ป้อมปัดแทรกแซง คลังถกแบงก์ชาติ เกาะติดค่าบาท

“ประวิตร” โยนสื่อถามค่าเงินบาททีม ศก. ปัดแทรกแซง “อาคม” รับถกแบงก์ชาติติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ-บาทอ่อน รับเอื้อส่งออกมั่นใจจีดีพีปีนี้โตฉลุย 3-3.5% ท่องเที่ยวคึกคักต่างชาติเข้าไทยตามเป้า “อุตตม” หนุนตั้งคณะทำงานร่วมแก้ปมค่าเงิน “กรณ์” แนะรัฐพยุงกลุ่มเปราะบาง อย่าสร้างความตื่นตระหนก

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 23 กันยายน  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีค่าเงินบาทที่ได้สั่งการให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ก็ต้องไปถามทีมเศรษฐกิจ ได้ให้เขาไปดูเฉยๆ

เมื่อถามว่า ไม่ได้จะมีการเข้าไปแทรกแซงใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวปฏิเสธว่า “ไม่มี ไม่เกี่ยว”

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. กระทรวงการคลังได้หารือกับ ธปท.เพื่อติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทุกเรื่อง ทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปัญหาความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์การอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพราะเป็นหน้าที่ของ ธปท. โดย ธปท.เองมีความเห็นว่าจะดูแลติดตามให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างปกติให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงการคลังยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะโตได้ที่ 3-3.5% ถือว่าเป็นระดับที่ดีแล้ว และน่าจะทำได้ โดยเป็นผลมาจากการส่งออกที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่าลง และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8 ล้านคนก็น่าจะทำได้ตามเป้าหมาย จากเดิมที่อาจจะทำไม่ได้ โดยปัจจุบันได้แล้ว 5 ล้านคน ช่วงเวลาที่เหลือหากมีเข้ามาเดือนละ 1 ล้านคน ก็จะได้ตามเป้าหมายอย่างแน่นอน

รมว.การคลังยอมรับว่า เงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจริง ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกได้ประโยชน์มาก ส่วนผลกระทบต่อราคาน้ำมัน จากการนำเข้าน้ำมัน ถือว่าไม่มาก เพราะราคาน้ำมันไม่ผันผวนมากนัก ค่ากลางอยู่ที่ 90-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อบาเรล ถือว่าเป็นระดับที่ดี แต่ทุกเรื่องก็ต้องติดตาม เพราะว่าอีกไม่กี่เดือนจะเข้าสู่ฤดูหนาว ต้องดูว่าราคาน้ำมันจะผันผวนสูงอีกหรือไม่

"การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จะกระทบกับเศรษฐกิจไทยหรือไม่นั้น ยืนยันว่าคลังและ ธปท.ได้ดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ราคาพลังงานและเรื่องสงคราม ส่วนไทยจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามหรือไม่ เป็นการตัดสินใจของ ธปท." นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวอีกว่า หลักการของธนาคารกลางทุกแห่ง รวมถึงไทย เกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ย จะต้องดูปัจจัยหลักสำคัญ 3 เรื่องคือ 1.การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยลดเงินเฟ้อได้จริงหรือไม่ และจำเป็น ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดเงินเฟ้อ 2.การขึ้นดอกเบี้ยต้องไม่กระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพราะว่าที่ผ่านมา ธปท.ก็ต้องการดูแลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาสู่ภาวะปกติได้เร็วที่สุด และ 3.การขึ้นดอกเบี้ยจะต้องดูเรื่องเงินทุนไหลออก แต่ที่ผ่านมายังพบว่ามีเงินทุนไหลออกบ้าง แต่จำนวนไม่มาก ยังไม่มีนัยสำคัญ

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย และอดีต รมว.การคลัง  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ระบุให้ทุกหน่วยงานดูแลเรื่องค่าเงินบาทว่า การดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องของ ธปท.โดยตรง ที่ต้องไปดูว่าอัตราใดที่เหมาะสม และดูสภาพของเศรษฐกิจของไทยว่าเข้มแข็งแค่ไหน เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้อยู่ที่เรากำหนด แต่ขึ้นอยู่กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศว่าต้องการเงินบาทแค่ไหน ประเด็นสำคัญคือรัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า การพูดของ พล.อ.ประวิตร เข้าข่ายไปชี้นำแนวทางของ ธปท.หรือไม่ นายอุตตมกล่าวว่า ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง แม้ ธปท.จะเป็นกลไกส่วนหนึ่งของภาครัฐ แต่ไม่ใช่รัฐอิสระ ต้องมีการพูดคุยกับหน่วยงานเกี่ยวข้องโดยไม่เข้าไปก้าวก่าย ก่อนหน้านี้ตนเตรียมเสนอตั้งคณะทำงานขึ้นมาหารือเชิงนโยบาย ระหว่างกระทรวงการคลัง  คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ธปท. เหมือนกับที่ประเทศอื่นมี และเวลานี้ยังทันหากจะตั้งคณะกรรมการดังกล่าวขึ้นมาเพื่อช่วยแก้ปัญหา

นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.การคลัง โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีอเมริกาเพิ่มดอกเบี้ยว่า อเมริกาเพิ่มดอกเบี้ยอย่างแรงอีก 0.75% ขึ้นไปอยู่ที่ 3.0-3.25% สูงที่สุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยกับไทยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3% โดยที่ตลาดคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยอเมริกาต้องขึ้นไปอีก 1% เต็มภายในปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน เรื่องนี้เป็นปัญหา แต่ไม่ใช่เป็นวิกฤต

"อย่าสร้างความตื่นตระหนกด้วยการคิดว่าเงินบาทต้องเป็นเท่าโน้นเท่านี้ เงินบาทที่ 37 (เช้านี้ 37.2 แล้ว) จะไม่ทำให้เกิดวิกฤตแบบต้มยำกุ้งในอดีต ทุนสำรองเราสูง หนี้สาธารณะเราเอาอยู่ และวันนี้ดอลลาร์แข็ง ไม่ใช่เงินบาทอ่อน สิ่งที่ต้องทำคือช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูง และช่วยป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ต้องติด black list จนหมดโอกาสฟื้นตัวแม้เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น" อดีต รมว.การคลังระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอ๊ะยังไง! 2 สัปดาห์ ชื่อ 'กิตติรัตน์' ประธานบอร์ด ธปท. ยังไม่ถึงมือขุนคลัง

'พิชัย' บอกยังไม่ได้รับรายงาน ผลการเลือก 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คาดติดช่วงวันหยุด ชี้ช่วยค่าเกี่ยวข้าวชาวนาไร่ละ 500 บาท ขอฟังความเห็นที่ประชุม นบข.