เตือน52จว.รับพายุโนรู เฝ้าระวัง13อ่างเก็บน้ำ!

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนพายุโนรูฉบับที่ 3 ให้ระวังฝนกระหน่ำช่วงวันที่ 28 ก.ย.-1 ต.ค.นี้ "บิ๊กป้อม" ลงเพชรบูรณ์ กำชับเร่งดูแลเรื่องอุทกภัย กรมชลฯ ยันเตรียมความพร้อมรับพายุโซนร้อนแล้ว ปภ.เตือน 52 จังหวัดเตรียมอ่วม จับตา 13 อ่างเก็บน้ำใกล้ชิด

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ก.ย. น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 3 เรื่องพายุโนรู ระบุว่า เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 25 ก.ย. พายุไต้ฝุ่นโนรู บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 20 กม.ต่อ ชม.  คาดว่าจะเคลื่อนผ่านตอนบนของฟิลิปปินส์ ลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนกลางในช่วงวันที่ 25-26 ก.ย.2565 และเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 28 ก.ย.2565 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงในช่วงวันที่ 28 ก.ย.-1 ต.ค.2565 ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 27 ก.ย.-1 ต.ค.2565

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ โดยได้รับฟังการบรรยายสรุปจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ถึงสถานการณ์น้ำภาพรวม

โดย พล.อ.ประวิตรกล่าวชื่นชม จ.เพชรบูรณ์ ที่ดำเนินการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาล ขับเคลื่อนงานที่สำคัญในระดับพื้นที่ และทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานในช่วงสถานการณ์อุทกภัย ให้ความช่วยเหลือฟื้นฟู และเยียวยาประชาชนอย่างทันท่วงทีและทั่วถึง

ส่วนนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมได้บริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมรับมือพายุไต้ฝุ่นโนรูที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคอีสานด้านตะวันออกของไทย บริเวณ จ.มุกดาหาร หรือ จ.อุบลราชธานี ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุตุฯ ในวันที่ 28 ก.ย. อาจทำให้ภาคอีสานโดยเฉพาะตอนกลางและตอนล่างมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ตกหนักถึงหนักมากได้ และมีลมแรง หลังจากนั้นกลุ่มฝนจะเลื่อนมาตกบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก กทม.และปริมณฑล ตามแนวการเคลื่อนตัวของพายุ ผลกระทบต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 30 ก.ย.

"ได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ และสำนักเครื่องจักรกล ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตลอดจนติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ เร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม ด้วยการปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง" นายทวีศักดิ์ระบุ

ด้านกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ระบุว่า ได้แจ้งให้ 52 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำพร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำ และจัดการจราจรทางน้ำให้เหมาะสม พร้อมทั้งให้จัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและชุดปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 27 ก.ย.-2 ต.ค. ประกอบด้วย สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ได้แก่ ภาคเหนือมีจังหวัดเชียงใหม่, ลำปาง, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, ตาก, กำแพงเพชร, พิจิตร, เพชรบูรณ์, นครสวรรค์ และอุทัยธานี, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจังหวัดเลย, หนองคาย, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, สกลนคร, นครพนม, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์, มุกดาหาร, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, อำนาจเจริญ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, และอุบลราชธานี ส่วนภาคกลาง จังหวัดชัยนาท, ลพบุรี, กาญจนบุรี, สุพรรณบุรี, ปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ,  นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด รวมถึงกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ กอปภ.ก.ยังให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำสาย, แม่น้ำกก, แม่น้ำวัง, แม่น้ำยม, แม่น้ำน่าน, แม่น้ำแควน้อย, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำน้อย, แม่น้ำเลย, แม่น้ำชี, ลำน้ำเชิญ, ลำน้ำพรหม, ลำน้ำพอง, แม่น้ำมูล, แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำตราด และให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด 13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่, อ่างเก็บน้ำแม่มอก และกิ่วคอหมา จ.ลำปาง, อ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.อุทัยธานี, อ่างเก็บน้ำกระเสียว จ.สุพรรณบุรี, อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ลำพระเพลิง และมูลบน จ.นครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำขุนด่านปราการชล จ.นครนายก, อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา, อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี รวมทั้งอ่าง ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80%

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะ  กอปภ.ก. ยังรายงานถึงสถานการณ์ฝนในช่วง 22-25 ก.ย.ว่า ทำให้พื้นที่ 7 จังหวัด ได้รับผลกระทบ ได้แก่ เชียงใหม่, กำแพงเพชร, ยโสธร, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ, นครราชสีมา และสมุทรปราการ รวม 12 อำเภอ 18 ตำบล 30 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 18 ครัวเรือน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมพื้นที่วัดเกาะแก้ว และถนน ทล.212 บริเวณหน้าโรงสีพงษ์ชัย และหน้าโรงสีไชยกุล เส้นทางระหว่างบ้านสามแยก-บ้านโคกสว่าง ตำบลสามแยก อำเภอเลิงนกทา อยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ผลกระทบจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ช่วงวันที่ 13 ส.ค. 65-25 ก.ย.65 ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ตาก, ขอนแก่น, มหาสารคาม, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, สิงห์บุรี และปทุมธานี ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ 7 จังหวัด ตาก, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, พระนครศรีอยุธยา, อ่างทอง, สิงห์บุรี และปทุมธานี รวม 21 อำเภอ 138 ตำบล 710 หมู่บ้าน ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา