‘กยศ.’หวังพึ่งส.ว. ค้านเลิกดอกเบี้ย ห่วงวินัยการเงิน

"กยศ." หวังพึ่งวุฒิสภา  เตรียมหอบข้อมูลแจงหลังร่างกฎหมายใหม่ยกเลิกดอกเบี้ย-เบี้ยปรับ เผยมีผู้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านราย มูลหนี้ 9 หมื่นล้านบาท อยู่ในชั้นการฟ้องร้องหลายแสนราย คลังสั่งทำแผนบริหารสภาพคล่อง ห่วงเรื่องวินัยการเงินผู้กู้เบี้ยวชำระหนี้ ศธ.เร่งปลูกฝังสำนึกความรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 15 กันยายน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฉบับที่.. พ.ศ…. วาระสาม โดยมีสาระสำคัญให้ยกเว้นดอกเบี้ยเหลือ 0% ไม่คิดค่าปรับผิดนัดชำระ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน และให้มีผลย้อนหลังผู้กู้ยืมเงินและผู้ค้ำประกันทุกรายว่า ส่วนตัวมองว่าการเห็นชอบวาระดังกล่าวอาจยังไม่เป็นที่สิ้นสุด เพราะยังต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาอีกครั้ง ซึ่งคิดว่าทุกภาคส่วนจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านและให้เกิดความเหมาะสมกับทุกฝ่าย โดยเห็นว่าเมื่อผู้เรียนมีการกู้ยืมเงินเกิดขึ้นแล้ว จะต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งในส่วนของ ศธ. เราต้องปลูกฝังวินัยเรื่องการเงินให้แก่นักเรียน รวมถึงสร้างจิตสำนึกเรื่องความรับผิดชอบให้มากขึ้น

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่อยากแสดงความเห็น เพราะผ่านความเห็นชอบจากสภาไปแล้ว โดยกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ต้องไปทำแผนบริหารเงินกองทุนในอนาคต ตามร่างกฎหมายใหม่ ที่มีความแตกต่างในส่วนดอกเบี้ยและเบี้ยปรับที่จะหายไปทั้งหมด จากเดิมที่จะมีรายได้ส่วนนี้มาเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ปล่อยกู้ต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงคลังจะต้องมีการอุดหนุนงบประมาณเพื่อช่วยเหลือ กยศ.เพิ่มเติมหรือไม่ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะต้องประเมินสภาพคล่องในอนาคต และความต้องการใช้เงิน มีเงินชำระหนี้กลับมาเข้ามามากน้อยแค่ไหน

รมว.การคลังกล่าวว่า ไม่ว่าจะมีดอกเบี้ยหรือไม่มีดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับก็ตาม แต่วินัยทางการเงินยังเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะมีการร่างกฎหมายใหม่ แต่วินัยด้านการเงินของลูกหนี้ กยศ. จะต้องเหมือนเดิม ต้องคืนเงินต้นตามกำหนดชำระ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดกฎหมาย ถ้ากองทุนมีความต้องการใช้เงินมากขึ้น เงินชำระคืนต้องมากขึ้น แต่ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระก็ไม่มีเงินกลับมา สภาพคล่องกองทุนจะไม่มี เพราะถ้ามีดอกเบี้ยจะมีความคล่องตัว

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. เปิดเผยว่า กยศ.เตรียมชี้แจงในชั้นคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนรายละเอียดเบี้ยปรับและการคิดดอกเบี้ย จากเดิมที่เคยเสนอให้ลดเพดาน คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% และเบี้ยปรับไม่เกิน 1% แต่ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ ลดเหลืออัตรา 0% รวมทั้งจะชี้แจงถึงบทบาทของ กยศ. ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ตั้งกองทุน 20 ปี ได้รับเงินงบประมาณอุดหนุน 4 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันไม่ได้รับเงินงบประมาณและเป็นกองทุนหมุนเวียนที่มีความยั่งยืน

ทั้งนี้ จากงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนสามารถปล่อยกู้ให้ได้รับการศึกษากว่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็นลูกหนี้จำนวน 6.2 ล้านราย โดยปิดบัญชีไปแล้ว 1.6 ล้านราย เสียชีวิต 6.7 หมื่นราย อยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่ต้องชำระหนี้ 1 ล้านราย อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ผิดนัดชำระหนี้กว่า 2.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 9 หมื่นล้านบาท อยู่ในชั้นการฟ้องร้องหลายแสนราย ขณะเดียวกันกองทุนสามารถปล่อยกู้รายใหม่ได้ปีละ 4 หมื่นล้านบาท และรับชำระคืนปีละ 3 หมื่นล้านบาท โดยล่าสุดปี 2565 มีการชำระคืนแล้ว 2.7 หมื่นล้านบาท ไม่ได้ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

 “กยศ.คงเอาข้อเท็จจริงทั้งหมดไปชี้แจงคณะกรรมาธิการวุฒิสภาอีกครั้ง และหากมีความเห็นไม่ตรงกับสภาผู้แทนราษฎร ตามกระบวนการก็จะตีกลับกฎหมายไปที่ชั้นสภาผู้แทนฯ และมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมอีกครั้ง ซึ่งประเด็นการยกเว้นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ขณะนี้มีการถกเถียงกันอย่างมาก และมีความเห็นหลายฝ่ายที่ต้องมาพิจารณาให้รอบคอบ” นายชัยณรงค์ระบุ

ส่วนกรณีที่จะต้องมีการคืนดอกเบี้ยและเบี้ยปรับให้กับผู้ที่ชำระไปก่อนหน้านี้นั้น จะต้องพิจารณารายละเอียดตามกฎหมาย ซึ่งยอมรับว่าทำได้ยาก เพราะมีการปล่อยกู้มานาน หากต้องจ่ายดอกเบี้ยคืนจริง จะต้องกู้มาใช้คืน โดยปัจจุบันกองทุนมีรายได้จากดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เฉลี่ยปีละ 6 พันล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนในการบริหารจัดการกองทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆ ประมาณปีละ 2 พันล้านบาท

ผู้จัดการ กยศ.กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้กองทุนอยู่ได้ด้วยเงินทุนหมุนเวียน รุ่นพี่ชำระหนี้คืนตรงเวลา เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้โอกาสกับรุ่นน้อง ซึ่งขณะนี้ยังมีเงินกองทุนอยู่หลายหมื่นล้าน ยังเพียงพอเป็นหลักประกันทางการศึกษาให้กับทุกครอบครัว คิดในแง่ดี กฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ไม่มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ อาจจะกระตุ้นให้ลูกหนี้รีบคืนเงินต้น ซึ่งเงินกองทุนจะเพียงพอหรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่รุ่นพี่จะให้โอกาสรุ่นน้องหรือไม่

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า บางพรรคพยายามสวมรอย พยายามชูเรื่อง กยศ. เสมือนว่าเป็นพรรคที่คิดและทำ ทั้งๆ ที่ความจริงโครงการนี้เกิดขึ้นสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างคนเก่ง คนดี มีคุณภาพ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อประเทศในวันข้างหน้าและก็ประสบความสำเร็จ ประชาชนยังจดจำได้ แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยตกใจที่พรรคอื่นกำลังมาสวมรอย คำตอบประชาชนทราบดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ

เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน

‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’

ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ