ชูป้อมจับมือชัชชาติแก้ท่วม

อุตุฯ เตือนฝนถล่มทั่วไทยถึง 21 ก.ย. รับมือท่วมฉับพลัน กรมชลฯ สั่งเพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อน ผู้ว่าฯ กทม. สัญจรเขตมีนบุรี เร่งดูแลจุดเปราะบาง คาด ต.ค.-พ.ย.ฝนยังเทต่อ เจอโจทย์หมู่บ้านเก่า “สุดารัตน์-ศิธา” ลงพื้นที่สายไหม แนะใช้คลองทั่วกรุงแก้ปัญหา ประชาชนพอใจ “บิ๊กป้อม” ทำงานร่วมกับ “ชัชชาติ”

เมื่อวันที่ 18 กันยายน น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเรื่อง "ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 18-21 ก.ย.2565)" ฉบับที่ 7 โดยระบุว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ลมกระโชกแรง และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ในระยะนี้ไว้ด้วย

ในช่วงวันที่ 19-20 ก.ย.2565 ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ :  จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี, ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี, ภาคตะวันออก : จังหวัดจันทบุรี และตราด

ในช่วงวันที่ 21 ก.ย.2565 ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ :  จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา และบุรีรัมย์, ภาคกลาง :  จังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล,  ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

เพิ่มระบายน้ำท้ายเขื่อน

ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย ช่วงวันที่ 18, 21-24 ก.ย.นี้ คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำเหนือจากแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน จะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนไหลมาสมทบกับแม่น้ำสะเเกกรังและลำน้ำสาขา ลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในระยะนี้ได้เตรียมการพร่องลดระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยารองรับน้ำเหนือ

 “กรมชลประทานจึงมีความจำเป็นต้องปรับปริมาณน้ำไหลผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นเป็นอัตราประมาณ 1,990 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. ของวันนี้ (18 ก.ย.) หลังจากนั้นจะคงอัตราเดิมอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา และปริมาณน้ำที่ไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบน เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทยให้เร็วที่สุด จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” โฆษกกรมชลประทานระบุ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่แจกถุงยังชีพให้กับประชาชนที่ประสบภัยน้ำขังในซอยอ่อนนุช 39 เขตสวนหลวง พร้อมเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้มาดูแลประชาชน ติดตามความคืบหน้าของการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ และโดยรอบ ขณะเดียวกัน ทางพรรคพลังประชารัฐได้แจ้งให้ ส.ส.พรรคทุกคนลงพื้นที่ดูแลประชาชน โดยจุดไหนที่มีความเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือ ให้รีบประสานงานกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้ลงไปช่วยแก้ปัญหา ทั้งการเยียวยา จัดหาเครื่องสูบน้ำ หาทางระบายน้ำ รวมถึงระยะยาวที่ต้องมีการก่อสร้างจุดป้องกันน้ำท่วม หาแนวทางระบายน้ำ ช่วยกันศึกษาออกแบบวางแผนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการระบายน้ำให้ถาวร เพื่อช่วยพี่น้องประชาชน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารเขตมีนบุรี ในกิจกรรม “ผู้ว่า กทม.สัญจร” เขตมีนบุรี ว่า เรื่องที่ประชาชนแจ้งมามากตอนนี้คือน้ำท่วม ซึ่งได้สั่งกำชับให้เขตเข้าไปดูแลจุดเปราะบาง จากที่คุยกับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเผลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ซึ่งฝนจะยังตกต่อเนื่องอีกในเดือน ต.ค.และ พ.ย. จึงให้เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง จัดหากระสอบทรายไปไว้ให้ชุมชนดูแลกันแก้ปัญหากันได้ระดับหนึ่งในภาวะฉุกเฉิน โดยพื้นที่มีนบุรีมีคลอง 62 คลอง สำนักการระบายน้ำดูแล 11 คลอง อีก 51 คลองเขตมีนบุรีดูแล สถานการณ์ภาพรวมดีขึ้นมาก คลองแสนแสบระบายได้

สำหรับพื้นที่มีนบุรี ผอ.เขตรายงานมีจุดน้ำท่วม 37 ซอย กระจายตามชุมชนชายคลอง ตอนนี้มี 12-13 ซอยที่ยังท่วมบ้าง แต่ดีขึ้น ประชาชนใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว กำลังรวบรวมข้อมูลว่าจำเป็นต้องประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยหรือไม่

ผู้ว่าฯ กทม.ยังกล่าวถึงหลายหมู่บ้าน โดยเฉพาะไปลงพื้นที่มาที่พัฒนาการ 69 เป็นหมู่บ้านเก่า ใหญ่ 500 ไร่ คนอยู่มาก ไม่มีนิติบุคคล แม้มีคันกั้นน้ำจากคลองประเวศ แต่คลองย่อยอื่นตามซอย ล้อมหมู่บ้าน แต่พอเกิดปัญหาน้ำท่วม กทม.ก็ต้องเข้าไปดูแล แต่เราไม่สามารถเข้าไปปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานได้ เนื่องจากไม่ใช่ของ กทม. เราสามารถช่วยเหลือได้ แต่ถ้าให้ทำท่อระบายน้ำใหม่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของ กทม. และต้องใช้เงินมาก เพราะเป็นโครงการที่มีจำนวนมาก นี่เป็นโจทย์หนึ่งที่ต้องคิดต่อว่าหมู่บ้านเก่าที่ไม่มีนิติบุคคลดูแลโครงสร้างพื้นฐานจะทำอย่างไรต่อ

แนะใช้คลองแก้ท่วมกรุง

นายชัชชาติยังกล่าวถึงแนวทางแก้น้ำท่วมขังที่ลาดกระบังว่า จะเสนอการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ความยาว 19 กิโลเมตร ระบายประมาณ 50 ลบ.ม./วินาที เพื่อแก้ปัญหา ซึ่งถ้าสร้างอุโมงค์ จะต้องเป็นกรมชลประทานดำเนินการ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมขังบางจุดที่เขตสายไหม ชุมชนเพิ่มสิน ขณะนี้กรมชลประทานได้เพิ่มกำลังสูบน้ำ ซึ่งกรุงเทพฯ เหนือ ต้องให้กรมชลฯ สูบออก สถานการณ์น่าจะดีขึ้น

วันเดียวกัน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, น.ต.ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรค พร้อมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตสายไหม และ ส.ก.เขตสายไหม จัดโครงการ “ไทยสร้างไทยสู้ภัยน้ำท่วม” มอบข้าวสาร อาหารแห้ง ให้กับพี่น้องประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งนี้ น.ต.ศิธากล่าวว่า ได้รับร้องเรียนจากพี่น้องประชาชนชาวสายไหมว่า ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 เป็นต้นมา น้ำท่วมครั้งนี้ได้รับผลกระทบหนักสุด โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนชุมชนริมคลอง ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพฯ มีจำนวนคลองเยอะมาก มีคลองยาวกว่า 2,600 กิโลเมตร ซึ่งหากสามารถใช้คลองระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นโอกาสที่ดีของคนกรุงเทพฯ ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ภาพจำ ภาพหลอน ภัยพิบัติน้ำท่วม กรณีศึกษาประชาชน จำนวน 1,105 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.6 ระบุผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมคือ ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เสี่ยงต่อชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย ไร่นาเสียหาย, ร้อยละ 91.9 ระบุซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง การประกอบอาชีพ ทำมาหากินลำบาก

เมื่อถามถึงภาพจำของประชาชนจากภัยพิบัติน้ำท่วม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.3 ระบุเป็นภาพจำแห่งพระมหากรุณาธิคุณ ทรงช่วยเหลือแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชน, ร้อยละ 92.7 ระบุเป็นภาพจำของทหาร ตำรวจ จิตอาสาลงมาช่วยดูแลการสูญเสียทรัพย์สิน ช่วยเหลือและดูแลความปลอดภัยประชาชน, ร้อยละ 91.6 ระบุภาพจำแห่งความทุลักทุเล การสัญจรไปมายากลำบากของผู้คน ส่วนความต้องการของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.9 ต้องการเห็นหน่วยงานหลักมหาดไทย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รับผิดชอบทำงานหนักและจริงจังในหน้าที่มากขึ้น

เมื่อถามถึงความพอใจของประชาชนต่อการแก้ปัญหาน้ำท่วมของรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 45.9 พอใจผู้นำรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯ ลงพื้นที่ที่ประสบภัยและทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. แก้ปัญหาน้ำท่วมดูแลความเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 35.4 ไม่พอใจ และร้อยละ 18.7 เฉยๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด