บาทยวบสุด16ปี คลังถกด่วนธปท. แก้อ่อนค่าเร็วไป

“บิ๊กป้อม” รับสั่งกลาง ครม. ค่าเงินควรอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่บาทอ่อนยวบในรอบ 16 ปี ทะลุ 37.20 กังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย “อาคม” เร่งนัดถกแบงก์ชาติ ห่วงกระทบเศรษฐกิจ ทำต้นทุนการผลิตพุ่ง ยันรัฐงัดทุกมาตรการพยุงราคาช่วยตลอด

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 กันยายน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้กระทรวงการคลังไปหารือธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้ว่า เดี๋ยวให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง ไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงิน เพราะเราจะปล่อยให้อ่อนค่าอย่างนี้ไม่ได้ เรื่องการผันผวนค่าเงินดังกล่าวเราต้องพยายามทำให้ดีขึ้น ซึ่ง รมว.การคลังจะดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ค่าเงินบาทจะต้องอยู่ที่ตัวเลขใดถึงจะเหมาะสม พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนจะไปรู้หรือ ต้องให้เขาคุยกันก่อน จะมาถามตนล่วงหน้าทั้งที่เขายังไม่ได้คุยกันได้อย่างไร

เมื่อถามว่า มีการสั่งการตัวเลขให้อยู่ 35 บาทหรือไม่ รักษาการนายกฯ กล่าวว่า “ผมบอกว่าควรจะ”

ส่วนกรณีค่าเงินบาทอ่อนหากปล่อยไว้จะมีผลกระทบมากขึ้นใช่หรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เงินมันแปรผัน ไม่ต้องถามแล้ว เดี๋ยวให้เขาประชุมเสร็จก่อน และดูว่าเขาจะดำเนินการอย่างไร ไม่ต้องห่วง

เมื่อถามย้ำว่า มีการกำหนดกรอบเวลาให้รายงานกลับหรือไม่ พล.อ.ประวิตรไม่ตอบ พร้อมเดินออกจากไมโครโฟนแถลงข่าวทันที ก่อนจะพูดว่า "จะมาถามเมื่อไหร่ ได้อย่างไร ผมจะไปรู้ได้อย่างไร เขาจะนัดประชุมกันเมื่อไหร่"

ทางด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสถานการณ์เงินบาทที่ปรับตัวอ่อนค่าทะลุ 37 บาทว่า เตรียมนัดหารือกับ ธปท. เพื่อดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลกระทบกับการเคลื่อนไหวของค่าเงิน ซึ่งเรื่องนี้ทาง ธปท.ดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว ดังนั้นกระทรวงการคลังคงจะไปกำหนดมาตรการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้มากไม่ได้ แต่ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าเงินบาทจะอ่อนค่าเร็วเกินไปหรือไม่ จึงต้องมาวิเคราะห์ร่วมกันว่าหากเป็นเช่นนั้นจะส่งผลกระทบกับอะไรบ้าง

โดยสถานการณ์ตอนนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเรื่องราคาพลังงาน และความเป็นห่วงเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศมหาอำนาจ เป็นปัจจัยกดดันสำคัญ และเป็นที่จับตามองจากทั้งวงการการเงินและตลาดทุน ซึ่งเราจะต้องเตรียมการรองรับเอาไว้ เพราะมองว่าไทยอาจจะได้รับผลกระทบอยู่บ้าง ดังนั้นต้องปรับตัวกันไป ส่วนสถานการณ์การเคลื่อนย้ายเงินทุนนั้น ธปท.รายงานเข้ามาตลอด พบว่ายังเป็นปกติ ไม่มากเท่าไร

 “คงต้องมาคุยกันว่าเงินบาทอ่อนค่าเกินปัจจัยพื้นฐานไหม ซึ่งตรงนี้คงตอบไม่ได้ ส่วนที่ถามว่าเงินบาทอ่อนค่าเร็วไปไหมนั้น จะพูดว่าเงินบาทของเราอ่อนค่าด้วยตัวเอง หรืออ่อนค่าจากปัจจัยภายนอก ก็ต้องมาพิจารณาดู เพราะเวลาเงินบาทอ่อนค่าเร็ว ก็ต้องดูด้วยว่าเงินสกุลอื่นแข็งค่าเร็วหรือเปล่า ถ้าดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเร็ว เงินบาทก็ต้องอ่อนค่าเร็วตามไปด้วยอยู่แล้ว เรื่องนี้ต้องดูหลายๆ ปัจจัย เรื่องเงินบาทคงต้องไปถามทาง ธปท.” นายอาคมระบุ

รมว.การคลังกล่าวว่า หากย้อนดูสถิติที่ผ่านมา จะมีช่วงที่เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุด แล้วจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปจนถึงระดับสูงที่สุดแล้วจนทุกอย่างอยู่นิ่ง เมื่อถึงเวลานั้นค่าเงินบาทจะมีการปรับตัวตามพื้นฐานใหม่ ยืนยันว่าเรื่องค่าเงินนั้นมีขึ้นก็ต้องมีลง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลกระทบกับเรื่องวัตถุดิบ มีผลให้ราคาต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลได้พยายามออกมาตรการดูแลอยู่ตลอด โดยเฉพาะการดูแลราคาขายปลีกและมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยพยุงในเรื่องของต้นทุน ซึ่งยืนยันว่ารัฐบาลทำทุกอย่างเท่าที่มีเครื่องมือ

สำหรับค่าเงินบาทของไทย วันที่่ 21 ก.ย.65 อ่อนค่าลงมาที่ 37.19-37.20 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ามากสุดในรอบ 15 ปี 11 เดือน หรือเกือบ 16 ปี นับจากเดือนกันยายน 2549 เนื่องจากตลาดรอความชัดเจน และกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐที่ประชุมในวันนี้ และรู้ผลช่วงเช้าวันที่่ 22 ก.ย. ตามเวลาในไทย ที่ตลาดคาดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงต่อเนื่องถึงร้อยละ 0.75-1.00 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง