ชงครม.ไฟเขียว ชดเชยอสม.-อสส. คนละ2พันบาท

จับตา! “อนุทิน” เตรียมเสนอ ครม.อนุมัติค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย อสม.-อสส. 1 ล้านคน คนละ 2,000 บาท สนับสนุนภารกิจดูแลประชาชนถึงเดือน ก.ย. พร้อมขอบคุณร่วมต่อสู้โควิดจนสำเร็จ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 2,100.61 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  (อสม.) จำนวน 1,039,729 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) จำนวน 10,577 คน รวม  1,050,306 คน ช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ย.65 รวม 4 เดือน ในอัตรา 500 บาทต่อคนต่อเดือน รวมเป็น 2,000 บาทต่อคน

ทั้งนี้ เงินดังกล่าวเป็นค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย  และเสี่ยงภัย และสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของ อสม. และ อสส.ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19  ในชุมชนช่วงระยะเวลาที่โควิด-19 ยังคงเป็นโรคติดต่ออันตราย

 “รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเพื่อจ่ายค่าตอบแทนแก่  อสม.และ อสส. ตามนโยบายที่ รมว.สาธารณสุขได้ให้ไว้ว่าจะดูแล อสม.และ อสส.ไปจนกว่าโควิดจะหมดไป เนื่องจากช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด อาสาสมัครมีภารกิจมากขึ้น ซึ่งจะต้องไม่เป็นภาระที่อาสาสมัครต้องจ่ายเอง ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมันรถส่งยา ค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่าเดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยและเก็บข้อมูลสุขภาพประชาชน ซึ่งหาก  ครม.อนุมัติงบประมาณในครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุน อสม. และ อสส. รวมแล้วเป็นเวลา 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง ตั้งแต่  มี.ค.63-ก.ย.65 ในการนี้รองนายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณอาสาสมัครทุกคนที่ได้ร่วมกันทำงานต่อสู้กับโควิดจนสำเร็จ” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโรคไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 26 ก.ย.ว่า ผู้ป่วยรายใหม่  (รักษาตัวใน รพ.) จำนวน 319 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศทั้งหมด ผู้ป่วยสะสม 2,455,236 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม  2565) หายป่วยกลับบ้าน 1,145 ราย หายป่วยสะสม  2,470,591 ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 6,860 ราย เสียชีวิต 8 ราย เสียชีวิตสะสม 11,028  ราย (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565) จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 495 ราย

ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.ธเรศ  กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขหลังยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินและยุบ ศบค.

นายอนุทินกล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลก รวมทั้งไทยกำลังกลับเข้าสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในระดับต่ำมาก ภาพรวมมีความปลอดภัยเพิ่มขึ้นมาก ส่วนประเทศไทยถือว่าประสบผลสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 จนได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลกและประชาคมโลก มีอัตราป่วยและเสียชีวิตระดับต่ำ ขณะที่ประชาชนมากกว่าร้อยละ 92 มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนถึง 143.16 ล้านโดส และบางส่วนมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ

โดยในช่วงเดือนกันยายนนี้ มีผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิตลดลงมาก รวมถึงมีอาการไม่รุนแรง ดังนั้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านจึงได้เซ็นประกาศยกเลิกโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตามคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ซึ่งที่ประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ได้เห็นชอบยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ข้อกำหนด ประกาศ และคำสั่งแห่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งหมด มีผลวันที่ 30 กันยายนนี้ และให้หน่วยงานต่างๆ นำมาตรการตามกฎหมายเข้ามาแก้ไขปัญหาตามปกติ

นายอนุทินกล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมี พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เป็นเครื่องมือหลักในการบริหารสถานการณ์ในระยะถัดไป โดยมีกลไกทั้งระดับชาติ  ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ ซึ่งอาจมีการปรับลดระดับความเข้มข้นของมาตรการตามสถานการณ์ เพื่อให้สังคมและเศรษฐกิจประเทศเดินหน้าต่อไปได้

 “เป็นที่น่ายินดีว่า ประเทศไทยเป็นเป้าหมายการเดินทางของชาวต่างชาติเป็นอันดับต้นๆ หลังเปิดให้มีการเข้าออกประเทศได้ตามปกติ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาวันละ  5-6 หมื่นคน หรือเดือนละ 1 ล้านคนเศษ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยอย่างมาก เป็นโอกาสของการเติบโตด้าน Medical Tourism  และการเป็น Medical Hub ในภูมิภาค สร้างรายได้ให้ประเทศตามนโยบาย Health for Wealth” นายอนุทินกล่าว

ด้าน นพ.สุระกล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลในสังกัดกว่า 900 แห่ง และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีกกว่า 9,000  แห่ง มีบุคลากรทางการแพทย์กว่า 4 แสนคน จึงมีความพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีเตียงผู้ป่วย 73,000  เตียง ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดนอนรักษา 4,800 คน คิดเป็น  6% เป็นการครองเตียงระดับ 2.1 และระดับ 1 คือกลุ่มอาการไม่รุนแรง ประมาณ 90% ส่วนยารักษา ขณะนี้มียาฟาวิพิราเวียร์คงเหลือ 5.6 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 5.8 หมื่นเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้ 3.1 เดือน ยาโมลนูพิราเวียร์คงเหลือ  20.3 ล้านเม็ด ใช้เฉลี่ย 1.48 แสนเม็ดต่อวัน เพียงพอใช้  4.5 เดือน และยาเรมเดซิเวียร์คงเหลือ 2.3 หมื่นขวด ใช้เฉลี่ย 1.2 พันขวดต่อวัน เพียงพอใช้ครึ่งเดือน มีแผนจะจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์เพิ่ม 10 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 5.5 เดือน  ยาโมลนูพิราเวียร์ 35 ล้านเม็ด เพียงพอใช้ 7.2 เดือน และยาเรมเดซิเวียร์ 3 แสนขวด เพียงพอใช้ 8.2 เดือน และหากในอนาคตผู้ป่วยน้อยลงจะมียาใช้ได้นานกว่าที่ประมาณการไว้

ส่วน นพ.โอภาสกล่าวว่า ประชาชนยังสามารถรับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.กำหนด  เน้นฉีดในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปและโรคเรื้อรัง ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นปีละ 1-2 ครั้งเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกหรือสถาบันที่เชื่อถือได้ ขอให้รอคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค รวมทั้งข้อมูลวัคซีนรุ่นใหม่และระยะเวลาที่ป้องกันโรคได้

ขณะที่ นพ.ธเรศกล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ประชาชนยังสามารถรักษาพยาบาลโรคโควิด-19 ได้ฟรีจากกองทุนสุขภาพที่ผู้ป่วยมีสิทธิ์ เช่น หลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง, ประกันสังคม, สวัสดิการข้าราชการ  เป็นต้น ส่วนกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการฉุกเฉินวิกฤตสีแดง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทุกที่ทั้งสถานพยาบาลภาครัฐหรือเอกชนตามสิทธิ UCEP Plus จนกว่าจะหายป่วย ซึ่งแตกต่างจากสิทธิ UCEP ปกติ ที่เมื่อครบ 72  ชั่วโมงจะต้องส่งกลับไปรักษาที่สถานพยาบาลตามสิทธิ โดยสถานพยาบาลจะเบิกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตามระบบ UCEP Plus ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนแรงงานต่างด้าวหากมีประกันสุขภาพก็สามารถใช้ประกันในการรักษาได้ฟรี

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้มีการปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโควิด (ไกด์ไลน์) เป็นครั้งที่ 25  รวมแล้ว 2 ปี 9 เดือน เรามีไกด์ไลน์แล้ว 26 ฉบับ โดยแนวทางนี้เป็นร่างที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังสรุปเพื่อนำเสนอที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อเริ่มใช้วันที่ 1 ตุลาคม  2565 โดยผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ปอดปกติ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงหรือโรคร่วมสำคัญ สามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก ปฏิบัติตาม DMHT อย่างเคร่งครัด 5 วัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ