‘วธ.’ ทำจดหมายเหตุ โควิดระบาดในไทย!

.vce-row-container .vcv-lozad {display: none}

กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำจดหมายเหตุการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย บันทึกลำดับเหตุการณ์สำคัญ บอกเล่าความร่วมมือร่วมใจของคนไทยจนสามารถผ่านวิกฤตครั้งใหญ่  เพื่อไทยโวยเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลังวันเกษียณ 30 กันยายน ไม่ทันสมัย ไม่เป็นสากล

เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. เมื่อวันที่ 23 ก.ย.65 ซึ่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รายงานถึงความคืบหน้าการจัดทำจดหมายเหตุการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ซึ่งได้บันทึกลำดับเหตุการณ์สำคัญ นโยบาย ตลอดจนมาตรการต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา และเป็นองค์ความรู้และการดูแลจัดการกรณีเกิดสถานการณ์ลักษณะเดียวกันขึ้นในอนาคต

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า คณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมได้รวบรวม สืบค้นข้อมูลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63-31 ก.ค.65 จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ประกอบด้วย แหล่งข้อมูลหนังสือพิมพ์ออนไลน์ จำนวน 11,574 แฟ้ม, เอกสารดิจิทัลจากเว็บไซต์หน่วยงาน จำนวน 12,858 แฟ้ม, ขอข้อมูลเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดับกระทรวงและจังหวัดจำนวน 30 หน่วยงาน รวมเอกสาร 13,108 รายการ, เอกสารจากผู้ว่าราชการ 73 จังหวัด รวม 1,839 รายการ และรวบรวมภาพถ่ายจากเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้อง 2,734 รายการ

ทั้งหมดจะถูกเรียบเรียงเป็นเนื้อหาซึ่งมีเค้าโครงเบื้องต้น ดังนี้ 1.ความเป็นมาของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการ การแพร่ระบาดของสายพันธุ์ต่างๆ 2.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งนำเสนอทั้งผลกระทบด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (new normal) 3.การบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 นำเสนอในมิติการบริหารจัดการ การป้องกัน การกำหนดมาตรการ แก้ไข เยียวยา ฟื้นฟูทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการผ่านมาตรการสำคัญต่างๆ 4.ลำดับเหตุการณ์สำคัญ นำเสนอการแพร่ระบาดในแต่ละระลอก และ 5.สรุปบทเรียนประเทศจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

“รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานในที่ประชุม ศบค. ได้มีข้อสั่งการให้คณะทำงานของกระทรวงวัฒนธรรมพิจารณาเพิ่มเนื้อหาในส่วนที่สะท้อนถึงความร่วมมือของคนไทย ทั้งการบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม เป็นการบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังเห็นว่า ด้วยความร่วมมือของคนไทยประเทศ จึงสามารถผ่านวิกฤตครั้งใหญ่นี้มาได้” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมรายงานว่าการเรียบเรียงเนื้อหาชั้นแรกจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.65 จากนั้นจะมีการปรับแก้เค้าโครงและเนื้อหาให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการและเอกสารที่ได้รับ ต่อด้วยการตรวจแก้ไขโดยผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ทรงคุณวุฒิตามขั้นตอน เสร็จสิ้นภายในมิ.ย.66 จากนั้นดำเนินการตามขั้นตอนทางทะเบียนเพื่อนำเข้าระบบเอกสารจดหมายเหตุของประเทศต่อไป

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เห็นชอบยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วหลังสถานการณ์โควิด-19 ในไทยแผ่วลงตามลำดับ และปิดฉากการทำงานของ ศบค.ในวันที่ 30 ก.ย. ว่า ชุดความคิดจะเลิกอะไรต้องเลิกหลังเกษียณ 30 กันยายน และจะเริ่มอะไรก็ต้องเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม ตามปีงบประมาณใหม่ ไม่ทันสมัย ไม่เป็นสากล เป็นมาตรการที่ล่าช้าไม่ทันการณ์ ไม่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ประชาชนคนไทยเรียกร้องให้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่อนคลาย แต่รัฐบาลไม่ยกเลิก มีความพยายามใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อจํากัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อปราบม็อบนักศึกษา ม็อบเกษตรกร ม็อบชาวบ้านที่เดือดร้อนจากโครงการต่างๆ ของรัฐ แต่พอถูกกดดันจากประเทศต่างๆ ที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม เพราะการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่ประเทศต่างๆ ไม่สบายใจ รัฐบาลถึงกลับลำ ประชาชนเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วให้ใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ คุมโควิดแทนมาเป็นปี แต่รัฐบาลก็ยืนกรานกระต่ายขาเดียวมาโดยตลอดว่าใช้ทดแทนกันไม่ได้ แต่พอจะใช้แทนได้ก็ใช้แทนได้ แสดงให้เห็นถึงการไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่

“คุณภาพชีวิตของคนไทยภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลมั่นคง แต่ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิ รัฐบาลจึงควรต้องระมัดระวังให้มาก” นายอนุสรณ์กล่าว

ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์​ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เมื่อยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ (พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ) แทน ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. จะมีบทบาทมากขึ้น และจะมีการนัดประชุมกันในสัปดาห์หน้า เพื่อมาตรการรองรับที่รับไม้ต่อจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่ได้มีการกังวลอะไร เพราะอัตราการฉีดวัคซีนของกรุงเทพฯ สูงมาก รวมถึงอัตราการครองเตียงที่เตียงเหลือมากมาย และเราพร้อมที่จะก้าวสู่การเปิดเมืองอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ จะมีการคุยกับผู้เชี่ยวชาญถึงมาตรการ หรือมาตรการการใส่หน้ากากอนามัย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ