คุมเข้มสู่โหมดเลือกตั้ง กกต.จ่อออกแนวปฏิบัติหาเสียง/เตือนรมต.สวมหมวก2ใบ

“เลขาฯ กกต." แจงไทม์ไลน์เลือกตั้งกำหนดการปกติของ จนท. ระบุ 23 ก.ย.มีความชัดเจนปมประกาศเตือน 180 วัน รับห่วงยุบสภาก่อน กม.ลูกบังคับใช้ หวั่นพรรคการเมืองมีปัญหาทำไพรมารีโหวตแบบเก่า “บิ๊กป้อม” บอกเลือกตั้งเรื่องของอนาคต “วิษณุ” พร้อมนำประกาศ กกต.ลงราชกิจจาฯ แจ้ง ครม.อังคารหน้า เตือน รมต.สวมหมวกสองใบลงพื้นที่ต้องระวัง ปัดยังไม่ได้กลิ่นยุบสภา “พท.” ร้องสอบ “รมช.คมนาคม” ร่อนหนังสือเกณฑ์คนรอรับแจกของน้ำท่วม 24 ก.ย. จี้ กกต.บังคับใช้ กม.เท่าเทียม หลายพรรคการเมืองคึกคักรับเลือกตั้ง  “ปชป.” เปิดตัว “มาดามเดียร์” เสริมแกร่งพื้นที่ กทม.

มีความเคลื่อนไหวตลอดทั้งวันที่ 22 ก.ย.2565 ภายหลังจากมีรายงานข่าวสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เตรียมแผนการเลือกตั้งกรณีสภาผู้แทนราษฎรครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 แล้ว ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 102 กำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 45วัน นับแต่วันที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุ  โดยเบื้องต้น กกต.กำหนดให้วันที่ 7 พ.ค.66 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป และเปิดรับสมัครในวันที่ 3-7 เม.ย.66

นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า เอกสารดังกล่าวเป็นการกำหนดการทำงานของสำนักงาน กกต. ในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งการทำงานเลือกตั้งก็จะมีกิจกรรม ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าแต่ละกิจกรรมใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งเราได้ทำเป็นปกติอยู่แล้ว การทำงานดังกล่าวเป็นการนับจากการครบวาระ เราก็เตรียมความพร้อมแบบนี้ เพื่อศักยภาพในการจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน

ถามว่ากรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์พิจารณาวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ..... จะกระทบกับไทม์ไลน์เตรียมการจัดการเลือกตั้งของ กกต.หรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า  ปัญหาของบ้านเมืองทุกปัญหามีทางออก ในส่วนของสำนักงาน กกต. ก็ได้ศึกษากฎหมายอยู่ แต่จะพูดในช่วงนี้ไม่ได้ เชื่อว่าทุกเรื่องย่อมมีทางออก หวังว่าทุกอย่างคงจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 “เรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ประธาน กกต.ชี้แจงตามประเด็นที่ศาลกำหนดและจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องคำร้องวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ..... ทาง กกต.พร้อมชี้แจง แต่ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญส่งเอกสารซึ่งจะมีการระบุถึงคำถามมาก่อน ซึ่งฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ได้เตรียมข้อมูลไว้แล้ว และ กกต.ก็พร้อมที่จะชี้แจงกลับไปภายในระยะเวลาที่กำหนด” นายแสวงกล่าว

เลขาฯ กกต.กล่าวถึงกรณี กกต.เตรียมประกาศหลักเกณฑ์ให้พรรคการเมืองได้ทราบและปฏิบัติ เพื่อเตรียมพร้อมในช่วง 180 วันที่สภาผู้แทนราษฎรจะหมดวาระ ซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.ว่า วิธีการหาเสียงมีกำหนดอยู่ในระเบียบของ กกต.อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณี 180 วัน กรณีสภาอยู่ไม่ครบวาระ หรือยุบสภา คือมาตรฐานแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะแตกต่างออกไป เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับรอการประกาศใช้ ทำให้เงื่อนไขในการหาเสียงบางอย่างยังไม่เกิดขึ้น เช่น หน่วยเลือกตั้ง เขตเลือกตั้ง ต้องรอกฎหมายฉบับใหม่ ทำให้ฐานของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่จะนำไปใช้ในการหาเสียงยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งในช่วงบ่ายวันที่ 22 ก.ย. ทางสำนักงาน กกต.จะเสนอร่างประกาศดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม กกต. เพื่อพิจารณา ก่อนจะแจ้งให้พรรคการเมืองทราบในวันที่ 23 ก.ย.นี้ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้เกิดความชัดเจนในการหาเสียง

ซักว่าพรรคการเมืองกังวลว่าในช่วง 180 วัน อะไรทำได้-ทำไม่ได้บ้าง เลขาฯ กกต.กล่าวว่า ตัวระเบียบมีกำหนดไว้อยู่แล้ว ซึ่งพรรคการเมืองเคยใช้แล้ว แต่สิ่งที่ต่างออกมาคือระยะเวลาที่มากขึ้น แต่ก่อนมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง กรณีไม่ครบวาระจะใช้เวลาหาเสียงประมาณ 30 วันก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะ 180 วัน หรือ 6 เดือน มีกิจกรรมที่พรรคการเมืองจะหยุดไม่ได้ เช่น การประชุมใหญ่ การทำไพรมารีโหวต การทำกิจกรรมทางการเมืองตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง กกต.จะมีการชี้แจงให้พรรคการเมืองได้รับทราบ ในการประชุมชี้แจงพรรคการเมืองที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ก.ย.นี้ เพราะระยะเวลา 6 เดือน หาเสียงทอดยาวมาก ซึ่งต้องดูองค์ประกอบว่าจะเข้าข่ายการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่

วิษณุยังไม่ได้กลิ่นยุบสภา

ถามว่าการไม่มีกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ จะมีปัญหาในการปฏิบัติหรือไม่ นายแสวงกล่าวว่า ถ้าไปถึงวันที่ 23 มี.ค.2566 ทุกอย่างจะเรียบร้อย และพรรคการเมืองก็จะมีเวลาเตรียมตัว และมีช่วงเวลาในการหาเสียง การทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายใหม่ แต่ถ้าสถานการณ์การเมืองทำให้พรรคต้องทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายเดิม จะมีพรรคการเมืองทำไพรมารีตามกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่ สามารถส่งผู้สมัครได้หรือไม่

 “ผมไม่ได้ห่วงสำนักงาน กกต. เพราะได้มีการเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว แต่กังวลกับพรรคการเมือง เนื่องจากปัจจุบันมีพรรคการเมืองเป็นจำนวนมาก ถ้ากฎหมายใหม่ใช้บังคับ ก็จะทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายใหม่ ซึ่งจะง่ายกว่าการทำไพรมารีแบบเก่า เพราะใช้เขตจังหวัดเป็นเขต แต่หากใช้กฎหมายฉบับเก่า จะต้องไปทำไพรมารีโหวตในทุกเขต ต้องมีการจัดตั้งสาขาและตัวแทนพรรคในทุกเขต ต้องมีการจัดประชุม ตรวจเช็กองค์ประชุม บันทึกการประชุม ซึ่งจะต้องลงรายละเอียดคะแนนของการโหวตผู้สมัครที่อาจจะเป็นปัญหายุ่งยากต่อพรรคการเมือง” เลขาฯ กกต.กล่าว

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปฏิเสธที่จะตอบคำถามสื่อกรณีไทม์ไลน์การเลือกตั้งของ กกต.ที่ออกมาช้าหรือเร็วเกินไป และเป็นการแสดงว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมใช่หรือไม่ โดย พล.อ.ประวิตรส่ายหน้าพร้อมตอบว่า “เป็นเรื่องของอนาคต”

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประกาศไทม์ไลน์เลือกตั้งของ กกต.ถือว่าไม่เร็ว เพราะกฎหมายกำหนดให้ต้องประกาศ 180 วัน ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลง ส่วนการเตือนเหลืออีก 180 วัน ที่จะถึงวันที่ 23 มี.ค.2566 เพื่อให้แต่ละพรรคจะต้องเตรียมอะไร อย่างไร เป็นความรอบคอบที่เขาจะต้องเตือนทั้งเรื่องการแจกเงิน การหาเสียง ซึ่งตนได้ประสาน กกต.ให้ส่งประกาศดังกล่าวมา เพื่อรัฐบาลจะลงในราชกิจจานุเบกษา ตอนนี้เป็นการเตือน แต่ประกาศยังไม่ออก เข้าใจว่าวันที่ 22 ก.ย. ทาง กกต.จะส่งมาได้ เพราะต้องมีผลก่อนวันที่ 24 ก.ย.นี้

ถามว่า หลังประกาศ กกต.ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว รัฐมนตรีต้องปฏิบัติตัวอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ต้องเตรียมการ ถ้าจะไปทำอะไรในฐานะพรรคการเมือง แต่ถ้าในฐานะคณะรัฐมนตรีถือเป็นหน้าที่จะต้องทำ แต่ถ้าคนเดียวสวมหมวกสองใบซ้อนกัน ก็ต้องระมัดระวังหน่อยก็แล้วกัน ให้คนดู ให้ชาวบ้าน ให้ กกต.แยกออก

“ผมได้เห็นร่างประกาศคร่าวๆ แล้วว่าแจกเงินอะไรต่ออะไรไม่ได้ แต่เป็นการห้ามผู้สมัครและพรรคการเมือง ถ้าเป็นรัฐมนตรีไม่เป็นไร แต่ถ้ารัฐมนตรีที่จะไปเป็นผู้สมัครต้องระวัง เพราะเดี๋ยวแยกไม่ออกจะมีการฟ้องร้องกัน หาก กกต.ส่งประกาศมาวันนี้ก็จะนำแจ้ง ครม.ในการประชุม ครม.วันอังคารที่ 27 ก.ย.นี้” นายวิษณุกล่าว

ถามว่า นายกฯ หากพูดว่าอาจจะยุบสภาเมื่อนั้นเมื่อนี้จะพูดได้หรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า สื่อถามกันมากๆ ท่านก็พูดไปว่าเอาไว้หลังการประชุมเอเปก มันคืออย่างนั้น แต่ไม่ใช่ว่าจะยุบหลังประชุมเอเปก ซึ่งสามารถพูดได้ เพราะมีอำนาจที่จะยุบ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องจับให้มั่นคั้นให้ตาย เมื่อถามกันมากๆ ก็บอกให้ไปว่ากันหลังเอเปก ตอนนี้ไม่มีอะไร ความหมายมันคืออย่างนั้น

ซักว่าในฐานะที่อยู่การเมืองมานาน ร่วมคณะรัฐมนตรีมาหลายสมัย มองบรรยากาศการเมืองช่วงนี้เป็นอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มีอะไรแตกต่าง บ้านเมืองเปียก ฝนตกน้ำท่วม รถติด แต่จากประสบการณ์เห็นว่าไม่มีอะไรแตกต่าง เมื่อถามอีกว่าได้กลิ่นในทางการเมืองอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า "ไม่ได้กลิ่น บังเอิญใส่หน้ากากอยู่” เมื่อถามว่า ได้กลิ่นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี ไม่ได้กลิ่นอะไร                                                                                     

ถามว่า ถ้านายกฯ ตัดสินใจยุบสภาจะต้องแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การคิดไว้ก่อนอาจต้องคิด และคิดไว้ทุกรูปแบบ แต่การบอกล่วงหน้าตนคิดว่าไม่มี ซึ่งในอดีตมีสองแบบ ทั้งนายกฯ ยุบสภาโดยไม่บอกใครเลย บอกคนเดียวคือเลขาธิการ ครม. แต่บางครั้งก็มีการหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเป็นการภายใน ไม่ใช่ประชุม ครม.แล้วพูดกัน ตอนนี้อย่าไปคาดการณ์อะไรเลย เหลืออาทิตย์เดียวก็รู้เรื่องแล้ว

จี้ กกต.สอบ'รมช.คมนาคม' 

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตีความร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองว่า จากนี้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็จะประชุมเพื่อพิจารณา ซึ่งหากเห็นว่าพยานหลักฐานเพียงพอแล้วก็จะยุติการรับฟังพยานหลักฐาน ก่อนจะนัดฟังคำวินิจฉัยอีก 15 วัน รวมแล้วใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ยอมรับว่าอยากให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยเร็ว และขออย่าไปตั้งประเด็นอื่นขึ้นมา ศาลรัฐธรรมนูญจะได้วินิจฉัยได้เร็วขึ้น ส่วนเรื่องการยุบสภาก็ขออย่าไปคาดเดาเช่นนั้น

ส่วนนายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ไทม์ไลน์เลือกตั้งของ กกต.เป็นการเตรียมแผนการทำงานของ กกต.ตามปกติ เช่นเดียวกับการออกคำเตือนการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเลือกตั้ง ช่วง 180 วันหรือคำเตือนให้ระวังเรื่องกิจกรรมที่สุ่มเสี่ยงเข้าข่ายซื้อเสียง ก็เป็นหน้าที่ กกต.ต้องทำ เพื่อให้การปฏิบัติของพรรคการเมืองตามคำเตือนเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยสัปดาห์หน้าพรรคชาติไทยพัฒนาจะมีแถลงถึงความเคลื่อนไหวต่อการจัดกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรค พท. กล่าวว่า ขณะนี้มี ส.ส.และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคร้องเรียนเข้ามายังพรรค เพื่อให้ส่งเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบกิจกรรมการลงพื้นที่แจกของน้ำท่วมและโควิดของบรรดารัฐมนตรีในรัฐบาลหลายกรณี เช่น กรณีของนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม มีข่าวว่าทางส่วนราชการส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ อ.สีดา จ.นครราชสีมา ได้ออกหนังสือสั่งการไปยังส่วนราชการต่างๆ ในลักษณะสั่งการให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวก เกณฑ์คนมาต้อนรับและแจกถุงยังชีพจำนวน 5,000 ชุด ในวันที่ 24 ก.ย.2565 ถ้าถุงยังชีพที่นำมาแจกนั้น จัดซื้อด้วยเงินส่วนตัวของรัฐมนตรี ผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าเป็นถุงยังชีพจากเงินงบประมาณถือเป็นการทุจริตหรือไม่ การกระทำการดังกล่าวจะเกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ 24 ก.ย.สามารถกระทำการได้หรือไม่ เป็นการเอาเปรียบกันทางการเมืองอย่างชัดเจนหรือไม่

 “การเร่งแจกของในช่วงคาบลูกคาบดอก ระหว่างรอ กกต.เตรียมจะออกประกาศหลักเกณฑ์เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ภายในกรอบเวลา 180 วัน เจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ เป็นการหวังเอาเปรียบกันทางการเมืองหรือไม่ เชื่อว่าสังคมตัดสินได้ จึงขอให้ กกต.เร่งดำเนินการวินิจฉัย” นายอนุสรณ์กล่าว

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงความพร้อมการเลือกตั้งว่า พรรค ภท.มีความพร้อมเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะไม่ได้เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง เมื่อคาดเดาไม่ได้ การเตรียมพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เป้าหมายของพรรครอบนี้คือการทำให้ดีกว่าเดิม และเรามองไปถึงการเป็นพรรคหลักของขั้วการเมือง พรรคเราใช้นโยบายนำ เราเชื่อมั่นว่าเรามีของดี ทำได้ ไม่ขายฝัน ที่สำคัญคือความเอาจริง ความตั้งใจ และที่ผ่านมาก็ทำได้ลุล่วงในหลายนโยบาย จะเสร็จช้าเสร็จเร็วเท่านั้น แต่ไม่ยอมปล่อยมือ

ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมแกนนำและ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้การต้อนรับ น.ส.วทันยา บุนนาค อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ได้เข้ามาสมัครสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการ โดยนายจุรินทร์ได้มอบบัตรสมาชิกพรรค ปชป.ตลอดชีพให้กับ น.ส.วทันยา

ทุกพรรคพร้อมสู้เลือกตั้ง

นายจุรินทร์กล่าวว่า ถือเป็นเกียรติสำหรับพรรค ปชป. ที่ได้มีโอกาสต้อนรับนักการเมืองที่มีศักยภาพมาร่วมงาน และอุดมการณ์กับพรรคประชาธิปัตย์ และที่สำคัญจะมาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ทีม กทม. โดยจะมาช่วยงานภาพรวมในด้านอื่นด้วย และ น.ส.วทันยาจะมาร่วมขับเคลื่อนร่วมกับนายองอาจและนายสุชัชวีร์ เพื่อร่วมทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเสียงสนับสนุนที่มากขึ้นในพื้นที่ กทม.  โดย น.ส.วทันยาได้แสดงความจำนงที่จะลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค

น.ส.วทันยากล่าวว่า วันนี้เป็นก้าวย่างในชีวิตที่สำคัญในการตัดสินใจเล่นการเมือง เหตุผลที่เลือกพรรคนี้ เพราะความเป็นสถาบันของพรรคตลอด 76 ปี พรรคได้เติบโตเคียงข้างกับสังคมไทย และเป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นพรรคที่เห็นว่าสมาชิกมีความอิสระทางความคิด และที่สำคัญไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรคการเมืองนี้ ซึ่งสิ่งที่เดียร์อยากให้คำมั่นสัญญาก็คือตั้งใจที่จะทำงานโดยยึดมั่นในความสุจริตและความถูกต้อง

ที่พรรคก้าวไกล นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคมีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง ทั้งตามกรอบเวลาที่ กกต.กำหนด และในกรณีที่เกิดการยุบสภาก่อนกรอบ ตอนนี้มีแผนสำหรับทุกกรณีอยู่แล้ว รวมถึงการเตรียมผู้สมัครทั้งแบบเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนรัฐบาล แต่คือการเปลี่ยนประเทศ

พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค สอท. กล่าวว่า สอท.เตรียมพร้อมการเลือกตั้งเต็มที่ไว้ก่อนอยู่แล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่มีอุบัติเหตุ ต้องเร่งเต็มที่ แต่ส่วนตัวคิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยุบสภาก่อน เพราะการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. ลงพื้นที่ประชุมจัดตั้งสาขาพรรค เขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้สัมภาษณ์ว่า การเดินทางมาเปิดสาขาพรรครวมไทยสร้างชาติในวันนี้ ไม่ได้คิดว่าจะมาเจาะไข่แดงพรรคใด แต่คิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของประชาชน ที่อยากจะนำเสนอการเมืองรูปแบบใหม่ให้กับประชาชน โดยเฉพาะใน จ.สุราษฎร์ธานี พรรคได้ผู้สนับสนุนเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่นำโดยนายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุราษฎร์ธานี และสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) สุราษฎร์ธานี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มั่นใจว่านโยบายพรรคจะได้รับการสื่อสารไปยังประชาชนได้มากขึ้น

“พรรคต้องการได้ที่นั่งใน จ.สุราษฎร์ธานีทั้ง 6 เขตเดิม และ 1 เขตใหม่ นอกจากนี้จะพยายามส่งให้ครบทุกเขตทั่วประเทศ” หัวหน้าพรรค รทสช.กล่าว

นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดแผนการเมืองหากนายกฯ ประยุทธ์พ้นตำแหน่งจะส่งนายชัยเกษม นิติสิริ ชิงนายกฯ และไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐ พร้อมมองหากนายกฯ ประยุทธ์อยู่ต่อลากเข้าสู่วิกฤตขัดแย้งยิ่งกว่าม็อบลงถนนว่า ขอให้ นพ.ชลน่านอย่าคิดไปก่อนว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ไปในทิศทางใด และยังไม่ต้องรีบออกมาเสนอตัวผู้ท้าชิงนายกฯ คนใหม่

 “อยากจะบอกหมอชลน่านว่า อย่าเพิ่งฝันหวานหรือฝันกลางวันไปเลยว่านายชัยเกษมจะได้เป็นนายกฯ หรือพรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาล ขอให้รอศาลวินิจฉัยก่อน อาจจะไม่เป็นอย่างที่หมอชลน่านฝันหวานก็ได้ ใจจริงผมอยากเปลี่ยนชื่อพรรคให้ใหม่ จากพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคเพื่อคนฝันค้าง หรือพรรคเพื่อคนฝันกลางวัน  ชื่ออย่างนี้จะเหมาะสมกว่าไหม” นายเสกสกลระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"