ผุดวอร์รูมรับมือไต้ฝุ่นโนรู ซื้อกระสอบทราย2.5ล.ลูก

รัฐบาลตื่นตัวรับมือโนรูถล่มไทย ผุดวอร์รูมเกาะติดสถานการณ์พายุใกล้ชิด ด้านกรมอุตุฯ ขยับตามตั้ง  5 ศูนย์ติดตามเคลื่อนไหวระดับภูมิภาค เตือนภัย ปชช.  28 ก.ย.-1 ต.ค.ทั่วประเทศรับมือฝนหนักกระหน่ำ-น้ำท่วมฉับพลัน ขณะที่ "ชัชชาติ" กางแผนสมรภูมิสู้น้ำท่วมกรุงเทพฯ จัดซื้อกระสอบทราย 2.5 ล้านลูกปิดจุดอ่อนริมเจ้าพระยา วางมาตรการดูแลฉุกเฉินชาวกรุง

เมื่อวันจันทร์ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลตั้งวอร์รูมรับมือ พายุไต้ฝุ่นโนรู และเตรียมความพร้อมรับมือพายุดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นโนรู (NORU) ติดตาม ประเมิน รายงานสถานการณ์พายุ และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นายอนุชากล่าวว่า  ศูนย์อำนวยการจะคอนเฟอเรนซ์ ประเมินสถานการณ์สถานีอุตุนิยมวิทยาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ หรือบริเวณที่พายุจะเคลื่อนผ่านอย่างแม่นยำ ร่วมกันประเมินสถานการณ์ของพายุ ซึ่งหากมีความรุนแรงจะตรวจวัดสภาพอากาศและปริมาณฝนให้ถี่ขึ้น รวมทั้งสั่งการดำเนินการในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ

รัฐบาลห่วงกังวลอันตรายที่อาจเกิดแก่ทรัพย์สินและชีวิตของประชาชน โดยขอให้ประชาชนระมัดระวังในบริเวณดังกล่าวอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รัฐบาลได้บูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบ ประเมินสถานการณ์ และให้ทุกฝ่ายได้ให้ความช่วยเหลือ บรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด” นายอนุชากล่าว

 ที่อุตุนิยมวิทยา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดศูนย์อำนวยการติดตามสถานการณ์พายุไต้ฝุ่นโนรู (NORU) เพื่อติดตาม ประเมิน และรายงานสถานการณ์พายุร่วมกับศูนย์อุตุนิยมวิทยาภูมิภาคทั้ง 5 ศูนย์ ประกอบด้วย เชียงใหม่  ขอนแก่น อุบลราชธานี สงขลา และภูเก็ต เพื่อรายงานสภาพอากาศในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ และเตรียมพร้อมรายงานข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที

นายชัยวุฒิกล่าวว่า การทำงานของศูนย์อำนวยการจะมีการคอนเฟอเรนซ์กับสถานีอุตุนิยมวิทยาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ หรือบริเวณที่พายุจะเคลื่อนผ่าน โดยจะประเมินสถานการณ์ของพายุ และหากมีความรุนแรงจะมีการสั่งให้ตรวจวัดสภาพอากาศและปริมาณฝนให้ถี่ขึ้นในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เพื่อจะได้ข้อมูลช่วยประเมินสถานการณ์ให้แม่นยำมากขึ้น

ด้าน ดร.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  แถลงว่า เมื่อเวลา 04.00 น.ของวันนี้ (26 ก.ย.65)  พายุไต้ฝุ่นโนรูกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 ก.ย.  ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล  ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 28  ก.ย.-1 ต.ค. ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 27 ก.ย.-1  ต.ค.65” ดร.ชมภารีระบุ 

วันเดียวกัน ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปัจจุบัน (คือวันที่ 26 ก.ย.) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกัน 54,416 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุอ่าง ยังสามารถรับน้ำได้อีก  21,692 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะเขื่อนภูมิพลยังคงมีปริมาณน้ำอยู่ในร้อยละ 51 ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำอยู่ในร้อยละ 48 ของความจุอ่าง ซึ่งยังมีพื้นที่สำหรับรับน้ำได้อีก

 “ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นจนไหลล้นตลิ่งบางแห่ง กรมชลประทานโดยสำนักงานชลประทานที่ 6, 7 และ 8 ได้บูรณาการร่วมกันในการบริหารจัดการน้ำและจัดจราจรน้ำ พร้อมทั้งยกบานประตูระบายน้ำและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันตลอดแนวแม่น้ำชี-มูล เพื่อเร่งระบายน้ำในลำน้ำชีและมูลลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นในสัปดาห์นี้” ดร.ทวีศักดิ์ระบุ

ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า พายุโนรูที่กำลังจะเข้าเมื่อดูแล้วมี 2 สถานการณ์ คือ 1.หากพายุขยับมาทางล่างก็จะเจอกรุงเทพฯ หนัก มีสิ่งที่กังวลประเด็นหลักคือ น้ำในเขื่อนป่าศักดิ์ชลสิทธิ์ที่อยู่ทางตะวันออก กับน้ำที่ลงมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้กดดันพื้นที่ฝั่งตะวันออกกับพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

นายชัชชาติกล่าวว่า สำนักการระบายน้ำได้ทำแผนรับมือทั้งพื้นที่ฝั่งตะวันออกและพื้นที่แม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นวิธีการที่แตกต่างจากการที่ฝนตกในพื้นที่ ซึ่งฝนตกในพื้นที่คือดูดออก ถ้าน้ำจากเขื่อนคือกันน้ำเข้า จากคันกั้นน้ำริมแม่น้ำและริมคลอง แต่น้ำที่มาจากเขื่อนป่าสักฯ ก็จะต้องระบายทางด้านล่าง เช่นลงมาทางคลองลำปลาทิว คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต ต้องทำทางปิดล้อม ก็ได้สั่งให้ทำฉากทัศน์ทั้ง 2 รูปแบบ ในแง่ฝนตกในพื้นที่ ตอนนี้เราเร่งระบายน้ำให้มากที่สุด

 “สำหรับมาตรการมี 3 ส่วน คือ 1.เร่งระบายน้ำ  พร่องน้ำให้มากที่สุด ซึ่งตอนนี้ทุกคลองต่ำกว่าระดับเส้นควบคุมแล้ว 2.เสริมคันจุดที่อ่อนแอเพิ่มอีก เช่น ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและตามคลองต่างๆ ซึ่งตอนนี้ได้มีการจัดงบประมาณซื้อกระสอบทรายเพิ่มมา 2,500,000 ลูก จะได้ประมาณ 1-2 วันนี้ 2.คือเสริมความแข็งแรงตามแนวป้องกันน้ำ และ 3.ให้ชุมชนช่วยกันดูแลตัวเองด้วย” นายชัชชาติระบุ

 ด้านนายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกระสอบทรายมีพร้อมแจกได้ 2 แสนลูก และผู้ว่าฯ กทม.ได้ให้เพิ่ม 2,500,000 ลูก โดย กทม.มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนทั้งการจัดรถรับส่ง จัดช่วยเหลือรถเสีย โดยจัดเจ้าหน้าที่อำนวยการจราจรในพื้นที่ เตรียมอาหาร เตรียมที่พักฉุกเฉิน และสำหรับฟีเจอร์ใหม่ของทราฟฟีฟองดูว์ที่สามารถแจ้งน้ำท่วม ขอข้อมูลระดับน้ำและระยะเวลาที่น้ำท่วมได้ รวมถึงรับแจ้งน้ำท่วมใกล้บ้านหรือที่ทำงานได้ โดย กทม.จะลงไปดูทุกวันของจุดที่มีการแจ้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"