ฝ่ายค้านฝ่ายแค้น ดิ้นไม่ยอมจบ

งอแงกันทั่วหน้า “ม็อบราษฎร” ไม่ยอมรับจาบจ้างหนัก พร้อมปลุกใส่ชุดดำ 1 สัปดาห์พนร้อมนัดชุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 1 ต.ค. ส่วน “ม็อบจตุพร” แถลงท่าที 2 ต.ค. พรรค “เพื่อไทย-ก้าวไกล” พร้อมใจออกแถลงการณ์พรรค ก่อนออกรวมในฐานะฝ่ายค้าน อัดคำวินิจฉัยทำให้สิ้นหวังกลายเป็นคู่ขัดแย้ง อ้างประชาชนเตรียมทบทวนอำนาจศาลที่ผูกพันทุกองค์กร “ชลน่าน” ทำนาย 90% ยุบสภาหลังเอเปก

เมื่อวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. บรรยากาศโดยรอบสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญในช่วงเช้าเป็นไปอย่างเข้มงวด โดยมีการกั้นรั้วเหล็ก พร้อมวางกำลังตำรวจกว่า 300 นายรอบศาล โดย พล.ต.ต.อรรถพล อนุสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 (ผบก.น.2) พร้อมตำรวจกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด หรืออีโอดี ร่วมกับตำรวจ บก.น.2 และตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง เข้าตรวจสอบความเรียบร้อยรอบบริเวณศาล ก่อนการวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญแถลงคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี เพราะให้นับวาระการดำรงตำแหน่งในวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560  ประชาชนที่ร่วมรอฟังคำวินิจฉัยประมาณ 5-10 คน ซึ่งมีผู้หญิงท่านหนึ่งตะโกนพร้อมโบกธงบริเวณหน้าอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) และหลังจากฟังคำวินิจฉัยจบก็แยกย้ายทันที โดยคาดว่าจะไปร่วมชุมนุมสกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน

ด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวหลังรับทราบผลคำวินิจฉัยว่า ขอให้มั่นใจใน พล.อ.ประยุทธ์ว่าท่านตั้งใจช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ และขอร้องกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในขณะนี้ว่าขอให้เห็นใจประชาชนที่ประสบอุทกภัย ขอให้รัฐบาลได้ทำงานเต็มที่ ในการรับมือน้ำท่วมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจะดีกว่า การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ในขณะที่กฎหมายเลือกตั้งยังไม่เสร็จ

นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า ขอขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยชี้ชัดให้หลายคนหายสงสัย โดยจากนี้ท่านนายกฯ จะใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการเร่งติดตามนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่ท่านนายกฯ ได้ริเริ่มเอาไว้เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนและประเทศชาติ โดยไม่สนว่าใครจะจ้องเล่นเกมการเมืองเพื่อดิสเครดิตรายวัน และจากนี้ไป ท่านนายกฯ จะสามารถพลิกโฉมประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้าได้ไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่นอน

สำหรับบรรยายกาศที่สกายวอล์ก ที่กลุ่มราษฎรและเครือข่าย นำโดยนายธัชพงษ์ แกดำ, นายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์ และนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง นัดมวลชนทำกิจกรรมรับฟังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระ 8  ปี มีการฉายโปรเจ็กเตอร์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 40 คน ดูการถ่ายทอดสดไปพร้อมกันกับคนทั้งประเทศ

โดยก่อนอ่านคำวินิจฉัย นายธัชพงษ์ระบุว่า ถ้าผลออกมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อ พรุ่งนี้มีเซอร์ไพรส์แน่เป็นการชุมนุมที่ใดที่หนึ่ง แต่ขอรอฟังผลก่อน

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยมีมติ 6 ต่อ 3 ให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อ มวลชนที่มารวมตัวกันแสดงความไม่พอใจตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ก่อนออกแถลงการณ์ในหัวข้อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอุ้มนายกฯ เถื่อน ว่าคำวินิจฉัยอันชั่วร้ายของศาลธรรมนูญในการต่ออายุให้แก่รัฐบาลทรราชนี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกยอมรับ เนื่องด้วยสถานะความเป็นนายกฯ ย่อมขาดสิ้นลงแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2565 ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2560 และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการไม่ยอมรับสถานะนายกฯ ขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทยสวมชุดดำทั้งแผ่นดินเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์’ ตั้งแต่วันที่ 1-7 ต.ค. เพื่อไว้อาลัยให้แก่ระบอบการเมืองและอนาคตของสังคมไทยภายใต้การบริหารของนายกฯ เถื่อน

ต่อมานายธัชพงษ์ระบุว่า การชุมนุมคือทางออกสุดท้ายของประชาชน หวังศาลกระบวนการยุติธรรม หวังสภาไม่ได้แล้ว ความหวังเดียวคือการลงถนนของประชาชน 1 ต.ค. เจอกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ส่วนที่แยกราชประสงค์ คณะหลอมรวมประชาชน นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายนิติธร ล้ำเหลือ จัดเวทีปราศรัยย่อย โดยนายจตุพรปราศรัยตอนหนึ่งว่า เป็นช่วงเวลาต่ำทรามที่สุดของประเทศ แต่ต้องขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญที่ท่านเมตตาส่ง พล.อ.ประยุทธ์ มาให้ประชาชนจัดการ วันที่ 2 ต.ค. เวลา 13.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ต.ค. แยกคอกวัว คณะหลอมรวมฯ จะประชุมเพื่อแถลงมาตรการต่อไป

ขณะที่พรรคร่วมฝ่ายค้านออกแถลงการณ์เรื่อง ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา อ่านแถลงการณ์ โดยไล่เรียงการนับการดำรงตำแหน่งวาระ 8 ปีตามความเข้าใจของพรรคฝ่ายค้าน ก่อนระบุว่า การวินิจฉัยของศาลเป็นการตีความที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนเข้าใจเป็นอย่างดี เพราะจะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถดำรงตำแหน่งได้รวม 10 ปี อันผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560

นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย อ่านแถลงการณ์ตอนหนึ่งว่า  ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่การวินิจฉัยที่ส่อว่าขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง ย่อมเป็นการทำลายคุณค่าความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และอาจนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งที่ใหญ่หลวงในสังคม เกิดการไม่ยอมรับในผลของคำวินิจฉัยได้

นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) อ่านแถลงการณ์เช่นกันว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรปฏิรูปกระบวนการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ ให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม เพื่อมิให้มีการอาศัยผลของคำวินิจฉัยที่ผูกพันทุกองค์กร ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมและไม่คำนึงถึงบรรทัดฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องได้

เมื่อถามว่าหลังจากนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านจะดำเนินการอย่างไรต่อไป นพ.ชลน่านกล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป สามารถทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้นั้น บทบาทของพรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลต่อไป โดยเมื่อเปิดสมัยการประชุมเราจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลการบริหารราชการแผ่นดินให้เข้มข้นอย่างที่สุด รวมทั้งจะเสนอญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 โดยจะยื่นต่อประธานสภาเมื่อเปิดสมัยประชุมทันที

 เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาหลังจากนี้ นพ.ชลน่านกล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะยุบสภาถึง 90% จากเดิมที่เคยประเมินไว้ 80% โดยมีสองปัจจัยที่จะทำให้เกิดการยุบสภา คือ หนึ่ง ผู้มีอำนาจเห็นว่าตัวเองได้ประโยชน์ เพราะเตรียมองคาพยพไว้หมดแล้ว รวมถึงเงื่อนไขของกฎหมาย และสอง ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นมากกว่าเดิม เพราะประชาชนนับเลขเป็น รับรู้ได้ อีกทั้งศาลยังใช้ช่องว่างทางการกฎหมายวินิจฉัย วันนี้จำเลยของสังคมนอกจาก พล.อ.ประยุทธ์แล้ว สังคมต้องไปมองที่ศาลรัฐธรรมนูญด้วย เรื่องเหล่านี้จะทำให้เกิดความไม่สงบ อันเนื่องมาจากความเรียกร้องให้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน

“หลังจากเสร็จการประชุมเอเปกช่วง 19-20 พ.ย. มีความเป็นไปได้ที่จะมีการยุบสภาช่วงปลายเดือน พ.ย. หรือต้นถึงกลางเดือน ธ.ค. แล้วไปเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2566” นพ.ชลน่านกล่าว

ก่อนหน้านี้ พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายในการตีความ ซึ่งสังคมต้องร่วมกันและทบทวนถึงบทบาทการทำหน้าที่ของศาล โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีผลผูกพันทุกองค์กรนั้น ควรจะทบทวนเพื่อสร้างกลไกการตรวจสอบให้เกิดความเหมาะสมอย่างไร

ขณะที่พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์เช่นกันว่า คำวินิจฉัยของศาลเป็นอีกครั้งที่ทำให้ประชาชนไทยรู้สึกสิ้นหวัง ยิ่งตอกย้ำให้ประชาชนเคลือบแคลงใจ ว่าสถาบันตุลาการของบ้านเมืองที่ควรทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กลับกำลังปกป้องคุ้มครองการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร มากกว่าปกป้องคุ้มครองหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจกลายเป็นคู่ความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมด้วย เพราะถูกทำให้กลายเป็นศาลการเมือง

รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า ศาลตกเป็นจำเลยของสังคม กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยจะถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง ขาดความน่าเชื่อถือ ถึงจุดเสื่อมสุดของกระบวนการยุติธรรมของไทย สุดท้ายผู้นำจะขาดความน่าเชื่อถือ หลังจากนี้จะเกิดขบวนการเคลื่อนไหวมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อต่อต้านคัดค้าน

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชน ความชอบธรรมทางประชาธิปไตยของศาลจึงถูกตั้งคำถาม และเกิดข้อสงสัย นายกฯ จึงสามารถลาออกได้ด้วยตัวเอง และนายกฯ คนใหม่ต้องมาจากผู้ที่อยู่ในรายชื่อบัญชีของพรรคการเมือง ไม่ควรเป็นนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อ หรือนายกฯ คนนอก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง