระจายเกลื่อนหายไปกับกระแสน้ำ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ

เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน

‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’

ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล