“พล.อ.ประยุทธ์” ได้ไปต่อ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 : 3 ระบุวาระการดำรงตำแหน่งยังไม่ครบ 8 ปี ให้นับหนึ่งตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน 2560 พร้อมอบรมฝ่ายค้านนำเรื่องยุบพรรคมาอ้างลงโทษย้อนหลัง ระบุกรณีดังกล่าวทำผิดกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องการนั่งเก้าอี้ ชี้บันทึก กรธ.ไม่ชัดแจ้งเพราะทำย้อนหลังประกาศใช้ไป 1 ปี 5 เดือน “บิ๊กตู่” โพสต์ทันควัน พร้อมลุยกลยุทธ์ 3 แกน เดินหน้าประเทศที่มาถูกทาง การเมืองจะให้คนอื่นจัดการ “ปชป.” เล็งหารือปรับ ครม.
เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กันยายน ทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในการประชุมเพื่อพิจารณาวินิจฉัยและปรึกษาหารือก่อนลงมติ กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์นั้น ได้ทำบุญตักบาตรตามปกติที่บ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1 ทม.รอ.) เหมือนเช่นทุกวัน ก่อนที่เวลา 09.42 น. จะเดินทางเข้ากระทรวงกลาโหมเพื่อปฏิบัติภารกิจ ซึ่งช่วงเช้าบรรดารัฐมนตรีและบรรดานักการเมือง ได้ส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์ให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ โดย พล.อ.ประยุทธ์ตอบกลับเพียงสั้นๆ ว่า “ขอบคุณครับ” และในเวลา 11.49 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้เดินทางออกจากศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมกลับไปยังบ้านพัก
ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ รักษาราชการแทนนายกฯ เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล และให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า ล่าสุดยังไม่ได้คุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ให้กำลังใจทุกวัน
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าก่อนศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย เพจลุงตู่ตูนได้โพสต์ผลงาน 8 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในเรื่องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมถึง 2 ครั้ง เช่นเดียวกับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี (PMOC) ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอ ผ่านทาง YouTube และ Facebook ความยาว 2 นาที 18 วินาที เดินหน้าประเทศผ่าน 3 แกนหลักอนาคตขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ในเวลา 14.20 น. พล.ต.วิระ โรจนวาศ ที่ปรึกษา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะฝ่ายกฎหมายผู้รับผิดชอบจัดทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เดินทางเข้าร่วมฟังคำวินิจฉัย โดยระบุว่า สภาพจิตใจของนายกฯ ไม่มีอะไร ปกติ ไม่พูดหรือฝากอะไรเป็นพิเศษ แต่ส่วนตัวมั่นใจในพยานหลักฐานและเอกสารทุกอย่างที่ชี้แจง ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ทราบ แล้วแต่ดุลยพินิจของศาล คิดว่าทำให้ดีที่สุด
ในเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 กำหนดวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ คือการได้มาซึ่งนายกฯ ตามมาตรา 159 และการได้มาซึ่งบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 272 โดยการได้มาซึ่งนายกฯ ตามมาตรา 159 มีหลักการสำคัญว่าให้พิจารณาบุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งนายกฯ จากที่พรรคการเมืองได้แจ้งชื่อไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนวันเลือกตั้ง โดยจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญตามที่ได้มาซึ่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อผู้ถูกร้องได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 159 ประกอบมาตรา 272 แต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2562 ผู้ถูกร้องจึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 โดยบริบูรณ์และเป็นไปตามการบังคับใช้กฎหมายและความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย
แจงเรื่องโปรดเกล้าฯ 2557
ส่วนกรณีผู้ถูกร้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2557 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำเห็นได้ว่า ผู้ถูกร้องไม่ใช่นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งต้องมีที่มาตามมาตรา 158 วรรคสอง กล่าวคือได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความตามมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับกับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยอนุโลม ดังนั้นจึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า จะถือว่า ครม.ซึ่งมีผู้ถูกร้องเป็นนายกฯ บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมาย 2 ประการ ประการแรก เพื่อให้บทบัญญัติที่ยืนยันถึงหลักความต่อเนื่องของ ครม. คือแม้ ครม.ซึ่งมีผู้ถูกร้องเป็นนายกฯ จะเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นอยู่ก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 แล้ว ต้องถือว่า ครม. ซึ่งแม้จะเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีโดยรัฐธรรมนูญฉบับอื่นก็ตาม ย่อมเป็น ครม.ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้นไป ตามบทเฉพาะการมาตรา 264
ประการที่ 2 เพื่อนำกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญที่ประกาศบังคับใช้ใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาบังคับใช้แก่ ครม.ที่มีอยู่ก่อนวันรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดิน ก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ประกาศขึ้นมาใหม่ทุกประการทันที เว้นแต่ในบทเฉพาะการจะมีข้อยกเว้นว่ามิให้นำเรื่องใดมาใช้บังคับแก่ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังปรากฏในมาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยกเว้นไว้ในบางเรื่องเท่านั้น ดังนั้นหากมิได้ประกาศยกเว้นบทบัญญัติเรื่องใดไว้ ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งความมุ่งหมายของมาตรา 264 จึงเป็นไปตามหลักทั่วไปของการใช้บังคับกฎหมาย คือกฎหมายย่อมมีผลบังคับใช้นับจากวันประกาศใช้ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 ย่อมมีความหมายว่าทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับตามบทเฉพาะการทั่วไป เว้นแต่ในบทเฉพาะการมีการบัญญัติให้เรื่องใดยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นไม่ว่ากรณีใดเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ใช้บังคับ ทุกอย่างจึงต้องเริ่มนับทันที
กรณีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ในเรื่องระยะเวลา 8 ปี จึงต้องเริ่มนับทันทีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยได้ว่าผู้ถูกร้องซึ่งเป็นนายกฯ ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญปี 2560
ศาลเชือดนิ่มเรื่องย้อนหลัง
ข้อกล่าวอ้างที่ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 3-5/2550 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 24/2564 เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคการเมืองและการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิใช่โทษทางอาญาสามารถกระทำได้ เช่นเดียวกับกรณีตามคำร้องในคดีนี้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคและเป็นผลให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและเป็นกรณีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และทั้งสองกรณีดังกล่าวมีบทบัญญัติของกฎหมายที่เขียนไว้โดยชัดเจนว่าให้มีผลย้อนหลังได้ เพราะเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหรือขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่แรก แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้บังคับ มิได้บัญญัติกรณีการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้มีผลย้อนหลังได้ คำวินิจฉัยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นคนละกรณีกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้
ส่วนข้ออ้างผู้ร้องที่ว่าบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 ก.ย.2561 ระบุเจตนารมณ์การจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับการประชุมดังกล่าวประธาน กรธ.และรองประธาน กรธ.คนที่ 1 ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับนั้น เห็นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของ กรธ.และการจัดทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆ ว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร และเป็นการพิจารณาภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน ประกอบกับความเห็นของประธาน กรธ.และรองประธาน กรธ.คนที่ 1 มิได้นำไประบุไว้เป็นความมุ่งหมายหรือคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 นอกจากนี้ ตามบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมของ กรธ.ที่พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ปรากฏประเด็นในการพิจารณาหรืออภิปรายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ว่าสามารถนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับด้วย การกำหนดเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ จึงมีความหมายเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2560
ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับในวันที่ 6 เม.ย.2560 และผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของผู้ถูกร้องจึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกฯ ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 158 วรรคสี่ ทั้งนี้ การให้ ครม.ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็น ครม.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง
ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค.2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่
เปิดชื่อตุลาการลงมติ
มีรายงานว่า ตุลาการ 6 เสียงข้างมาก ที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่สิ้นสุดลง ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์ ส่วนตุลาการ 3 เสียงข้างน้อยคือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายนภดล เทพพิทักษ์
พล.ต.วิระให้สัมภาษณ์ภายหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย ว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็จะกลับมามีสถานะเป็นนายกฯ ทันที ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสิ้นสุด โดยได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้ติดตามผ่านทางโทรทัศน์ และทราบผลมติดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับฝากขอบคุณทีมงานที่ช่วยกันต่อสู้คดีอย่างดีที่สุด
ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในวันจันทร์ที่ 3 ต.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาลทันที โดยในเวลา 13.30 น. นายอาร์มัน อิสเซตอฟ เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐคาซัคสถานประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ และในเวลา 14.30 น. น.ส.แอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ที่ตึกไทยคู่ฟ้าเช่นเดียวกัน
เวลา 15.45 น. พล.อ.ประยุทธ์โพสต์เฟซบุ๊ก “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut-chan-o-cha” ระบุว่า ขอแสดงความเคารพอย่างสูง ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคน สำหรับกำลังใจและความปรารถนาดีที่มอบให้มาโดยตลอด โดยตลอดเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสให้ได้พิจารณาและตระหนักมากขึ้นว่าต้องใช้เวลาอันมีค่าที่มีอยู่อย่างจำกัดของรัฐบาล ในการติดตามและผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ มากมาย ที่ได้ริเริ่มเอาไว้ ให้เดินหน้าและเสร็จสมบูรณ์ สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับบ้านเมือง และสร้างอนาคตให้กับลูกหลานของเรา
ปชป.เตรียมถกปรับ ครม.
“ผมจะใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด และใช้ศักยภาพของผมอย่างเต็มที่ มุ่งมั่นในภารกิจการพลิกโฉมประเทศ ตามกลยุทธ์ 3 แกนที่ได้เคยกล่าวไว้ ให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด สำหรับเรื่องการเมือง และประเด็นต่างๆ รายวันนั้น จะมอบให้เป็นหน้าที่ของท่านอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชี้แจงทำความเข้าใจต่อไป”พล.อ.ประยุทธ์โพสต์ และทิ้งท้ายว่า วันนี้ เราเดินหน้ามาไกลและถูกทิศทางแล้วครับ เราต้องช่วยกันทำให้เสร็จครับ
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กร โดยเนื้อหาคำพิพากษาวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ เฉพาะตัวจะสิ้นสุดประมาณปี 2568 หมายความว่า ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทางการเมืองเกิดขึ้น วาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ในสภาชุดนี้ก็จะไปได้ถึงเดือน มี.ค.2566 ซึ่งมีเวลาอีกประมาณ 5-6 เดือนถัดจากนี้ไป ยกเว้นเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
เมื่อถามว่า วาระที่เหลืออยู่ คาดว่าในส่วนของ ปชป.จะมีการปรับ ครม.หรือไม่ นายจุรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้นายนิพนธ์ บุญญามณี ได้ลาออกจาก รมช. มหาดไทย ส่วนคนที่จะมาแทนหรือว่าจะมีการปรับอย่างไรต่อไปคงเป็นเรื่องที่ต้องหารือกับนายกฯ ก่อน
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงแถลงการณ์ของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มองว่าคำวินิจฉัยตีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกว่า ฝ่ายค้านต้องระมัดระวังการเคลื่อนไหวที่แสดงออกถึงการไม่ยอมรับอำนาจตุลาการ เหมือนเอาอคติเป็นที่ตั้ง ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยไปตามข้อกฎหมายตามที่ฝ่ายค้านยื่นร้องตีความทุกประการ
“น่าสังเกตว่าฝ่ายค้านอาจจะทราบถึงข้อกฎหมายดีอยู่แล้วว่า วาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ครบวาระตามรัฐธรรมนูญ 2560 เพียงแต่อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อหวังสร้างเงื่อนไขทางการเมือง โหนกระแสคำวินิจฉัย และคำแถลงการณ์ยังส่อเจตนาให้เห็นว่าไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม และหากเป็นเช่นนั้นก็ต้องขอให้สังคมรู้เท่าทันเล่ห์การเมืองตรงนี้ด้วย" น.ส.ทิพานันกล่าว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ไม่ว่าท่านใดจะเป็นนายกฯ ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร กทม.ก็ทำงานได้หมด ไม่ได้มีปัญหาอะไร รัฐบาลก็อยู่ส่วนหนึ่ง ท้องถิ่นก็ทำงานได้กับทุกคน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ